ทูตไทย ณ กรุงเฮก เผยแนวทางสู้คดีพระวิหาร ชี้เขมรใช้คำร้องคดีใหม่ ยัน 2 ประเทศไร้ขัดแย้งพื้นที่ ย้ำนำเรื่องที่ถูกศาลปฏิเสธมาแล้วมาตัดสินซ้ำ อ้างที่ทับซ้อนหลังจากขอขึ้นมรดกโลก ยันต้องใช้เจบีซีใต้บันทึก MOU แจงเผยถ้อยแถลง 15 เม.ย. ขออย่าหาว่าไม่สู้ รับแถลงเปิด-ปิดศาลโลกเอง พร้อมถ่ายสดถึง กต. พร้อมจ้อกลับไทยทุกวัน
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนคณะดำเนินการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย แถลงถึงการเตรียมความพร้อมให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีที่กัมพูชายื่นขอตีความคำตัดสินปี 2505 ในระหว่างวันที่ 15-19 เม.ย.นี้ โดยได้สรุปความเป็นมาตั้งแต่เริ่มต้นคดีเมื่อปี 2502 ที่ทางกัมพูชาเป็นฝ่ายยื่นคำร้องต่อศาลโลกในเรื่องสิทธิการครอบครองปราสาทพระวิหาร ตลอดจนการยื่นขอตีความคำตัดสินเดิมเมื่อปี 2554 อีกด้วย
นอกจากนี้ นายวีรชัยยังได้เปิดเผยถึงกรอบแนวทางการต่อสู้คดี 4 ข้อ ได้แก่ 1. การยืนยันว่าคำร้องของฝ่ายกัมพูชาไม่ใช่คำขอตีความคำตัดสินเดิม แต่เป็นคำฟ้องคดีใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้นศาลโลกจึงไม่มีอำนาจตีความ แต่ที่ฝ่ายไทยจำเป็นต้องเข้าให้การในศาลโลกก็เพื่อไม่ให้ศาลโลกฟังความจากกัมพูชาฝ่ายเดียว 2. ที่ผ่านมาฝ่ายไทยและกัมพูชาไม่เคยมีข้อขัดแย้งเรื่องพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณรอบปราสาทประวิหาร ดังนั้นศาลโลกจึงไม่ต้องตีความ
นายวีรชัยกล่าวต่อว่า 3. การชี้ให้ศาลเห็นว่าคำร้องของฝ่ายกัมพูชาเป็นเรื่องเดิมที่ศาลเคยปฏิเสธมาแล้วในการตัดสินเมื่อปี 2505 ทั้งในเรื่องเขตแดนและแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งเป็นเหมือนการอุทธรณ์แฝงมาในรูปของการขอตีความ และ 4.การอ้างสิทธิทับซ้อนบนพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา ไม่มีความเชื่อมโยงกับคดี เพราะเป็นเรื่องที่เกิดใหม่ภายหลังจากการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา ซึ่งควรที่จะใช้ช่องทางดำเนินการภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี พ.ศ. 2543 หรือเอ็มโอยู 2543
ทูตวีรชัยยังได้อธิบายด้วยว่า ในส่วนของรายละเอียดถ้อยแถลง รวมไปถึงเอกสารอ้างอิงนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากทางศาลโลกได้กำชับไว้ เพราะถือเป็นมารยาททางการทูต ซึ่งทั้งหมดจะถูกเปิดเผยในวันที่ 15 เม.ย.นี้ ทั้งของฝ่ายไทยและกัมพูชา โดยจะมีการดำเนินแปลเป็นภาษาไทยออกมาในภายหลัง นอกจากนี้ ในการประชุมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมาก็ได้มีการกำชับให้เพิ่มเติมรายละเอียดการต่อสู้ในบางส่วน ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้เช่นกัน ทั้งนี้จะมีการนำกรอบแนวทางการต่อสู้ในศาลโลกเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอีกครั้งก่อน
“เชื่อมั่นว่าคณะสู้คดีได้ทำอย่างดีที่สุด ละเอียดที่สุดเท่าที่คิดจะทำได้ เมื่อเอกสารต่างๆออกมาพี่น้องประชาชนก็จะเป็นผู้พิจารณาเองว่าเป็นจริงอย่างที่ผมพูดหรือไม่ว่าทำอย่างเต็มที่ด้วยความโปร่งใส เชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณของตัวเองเมื่อได้ฟังได้อ่านได้เห็น ขอเพียงให้ทุกคนได้ฟังและอ่าน ก่อนด่วนตัดสินใจว่าอะไรเป็นอะไร แม้ตอนจบจะมาบอกว่าผมทำไม่ดีไม่เก่งก็ยอมรับได้ แต่อย่ามาบอกว่าเราไม่สู้ เพราะสู้เต็มที่” นายวีรชัยกล่าว
เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก เปิดเผยด้วยว่า ในการให้การทางวาจาต่อศาลศาลโลก ระหว่างวันที่ 15-19 เม.ย.นี้นั้น ตนจะเป็นผู้กล่าวเปิดและปิดการแถลง โดยมีทีมทนาย 4 คนที่จะทำหน้าที่ช่วยในการแถลงระหว่างการให้การ ซึ่งจะใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส โดยทางศาลโลกจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บแคสตลอดการแถลงด้วยวาจาทั้ง 4 วัน จะมีการถ่ายทอดมายังศูนย์ข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมล่ามผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาในการแปล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและถูกต้องของข้อมูล นอกจากนี้ตนจะเป็นผู้สรุปสถานการณ์ของแต่ละวันถ่ายทอดมายังประเทศไทยภายหลังจากขั้นตอนในศาลของทุกวัน ในเวลาประมาณ 23.30 น.ตามเวลาประเทศไทยอีกด้วย เนื่องจากเวลาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์จะช้ากว่าของประเทศไทยประมาณ 5 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกำหนดการให้การทางวาจาต่อศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 15-19 เม.ย.นี้ โดยในวันที่ 15 เม.ย. ผู้แทนฝ่ายกัมพูชาแถลงด้วยวาจา เป็นเวลา 4 ชั่วโมง 30 นาที วันที่ 16 ม.ย.ไม่มีการแถลง จากนั้นในวันที่ 17 เม.ย.ฝ่ายไทยแถลงโต้แย้งด้วยวาจาเป็นเวลา 4 ชั่วโมง 30 นาที และในวันที่ 18 เม.ย. ฝ่ายกัมพูชาแถลงปิดคดีด้วยวาจา 2 ชั่วโมง ก่อนที่ฝ่ายไทยจะแถลงปิดคดีด้วยวาจา 2 ชั่วโมงในวันที่ 19 เม.ย. จากนั้นก็จะนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 6 เดือนเป็นอย่างน้อย