หัวหน้าทีมกฎหมายย้ำจุดยืนไทยมั่นคง ยึดหลักสันปันน้ำ ปราสาทพระวิหารอยู่เขตไทย แต่เมื่อศาลพิพากษาแล้วต้องปฏิบัติตามให้เรื่องยุติ ซัดเขมรกลับกลอก เคยยอมรับเส้นตามมติ ครม.แต่กลับอ้างแผนที่เขียนเอง หวังฮุบ 4.6 ตร.กม. วอนศาลโลกไม่รับคำร้องตีความ
วันที่ 19 เม.ย. เวลาประมาณ 21.30 น. ตามเวลาในไทย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการให้การโดยวาจาต่อศาลโลกในคดีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 ได้ให้การสรุปประเด็นข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยว่า ประเทศไทยมีความคงเส้นคงวามาโดยตลอดว่า เรื่องเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารนั้นอยู่นอกขอบเขตคำพิพากษาของศาลโลกในปี 2505 และเป็นเรื่องที่คู่ความจะไปตกลงกันเอาเอง
นายวีรชัยกล่าวอีกว่า เรื่องอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารนั้น เราก็คงเส้นคงวา โดยอ้างอิงตามเส้นสันปันน้ำมาโดยตลอด แม้กัมพูชาจะอ้างตามแผนที่ภาคผนวก 1 แต่เรายืนยันตามเส้นสันปันน้ำว่า ตัวปราสาทอยู่ในเขตไทย แต่เมื่อศาลพิพากษาแล้ว แม้เราไม่ยอมรับ ก็ต้องปฏิบัติตาม
เราคงเส้นคงว่า เรื่องเส้นอาณาบริเวณตัวปราสาทตามมติ ครม.ปี 2505 ซึ่งการพิจาณาคดีครั้งนี้ไทยได้ยื่นสิ่งนี้ให้ศาลตั้งแต่วันแรก เส้นตามมติ ครม.ก็สอดคล้องตามที่กัมพูชาได้อ้าง ตามภาคผนวก 64 สอดคล้องตามพื้นที่พิพาทครั้งแรกที่คู่ความเข้าใจร่วมกัน
นายวีรชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนิสัยของกัมพูชาที่ชอบแย่งหลักฐานเราไปใช้แล้ว จุดยืนของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2502 (ค.ศ. 1959) คือความไม่คงเส้นคงวา ปี 2502 เขาขอให้ศาลพิพากษาเรื่องบูรณภาพเหนือดินแดนบริเวณตัวปราสาท แต่ในปี 2502 ได้ขอให้พิพากษาเรื่องเขตแดน และความถูกต้องของแผนที่ตามภาคผนวก 1 ซึ่งศาลก็ได้ปฏิเสธ และไม่มีอยู่ในคำพิพากษาปี 2505
นายวีรชัยกล่าวอีกว่า เมื่อเราพูดถึงกัมพูชา เรากำลังพูดถึงสองประเทศ คือ กัมพูชาในอดีต กับกัมพูชาในปัจจุบัน โดยกัมพูชาในอดีตปี 2502 ได้ ยื่นแผนที่ภาคผนวก 1 ให้ศาล แต่ตอนนี้ได้ยื่นอีกฉบับที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ยืนยันว่าฉบับไหนถูกต้อง กัมพูชาวันนี้ได้พึ่งเส้นเทียมเพื่อพิสูจน์ว่าเส้นแบ่งเขตแดนอยู่ที่ใด แต่ในปี 2502 เขาใช้อีกเส้น แล้วตอนนี้ก็แย่งเอกสารที่เราทำในปี 2504 แล้วเอาไปบิดเบือน และเลือกตามอำเภอใจว่า จะใช้เส้นใดกันแน่
ในปี 2505 กัมพูชายอมรับเส้นตามมติ ครม.ของไทย แต่มาภายหลังกลับไม่ยอมรับ ทั้งที่ตอนนั้น ผู้นำสูงสุดของกัมพูชาบอกว่าพื้นที่ไม่กี่เมตรไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้กลับไม่ยอมรับ และจะมาอ้างเอาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร
นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องของกัมพูชาก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ในปี 2554 ได้ขอให้ศาลตีความบทปฏิบัติการตามคำพิพากษาปี 2505 ข้อ 2 แต่มาวันนี้จะให้ตีความข้อ 1 เชื่อมโยงกับข้อ 2 ด้วย
ในปี 2011 กัมพูชาเรียกร้องให้ศาลตีความแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 ทั้งหมด แต่ตอนนี้กลับบอกว่า เรียกร้องให้ตีความเฉพาะพื้นที่พิพาท
กัมพูชาอ้างว่าไทยต้องการแก้ไขความผิดพลาดในอดีต แต่กัมพูชาไม่ใช่หรือ ที่เอาเรื่องนี้ขึ้นศาลโลก
นายวีรชัยกล่าวอีกว่า ความไม่คงเส้นคงวาของกัมพูชาเป็นบทแย้งของความมีเสถียรภาพและข้อยุติ ซึ่งก็คือมิตรภาพของทั้งสองประเทศ บทปฏิบัติการตามคำพิพากษาของศาลโลกในปี 2505 นั้น ต้องการยุติเรื่องนี้ในระยะยาว และมีประการเดียวตามที่ได้ยื่นต่อศาลตั้งแต่ปี 2502 คือเรื่องอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร
แผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 นั้น ศาลไม่ได้ตัดสินว่า มันแทนสนธิสัญญาและไม่ได้บอกว่าเป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่จะบอกว่าเขตแดนอยู่ที่ใด กัมพูชาได้ใช้แผนที่ที่เขียนขึ้นเอง และขีดเส้นเขตแดนตามสันปันน้ำ เป็นแผนที่ที่มีความคลาดเคลื่อน ตอนนี้กัมพูชาก็อ้างแผนที่ตามผนวก 1 ส่วนที่ไม่มีในครั้งแรก และไม่ได้รับการยอมรับ
การกลับลำของกัมพูชา 50 ปีให้หลัง ทำให้เกิดความไม่แน่นอน และเกิดการเสียดสีต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ การตีความใหม่จะเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพและข้อยุติตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 ในส่วนของประเทศไทย เราไม่ขออะไรมากไปกว่าสิ่งที่ศาลได้ตัดสินในปี 2505 เพราะทุกอย่างปฏิบัติและได้ข้อยุติไปตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว แต่กัมพูชากลับมีการปลอมแปลงแผนที่ บิดเบือนข้อเท็จจริง ร้องขอในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย เพื่อให้ศาลรับคำร้องของตัวเอง
ขอให้ศาลตัดสินว่าคำขอของกัมพุชาในการตีความคำพิพากษาปี 2505 ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลและศาลไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา หรือคำร้องไม่มีมูลไม่มีเหตุผลที่จะต้องตีความคำพิพากษา 2505 เพราะไม่ได้มีการกำหนดเส้นเขตแดนที่ผูกพันไทยและกัมพูชา