โฆษก กต.สรุปสาระสำคัญของการให้การของฝ่ายไทยคดีพระวิหารวานนี้ ชี้ศาลโลกไม่มีอำนาจตีความคำพิพากษา ปี 2505 และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิพาทใหม่ที่เกี่ยวกับเขตแดน อีกทั้งกัมพูชาอุทธรณ์ให้ศาลตัดสินว่าเส้นเขตแดนต้องเป็นไปตาม “แผนที่ภาคผนวก 1”
วันนี้ (18 เม.ย.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และนายไกรรวี ศิริกุล รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้แถลงข่าวสรุปประเด็นสำคัญของการให้การทางวาจาของฝ่ายไทย ในกรณีคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันกำหนดการให้การทางวาจารอบแรกของฝ่ายไทย โดยมี นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนประเทศไทย และคณะที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติของฝ่ายไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์ อแลง แปลเลต์ ศาสตราจารย์ เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ศาสตราจารย์ โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ และ อลินา มิรอง กล่าวถ้อยแถลงต่อศาล ย้ำท่าทีของฝ่ายไทยและหักล้างคำให้การทางวาจาของฝ่ายกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 เม.ย.โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ศาลไม่มีอำนาจตีความคำพิพากษา ปี 2505 ด้วยเหตุผลว่า ไทยและกัมพูชาไม่ได้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของของคำพิพากษา โดยไทยได้ปฏิบัติตามอย่างครบถ้วน และกัมพูชาได้ยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วในหลายโอกาส
2. ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิพาทใหม่ที่เกี่ยวกับเขตแดน และคำขอของกัมพูชาไม่ใช่การขอตีความคำพิพากษา แต่เป็นการอุทธรณ์ให้ศาลตัดสินว่าเส้นเขตแดนต้องเป็นไปตาม “แผนที่ภาคผนวก 1” ซึ่งศาลได้ปฏิเสธที่จะตัดสินอย่างชัดแจ้งแล้วในคำพิพากษา
รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้กล่าวเสริมโดยยกตัวอย่างข้อมูลหลักฐานที่ทีมต่อสู้คดีของไทยได้หยิบยกในการให้การทางวาจา เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของไทยข้างต้น เช่น ไทยได้ล้อมรั้วลวดหนามขอบเขตบริเวณใกล้เคียงตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งกัมพูชาเคยยอมรับแล้วว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาปี 2505 อย่างครบถ้วน โดยฝ่ายไทยเชื่อมั่นว่าข้อมูลหลักฐานดังกล่าวมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ทนายความฝ่ายไทยได้ยกข้อมูลชี้แจงต่อศาลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000
ในวันนี้ ฝ่ายกัมพูชาจะนำเสนอข้อต่อสู้อีกหนึ่งรอบ เวลา 20.00-22.00 น.(เวลากรุงเทพฯ) และฝ่ายไทยจะมีโอกาสชี้แจงต่อประเด็นเหล่านี้อีกครั้งในวันศุกร์ที่ 19 เม.ย. เวลา 20.00-22.00 น.ซึ่งจะถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 สถานีวิทยุ FM 92.5 MHz / AM 891 KHz / AM 1575 KHz / FM 88 MHz และทางเว็บไซต์ www.phraviharn.org นอกจากนี้ คณะผู้แทนได้ให้สัมภาษณ์สรุปประเด็นสำคัญในแต่ละวันแก่สื่อมวลชน ซึ่งนอกจากจะรับชม/รับฟังได้จากรายงานข่าวในโทรทัศน์และวิทยุแล้ว ยังสามารถรับฟังย้อนหลังในเว็บไซต์ข้างต้นได้ด้วย