xs
xsm
sm
md
lg

“สุวันชัย” แนะทีเด็ด ย้ำคำพิพากษาปี 05 จำกัดเฉพาะตัวปราสาท เขมรหมดสิทธิ์ให้ตีความแผนที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง
“ดร.สุวันชัย” ส่งอีเมลด่วนถึง “ทูตวีรชัย” แนะข้อต่อสู้สำคัญ ตอกย้ำคำพิพากษาคดีพระวิหารปี 05 จำกัดเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณตัวปราสาท กัมพูชาขอให้ตีความเรื่องเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 จึงเกินขอบเขตของคดีและคำพิพากษาเดิม ไม่สามารถกระทำได้

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ได้ส่งอีเมลถึงนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 เพื่อนำเสนอข้อต่อสู้สำคัญของไทยที่ควรมีเพิ่มเติม หลังจากที่ฝ่ายกัมพูชาได้ให้การด้วยวาจาเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ไปแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้

ไทยควรเพิ่มเติมข้อต่อสู้สำคัญกรณีการขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารในประเด็นที่ว่า “ข้อพิพาทที่เสนอต่อศาลในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลมีคำพิพากษาในปี 2505 ถูกจำกัดอยู่ที่เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องเขตแดนในบริเวณทั่วไป การที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเพื่อให้เส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 จึงเป็นคำขอที่เกินขอบเขตของคดีเดิมรวมทั้งคำพิพากษาเดิมด้วย ซึ่งไม่สามารถกระทำได้” โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.คำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 ในตอนเริ่มต้น ศาลได้อ้างถึงคำพิพากษาในวันที่ 6 ต.ค.2502 กรณีการคัดค้านอานาจศาล (Preliminary Objection to the Jurisdiction) ของไทย รวมทั้งมีความเห็นตามมาดังนี้

“ในคำพิพากษาลงวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1961 ซึ่งยืนยันว่าศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทที่ได้เสนอต่อศาลโดยคำร้องเริ่มคดีของรัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1959 ศาลได้บรรยายประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ในคดีปัจจุบัน ประเทศกัมพูชากล่าวหาว่าประเทศไทยได้ละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศกัมพูชาในเขต (ภาษาอังกฤษใช้คาว่า region ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า région) ปราสาทพระวิหารและบริเวณ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า precincts ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า environs) ประเทศไทยได้ตอบแก้โดยยืนยันว่า ดินแดนที่เป็นปัญหานั้นอยู่ในด้านไทยของเขตแดนร่วมระหว่างประเทศทั้งสอง และอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย เรื่องนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน”

ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทที่เสนอต่อศาลจึงมีวงจำกัดอยู่ที่ความแตกต่างกันในความเห็นเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า region ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า région) ปราสาทพระวิหาร เพื่อที่จะชี้ขาดปัญหาอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ศาลจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงเส้นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองในตอนนี้ . . . .”


จะเห็นว่าในคำพิพากษาลงวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1961 ได้กล่าวถึง “บริเวณ” โดยใช้คำภาษาอังกฤษว่า “precincts” ซึ่งหมายถึง “พื้นที่ที่ถูกล้อมรอบโดยขอบเขตที่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำแพงวิหาร โบสถ์ หรือวิทยาลัย (area enclosed by definite boundaries, esp the walls of cathedral, church or college)” ไม่ได้ใช้คาว่า “vicinity” หรือบริเวณใกล้เคียงอย่างในคำพิพากษาส่วนข้อบทปฏิบัติการเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 ถึงแม้ในภาษาฝรั่งเศสได้ใช้คำว่า “environs” เหมือนกันในคำพิพากษาทั้งสองดังกล่าว แต่ในคำพิพากษาของคดีทั้งสองได้กำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก

การใช้คำภาษาอังกฤษว่า “precincts” จึงมีนัยสำคัญในคดีนี้ เนื่องจากหมายถึงบริเวณที่เป็นขอบเขตของปราสาทพระวิหารเท่านั้น อย่างเช่น โบสถ์ก็จะมีบริเวณขอบเขตสิ้นสุดที่กำแพงล้อมรอบโบสถ์นั้น อีกทั้งศาลได้สรุปว่าประเด็นข้อพิพาทที่เสนอต่อศาลมีวงจำกัดอยู่ที่ความแตกต่างกันในความเห็นเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหารดังกล่าวข้างต้นแล้ว

ดังนั้นข้อพิพาทที่เสนอต่อศาลในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลมีคำพิพากษาในปี 2505 ได้ถูกจำกัดอยู่ที่เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น ซึ่งถึงแม้ศาลได้พิจารณาแผนที่ภาคผนวก 1 ก็เป็นเพียงแต่เหตุผลประกอบการตัดสิน ศาลจึงได้ปฏิเสธที่จะมีคำพิพากษาในเรื่องสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ตามที่กัมพูชาร้องขอให้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เพราะขอบเขตของคดีถูกจำกัดอยู่ที่เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น อันเป็นการชัดเจนต่อข้อสงสัยที่ว่าทำไมศาลจึงได้ปฏิเสธที่จะมีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าว

การที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเพื่อให้เส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 จึงเป็นคำขอที่เกินขอบเขตของคดีเดิมรวมทั้งคำพิพากษาเดิมด้วย ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ เพราะการตีความคำพิพากษาเกินขอบเขตของคดีเดิมและคำพิพากษาเดิมเท่ากับเป็นการพิจารณาคดีใหม่

2. คำร้องของกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 คำร้องของกัมพูชาในประเด็นที่ว่าไทยมีพันธกรณีต้องถอนทหารในบริเวณปราสาทพระวิหารนั้น ตั้งแต่เริ่มฟ้องคดีต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 จนถึงแถลงสรุปสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2505 กัมพูชามีคำร้องในประเด็นนี้เหมือนเดิมมาตลอดโดยขอให้ศาล“พิพากษาและชี้ขาดว่า ราชอาณาจักรไทยมีพันธกรณีที่จะต้องถอนหน่วยทหารที่ได้ส่งไปตั้งประจำ ณ บริเวณสิ่งหักพัง (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ruins ภาษาฝรั่งเศสใช้คาว่า ruines) ของปราสาทพระวิหารภายในดินแดนกัมพูชาตั้งแต่ ค.ศ. 1954”

จะเห็นว่าคำร้องของกัมพูชานั้น ขอให้ไทยมีพันธกรณีที่จะต้องถอนหน่วยทหารเพียงในพื้นที่ซึ่งจำกัดอยู่ที่บริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหารเท่านั้น โดยหลักกฎหมายแล้วศาลไม่อาจตัดสินเกินคำร้อง ดังนั้นศาลจึงต้องมีคำพิพากษาเฉพาะบริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหารดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 ว่า ข้อพิพาทที่เสนอต่อศาลในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลมีคำพิพากษาในปี 2505 ได้ถูกจำกัดอยู่ที่เรื่องอานาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น