“อแลง แปลเลต์”ย้ำบทปฏิบัติการตามคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ชัดเจนทุกประการ ไทยได้ถอนทหารออกจากตัวปราสาทตามคำสั่งแล้ว คำร้องของกัมพูชาให้ตีความใหม่จึงไม่สมเหตุสมผล ตอกกลับเขมรไม่เคยปฏิเสธการล้อมรั้ว แถมเคยร่วมมือกับไทยดึงนักท่องเที่ยวขึ้นชมปราสาท
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ทีมทนายความฝ่ายไทย ให้การโดยวาจาต่อศาลโลก ในคดีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิทหาร
เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 19 เม.ย. ตามเวลาในประเทศไทย ศ.อแลง แปลเลต์ ทนายความฝ่ายไทย ได้เริ่มให้การโดยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) เป็นรอบสุดท้าย ในคดีการตีความคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 โดยตัวแทนฝ่ายไทยยืนยันว่า คำพิพากษาในปี 2505 ที่ออกมาเป็นบืปฏิบัติการ 3 ข้อนั้น ทั้งสองฝ่ายได้เห็นตรงกันแล้ว ปัญหาที่ตามมาจึงเป็นเรื่องของการนำบทปฏิบัติการมาประยุกต์ใช้เท่านั้น
ศ.แปลเลต์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คำแถลงของฝ่ายกัมพูชาเมื่อวานนี้(18 เม.ย.) มีการเสนอประเด็นใหม่ คือพยายามให้ตีความไปถึงเหตุผลของที่ทำให้มาซึ่งบทปฏิบัติการ เป็นการแถลงที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีปัญหา ไม่เข้าใจกัน และไม่รู้ว่าความหมายที่แฝงมาคืออะไร กัมพูชาพยายามกล่าวอ้างว่าคำตัดสินเมื่อปี 2505 ได้ผูกพันไปถึงเรื่องเขตแดน และมีข้อกังขาเรื่องการถอนทหารของไทยออกจากปราสาทพระวิหารว่าต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งที่เราได้ถอนออกมาแล้ว มันไม่สามารถถอนได้อีก เพราะเราไม่ได้นำกำลังกลับเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นพันธกรณีเรื่องการถอนกำลัง ไม่มีปัญหาแล้ว
ส่วนการล้อมรั้วตามมติ ครม.ไทยหลังปี 1962 หลังจากมีคำพิพากษา ประมุขสูงสุดของกัมพูชาก็เคยบอกว่า อยู่ห่างออกมา 2-3 เมตร ไม่มีความสำคัญ ส่วนปี 1966 ที่กัมพูชาอ้างก็ไม่มีการประท้วง หลังจากนั้นก็มีความร่วมมือต่อกันมาเป็นระยะๆ เพื่อให้มีการเข้าถึงตัวปราสาทจากทางฝั่งไทย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรให้ตีความอีก
ศ.แปลเลต์ ยังกล่าวอีกว่า การตีความคำพิพากษาตามธรรมนูญศาลโลก มาตรา 60 นั้น ก็ต่อเมื่อมีกรณีที่ความหมายของบทปฏิบัติการมีความกำกวม แต่ในความเป็นจริง มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมันชัดเจนในตัวของมันอยู่แล้วว่า ดินแดนของกัมพูชาก็คือดินแดนของกัมพูชา สามารถใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนได้ เราไม่เคยโต้แย้ง ส่วนเรื่องเขตแดนศาลไม่ได้ตัดสินว่าอยู่ตรงไหน เพราะว่าคำร้องแต่แรกนั้น ต้องการให้พิพากษาว่าตัวปราสาทอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ซึ่งศาลก็ได้พิพากษาแล้วและทุกฝ่ายก็ยอมรับ ส่วนเรื่องเส้นเขตแดนที่กัมพูชายื่นคำขอใหม่นั้น ศาลได้ปฏิเสธที่จะพิจารณา มันชัดเจนอยู่แล้ว
ดังนั้น การตีความคำพิพากษาใหม่จึงไม่สมเหตุสมผลเลย คำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ตีความคำพิพากษาใหม่ จึงไม่เป็นสิ่งที่ศาลควรจะรับฟัง และศาลควรจะปฏิเสธที่จะรับพิจารณา