xs
xsm
sm
md
lg

ทนายกัมพูชา ลั่นศาลโลกมีอำนาจตีความคดีเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทนายความกัมพูชา ซัดไทยล้อมรั้วตามมติครม.ปี 2505 เป็นการตีความไปฝ่ายเดียว ขัดแย้งคำพิพากษา ย้ำศาลโลกมีอำนาจรับตีความคำตัดสินเดิมตามธรรมนูญศาลข้อที่ 60

วันนี้ (15 เม.ย.) องค์คณะผู้พิพากษาแห่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ขึ้นนั่งบัลลังก์รับฟังการให้การด้วยวาจา คดีตีความคำพิพากษา คดีปราสาทพระวิหาร ของฝ่ายกัมพูชา โดยรอบแรกนั้น นายฌอง มาร์ค ซอเรล ทนายความฝ่ายกัมพูชา ชาวฝรั่งเศส ได้ขึ้นให้การว่า แผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ระวางดงรัก ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง โดยเส้นเขตแดนจะต้องยึดตามแผนที่แนบท้าย ไม่ใช่ตีความเลื่อนลอยตามที่ไทยอ้าง

ด้านนาย เซอร์แฟรงคลิน เบอร์แมน ทนายความชาวอังกฤษ ของประเทศกัมพูชา ให้การโดยหยิบยกหลักฐานของฝ่ายไทยที่เป็นมติคณะรัฐมนตรี(มติ ครม.) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 หลังศาลโลกมีคำพิพากษาแล้ว โดยใช้แผนที่อัตราส่วน 1: 50,000 ยึดสันปันน้ำ และให้มีการล้อมรั้วรอบบริเวณปราสาท ซึ่งเป็นการตีความฝ่ายเดียวของไทย ไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาล

ส่วนที่ไทยอ้างว่าคำร้องของกัมพูชานั้นศาลไม่สามารถรับตีความได้ เพราะคำพิพากษาเดิมสิ้นสุดไปแล้ว แต่ขอยืนยันว่าทางกัมพูชาขอยื่นให้ศาลตีความในคำพิพากษาเดิม ไม่ได้นอกเหนือจากอำนาจศาลในการพิจารณา และเป็นไปตามธรรมนูญศาลข้อที่ 60

จากนั้น นายร็อดแมน บุนดี ทนายความของกัมพูชา ชาวอเมริกัน ให้การเพิ่มเติมว่า ทางกัมพูชาได้แสดงท่าทีคัดค้านการสร้างรั้วลวดหนามของรัฐบาลไทยแล้ว โดยเมื่อสมเด็จนโรดม สีหนุ เสด็จฯเยือนปราสาทพระวิหารในปี 2506 ทรงไม่เห็นด้วยที่ไทยปักรั้วลวดหนาม และรมว.ต่างประเทศของกัมพูชาได้ส่งหนังสือประท้วงไปยังเลขาธิการสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในปี 2509 ด้วย

สำหรับการให้การด้วยวาจารอบ 2 นายฌอง มาร์ค ซอเวล ทนายความชาวฝรั่งเศส ฝ่ายกัมพูชา กล่าวย้ำถึงสาเหตุระหว่าง “หลักเหตุผล” กับ “ข้อบทปฏิบัติการ” ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แม้คำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 มีลักษณะไม่ชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาควบคู่กับเหตุผลที่ศาลเคยใช้ สามารถเข้าใจได้ว่าไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แต่ไทยพยายามเบี่ยงเบนให้แยกออกจากกัน ส่งผลให้เป็นคดีใหม่และไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก

อย่างไรก็ดี ศาลจะต้องพิจารณาแผนที่ภาคผนวก 1 เพราะเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา จึงถือเป็นสนธิสัญญา และสิ่งที่กัมพูชาต้องการ คือ ความเชื่อมโยงของข้อบทปฏิบัติการในระดับโลก แต่ไทยต้องการที่จะลดทอนความเชื่อมโยงวรรคต่างๆในข้อปฏิบัติการ

การที่ไทยล้อมรั้วกำหนดเขตแดนโดยไม่ปรึกษากัมพูชา และยังกำหนดเขตแดนในลักษณะที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาในปี 2505 ถามว่า ประเทศหนึ่งจะมีอำนาจในการตัดสินเขตแดนแต่เพียงฝ่ายเดียวได้อย่างไร ซึ่งศาลโลกเคยระบุแล้วว่าไม่ว่าเส้นเขตแดนอยู่บนเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ศาลจึงมีพันธกรณีที่ต้องพิจารณาตีความตามแผนที่ภาคผนวก 1 และวันนี้คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาเถียงกันเรื่องสันปันน้ำ เพราะศาลได้ตัดสินไปแล้ว ทั้งนี้การที่ศาลให้ไทยถอนกองกำลังออกจากพื้นที่ สอดคล้องกับแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งศาลยอมรับว่าเป็นเขตแดน ดังนั้นหากยังไม่พิจารณาแผนที่ดังกล่าว คงไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าไทยจะต้องเคลื่อนย้ายกองกำลังไปที่ไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น