“อแลง แปลเล่ต์” แถลงย้ำไม่มีข้อขัดแย้งในข้อบทปฏิบัติการ ศาลไม่ได้กำหนดเรื่องเขตแดน จนเกิดเอ็มโอยู 43 ให้คู่ความปฏิบัติร่วมกัน ชี้เขมรขอตีความเกินขอบเขตคำตัดสินเดิม เปรยไม่ยอมรับอำนาจหากศาลรับตีความย่อมขัดธรรมนูญศาลข้อ 60
วันนี้ (17เม.ย.) ศาสตราจารย์อแลง แปลเล่ต์ (Professor Alain Pellet) ทนายความชาวฝรั่งเศส กล่าวสรุปการแถลงด้วยวาจา ว่า กัมพูชาอยากให้ศาลโลกตีความพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลในคำพิพากษา เพื่อต้องการที่จะผนวกเป็นข้อบทปฏิบัติการยื่นขอจดทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลก ทั้งที่ศาลในขณะนั้นปฏิเสธที่จะทำ กัมพูชาจึงได้มีการเสนอให้ศาลตีความใหม่ ส่วนที่กัมพูชาอ้างว่า คำพิพากษากำกวมต้องตีความใหม่นั้น แท้จริงแล้วไม่มีข้อพิพาทจากข้อบทปฏิบัติการตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 เพราะศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน
ย้ำว่ากัมพูชายอมรับการปฏิบัติของไทย หลังจากที่ไทยยอมรับอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำพิพากษา แต่ก็ยังทำตามพันธกรณีตามกฎบัตรสหประชาชาติ ดังนั้น ทุกอย่างจึงมีความชัดเจนไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องตีความอีก กัมพูชาพยายามทำให้เรื่องที่กระจ่างอยู่แล้วกลายเป็นความกำกวม เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่ใด ดังนั้น คำร้องของกัมพูชาจึงไม่มีมูลที่ศาลจะรับไว้พิจารณา
คำพิพากษาปี 2505 ชัดเจนแล้ว ไทยปฏิบัติตามครบถ้วนแล้ว ไม่มีข้อพิพาทใดๆ ตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง เพราะสมเด็จนโรดม สีหนุ ก็แสดงความพอใจการล้อมรั้วลวดหนามตามมติ ครม. ปี 2505 ของไทย การที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความใหม่จึงไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการพยายามร้องขอให้ศาลตัดสินเกินขอบเขตจากคำพิพากษาเดิม หากศาลพิจารณาเรื่องนี้จะเป็นการขัดแย้งกับคำพิพากษาเดิม ซึ่งตัดสินเฉพาะอธิปไตยเหนือปราสาทไม่ใช่เรื่องเขตแดน
ย้ำว่าไม่มีข้อขัดแย้งในข้อบทปฏิบัติการ แต่กัมพูชาพยายามที่จะอ้างข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนที่ไม่เกี่ยวกับคำตัดสินปี 2505 ที่ศาลปฏิเสธอย่างชัดแจ้งจะไม่ตัดสินเรื่องเขตแดน และไม่ได้รับรองสถานะเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 ว่าเป็นเส้นเขตแดน เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาระหว่างคู่ความทั้ง 2 ประเทศ
รายละเอียดในคำพิพากษาข้อ 60 ธรรมนูญศาลต้องตีความคำพิพากษาเพื่ออธิบายให้ชัดเจนเรื่องความหมาย และขอบเขตของสิ่งที่ศาลตัดสินและมีผลผูกพันกับคู่ความทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ใช่หาคำตอบในสิ่งที่ศาลไม่ได้ตัดสิน ดังนั้น เมื่อบทปฏิบัติการมีความชัดเจนแล้วก็ไม่สามารถตีความเหตุผลโดยนำมาโยงกับข้อบทปฏิบัติการอย่างที่กัมพูชาร้องขอได้ เพราะไม่มีข้อบทปฏิบัติการใดที่จะต้องตีความอีก เนื่องจากคู่ความไม่มีความเห็นแย้ง
แผนที่ภาคผนวก 1 ชี้แค่ว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และข้อบทปฏิบัติการไม่ได้มีการพูดถึงแผนที่ หรือเส้นเขตแดนใดๆ จึงไม่สามารถนำขึ้นสู่ศาลให้ตีความได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ 2 ประเทศทำเอ็มโอยู 43 เพื่อจัดทำหลักเขตแดนร่วมกันโดยไม่อ้างถึงคำตัดสินของศาลแต่อย่างใด เนื่องจากศาลไม่ได้กำหนดเรื่องเขตแดนไว้ การที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความใหม่จึงรับฟังไม่ได้ เพราะกัมพูชาไม่สามารถขอให้ศาลตีความในสิ่งที่ศาลปฏิเสธที่จะตัดสินเมื่อ 51 ปีที่แล้วได้
ความขัดแย้งระหว่างประเทศบางเรื่องไม่สามารถยุติได้ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย แต่สามารถประนอมความขัดแย้งได้โดยสันติ เพราะประเทศไทยไม่ยอมที่จะให้ศาลกำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาไม่ว่าจะบริเวณปราสาทพระวิหาร หรือที่อื่นใด เพราะหลักการรับขอบเขตอำนาจศาลนั้นกำหนดไว้ว่าไม่สามารถทำได้โดยการขอให้ตีความ
จากนั้น นายอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ ผู้พิพากษา ได้ตั้งประเด็นคำถามไปยังคู่ความทั้ง 2 ประเทศ ว่า ขอให้พิกัดทางภูมิศาสตร์ หรือชี้แผนที่บริเวณที่เป็นดินแดนที่คู่ความแต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นบริเวณของปราสาทพระวิหาร บนดินแดนของกัมพูชาในวรรคที่สองของหมวดปฏิบัติการ ที่ศาลได้พิพากษาไว้ในในปี 1962 โดยขอให้ชี้ในแผนที่ที่ได้มีการยื่นต่อศาลไว้แล้ว
ต่อมา นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลได้กล่าวว่า ในคำถามของนายอับดุลคาวิ ขอให้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ตอบเป็นลายลักษณ์อักษร และขอให้ยื่นต่อศาล ภายในวันที่ 26 เม.ย. เวล 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และขอให้ยื่นข้อโต้แย้งในเรื่องแผนที่ของแต่ละฝ่าย ภายในวันที่ 3 พ.ค. เวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ทั้งนี้ ศาลจะนั่งพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 18 เม.ย. เวลา 15.00-17.00 น. โดยเป็นส่วนของกัมพูชา
ส่วนของประเทศไทยจะตอบด้วยวาจา ในวันที่ 19 เม.ย. เวลา 15.00-17.00 น. โดยจะเป็นการนำเสนอเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งคู่ความแต่ละฝ่ายจะมีเวลาฝ่ายละ 2 ชั่วโมง โดยขอให้การเสนอด้วยวาจารอบสุดท้ายนั้นกระชับ และไม่ซ้ำกับประเด็นที่เคยได้ให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ คู่ความแต่ละฝ่ายไม่จำเป็นต้องใช้เวลาทั้งหมดที่กำหนดให้ จากนั้นได้เสร็จสิ้นการพิจารณา เมื่อเวลา 21.30 น. ตามเวลาประเทศไทย มันมีประเด็นที่ว่า ผู้พิพากษาศาลโลกขอพิกัดทางภูมิศาสตร์ หรือชี้แผนที่บริเวณที่เป็นดินแดนที่คู่ความแต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นบริเวณของปราสาทพระวิหาร