ประธานวิปฝ่ายค้านย้ำไม่อภิปรายช่วง “นิคม” ทำหน้าที่ประธาน ชี้ไม่ชอบด้วย รธน.และประมวลจริยธรรม ระบุที่อ้างว่าเป็นสิทธิในการเสนอแก้ รธน.แค่ข้อแก้ตัว ห่วงนำวุฒิสภากลับเข้าสู่ยุคสภาทาสอีกครั้ง แนะถอนชื่อฝ่ายค้านพร้อมหนุน ย้ำรัฐบาลดันรื้อ รธน.มีผลประโยชน์ทับซ้อน มุ่งกินรวมประเทศไทย ด้าน “นิคม” ตอกฝ่ายค้านให้แยกแยะหน้าที่ ท้าหากต้องการให้ถอนชื่อต้องเสนอญัตติเข้าที่ประชุม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงข้อตกลงเรื่องเวลาในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ว่ายังไม่ได้ข้อยุติ แต่เห็นว่าฝ่ายค้านไม่ควรได้เวลาน้อยกว่ารัฐบาล โดยควรได้ 15 ชั่วโมงเท่ากัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วก็อยู่บนข้อตกลงนี้คือได้เวลาเท่ากัน แต่วิปรัฐบาลขอเวลาไปหารือก่อน ซึ่งตนก็กำลังรอคำตอบอยู่ ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้กลายเป็นปัญหาโดยไม่จำเป็น หากตนเป็นวิปรัฐบาลคงอยากเห็นทุกอย่างราบรื่นมากกว่า ไม่ควรมีลักษณะเกี่ยงงอนในเรื่องที่เกินความจำเป็น แต่ยังหวังว่าวิปรัฐบาลจะคล้อยตามในสิ่งที่ตนได้เสนอไป
ส่วนบรรยากาศการประชุมรัฐสภาวันนี้จะเกิดปัญหาในระหว่างการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เหมือนที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายนหรือไม่นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ฝ่ายค้านยืนจุดเดิมคือถ้านายนิคมขึ้นทำหน้าที่จะสงวนสิทธิไม่อภิปรายแต่จะอภิปรายในช่วงที่นายสมศักดิ์ทำหน้าที่แทน ด้วยเหตุผลว่าคนที่จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางไม่มีปัญหาเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่นายนิคมขาดคุณสมบัติ 2 ข้อ คือ เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง และขอใช้สิทธิขึ้นมาทำหน้าที่เป็นกรรมการคือเป็นประธานในที่ประชุมด้วย เราจึงเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และประมวลจริยธรรม ถือว่าขาดความชอบธรรม จึงแนะนำว่าหากจะทำหน้าที่ประธานก็ควรถอนตัวจากการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ โดยสามารถเสนอญัตติขอถอนชื่อเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ ซึ่งยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะให้การสนับสนุนการถอนชื่อดังกล่าวเพื่อให้นายนิคมทำหน้าที่ประธานได้อย่างชอบธรรม ราบรื่นและไม่มีปัญหา เพราะจะทำให้เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไม่เป็นประเด็นอีก
“การที่นายนิคมอ้างว่าเป็นสิทธิในฐานะวุฒิสภาที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั้น เป็นเพียงแค่คำแก้ตัวแต่ฟังไม่ขึ้น เพราะแนวปฏิบัติที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นผู้ทำหน้าที่ประธานจะเป็นผู้เสนอกฎหมายด้วย แม้แต่การลงมติหากตรวจสอบดูจะเห็นว่าถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่มีการลงมติ และการทำหน้าที่ประธานก็มีประมวลจริยธรรม และรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำกับอยู่แล้ว”
นายจุรินทร์ยอมรับว่ามีความกังวลว่าพฤติกรรมของนายนิคมทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันวุฒิสภา และกำลังนำวุฒิสภากลับไปสู่ยุคสภาทาสอีกครั้ง ซึ่งฉายาสภาทาสเป็นความเห็นของสื่อมวลชนที่วิจารณ์การทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น จึงอยากให้นายนิคมได้ทบทวนเพราะหากดำเนินการเช่นนี้ต่อไปก็ขาดความสง่างาม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะยังสามารถใช้ดุลพินิจแก้ปัญหาได้
สำหรับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า จะชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างว่ามีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนในทุกมาตรา และในที่สุดจะนำไปสู่การกินรวบประเทศไทย
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ยืนยันจะทำหน้าที่ประธานการประชุมต่อไป และอยากให้ฝ่ายค้านแยกแยะการทำหน้าที่ เพราะการลงชื่อสนับนุนการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมาตรา237 เป็นเพราะต้องการแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ใช่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของพรรคพวก และไม่ได้เป็นไปตามการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านให้ถอนชื่อการสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 36 ระบุว่าต้องมีผู้เสนอญัตติให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาให้ตนถอนชื่อ และต้องใช้มติจากที่ประชุมตัดสิน ส่วนประเด็นที่ว่าใครจะเป็นผู้เสนอญัตตินั้นต้องไปศึกษาอีกครั้ง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุความวุ่นวายในสภา ตนได้หารือกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นวิปรัฐสภาอยู่ด้วยว่า ตนอยากให้ความร่วมมือกับฝ่ายค้านในการรักษาความสงบ แต่การถอนชื่อต้องเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมพิจารณา จะให้ตนถอนชื่อเองไม่สามารถทำได้ เพราะตามข้อบังคับการประชุม เมื่อเรื่องใดบรรจุอยู่ในระเบียบวาระ การจะถอนชื่อนั้นต้องใช้มติจากที่ประชุม
อย่างไรก็ตาม นายนิคมปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประจำรัฐสภา ทั้งที่มีการตั้งกล้องรอสัมภาษณ์อยู่จำนวนมาก ทั้งนี้นายนิคมได้ตอบคำถามเพียงสั้นๆ ว่า ใครอยากให้ตนถอนชื่อจากการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็ให้ไปยื่นญัตติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเอาเอง จากนั้นนายนิคมได้เดินเข้าห้องประชุมรัฐสภา และนั่งบัลลังก์ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาทันที