ปชป.เอือม “นิคม” ยังดื้อทำหน้าที่ประธานการประชุม เหน็บทำโชว์ “นช.แม้ว” พร้อมประท้วงไม่อภิปรายช่วงขึ้นนั่งบัลลังก์ ขณะที่ ส.ส.แดงโดดป้องไล่ ปชป.กลับไปดูพฤติกรรม ส.ส.ตัวเอง “นิคม” อ้างลงชื่อแก้ ม.190 และ 237 เหตุการเมืองอ่อนแอ ต้องปิดจุดอ่อน ไม่สนเสียงท้วงติงเดินหน้าทำหน้าที่ต่อ ปล่อยฝ่ายค้านอภิปรายช่วง “ค้อนปลอม” ด้าน “รสนา” ค้านแก้ รธน.ตัดสิทธิ ปชช. เพิ่มอำนาจผูกขาดให้ฝ่ายบริหาร เสนอตั้งองค์กรวิชาชีพเฟ้นหาบุคคลให้ ปชช.เลือกแกปัญหา ส.ว.ลากตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (2 เม.ย.) ยังคงมีการประชุมร่วมรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช …. วันที่ 2 โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ หารือว่า เมื่อคืน (1 เม.ย.) ที่ผ่านมา นายนิคมกลับไปนอนคิดได้หรือยังที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ประท้วงว่าตัวท่านไม่เหมาะสมในการทำหน้าที่ ตนเป็น ส.ส.มา 20 ปี ไม่เคยมีอย่างนี้ อยากให้ประธานได้ไตร่ตรอง เพราะนี่เป็นการแก้กฎหมายประวัติศาสตร์ และการกระทำของท่านประธานก็เป็นวัติศาสตร์ อีกทั้งตามประเพณีและมารยาทก็ไม่มีใครเขาทำเช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประธานสภาฯ ก็ไม่ลงมติ หรือท่านจะยอมใช้เสียงข้างมากลากไป
นายนิคมชี้แจงว่า เมื่ออยากให้เป็นประวัติศาสตร์ ตนก็จะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน และใช้เอกสิทธิ์ในการเสนอกฎหมาย และขอยืนยันว่าตนไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 และ 237 ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนให้กับพรรคการเมืองและฝ่ายบริหารทำงานลำบาก
“ผมขอยืนยันว่าผมทำหน้าที่ประธานที่ประชุมมา 5 ปีกว่า เห็นการเมืองอ่อนแอ และ 2 มาตรานั้นถือว่าเป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และรัฐธรรมนูญรวมทั้งข้อบังคับการประชุม ก็ไม่มีข้อห้ามให้ผู้เสนอชื่อในกฎหมายห้ามปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ในเวลาลงมติรับหลักการวาระแรกผมจะของดออกเสียง”
จากนั้นนายวิรัชกล่าวอีกว่า สิ่งที่นายนิคมทำรู้อยู่แล้วไม่ได้ผิดหลัก เพราะรอบกายนายนิคมเป็นนิติกรทั้งนั้น แต่ที่ทำนั้นเพื่อให้คนในต่างประเทศได้เห็นใช่หรือไม่ ทำให้นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า ตนขอแก้ต่างให้นายนิคม การที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่าประธานไม่มีมารยาทนั้นไม่เป็นความจริง จึงอยากให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับไปดูพฤติกรรมของพรรคตัวเอง อาทิ ลากเก้าอี้ประธาน ปาแฟ้ม ตะโกนด่า ดังนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่หยุดเล่นเกม ตนก็จะลุกขึ้นประท้วงไปเรื่อยๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ ส.ส.ฝ่ายค้านจะต่อต้านการทำหน้าที่ประธานของนายนิคมอย่างหนัก แต่นายนิคมก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ประธานการประชุมต่อไป โดยชี้แจงว่านี้ตนจะขึ้นเป็นประธาน 2 รอบ รอบละ 3 ชั่วโมง ถึงประมาณ 22.00 น. ดังนั้นก็ให้ฝ่ายค้านไปคิดว่าจะปรับเวลาอย่างไร และตนจะไปหารือกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาอีกครั้ง จากนั้นนายนิคมจึงตัดบทเข้าสู่วาระการประชุมตามปกติ โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช้สิทธิ์อภิปรายในช่วงที่นายนิคม ขึ้นทำหน้าที่
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.อภิปรายว่า ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถจัดทำได้ แต่ไม่ควรตัดสิทธิของประชาชน เช่น การแก้ไขมาตรา 68 ในเรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าประชาชนมีสิทธิที่จะปกป้องรัฐธรรมูญได้ เหมือนกับกรณีที่ประชาชนสามารถฟ้องเรื่องคดีต่อศาลยุติธรรมได้เอง หากอัยการสูงสุดไม่ทำหน้าที่ทนายแผ่นดิน ขณะเดียวกัน ถ้าเทียบภาระงานของศาลรัฐธรรมนูญและอัยการสูงสุดแล้ว ส่วนตัวคิดว่าอัยการสูงสุดมีภาระหน้าที่มากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องเป็นผู้พิจารณาคดีเกือบทั้งหมด ผิดกับศาลรัฐธรรมที่จะพิจารณาบางคดีเท่านั้น และเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 68 มีวัตถุประสงค์เพื่อจะปลดล๊อคให้สามารถลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 ที่ค้างสภาฯ อยู่ได้
ส่วนการแก้มาตรา 190 ถือเป็นการผลักประชาชนออกจากการตรวจสอบของรัฐบาล แต่เพิ่มอำนาจผูกขาดให้ฝ่ายบริหารที่ไม่ต้องนำเรื่องการเจรจาระหว่างประเทศมาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนประเด็นการแก้ไขที่มาของ ส.ว.คิดว่าควรจะมาจากระบบการเลือกตั้ง แต่ไม่ควรใช้ระบบเลือกตั้งแบบ ส.ส. โดยควรจะให้องค์กรภาควิชาชีพสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 เท่า เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้เลือก ซึ่งวิธีนี้จะแก้ปัญหาข้อครหา ส.ว.ลากตั้งได้