ผอ.เอแบคโพลล์ ม.อัสสัมชัญ แจงทำโพลจริง ชี้ผลใกล้เคียง โบ้ยให้ข้อมูลเพี้ยนทำคลาดเคลื่อน ยันเรื่องธรรมดา ลั่นไม่รับใช้ใครทำเพื่อชาติ เผยออกค่าใช้จ่ายเอง พร้อมทำเอ็กซิตโพลบ่อยขึ้นและปรับมาตรฐานให้ดีขึ้น
วันนี้ (7 มี.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวถึงความคลาดเคลื่อนของผลสำรวจการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา เอแบคโพลล์ได้ทำการสำรวจผลการเลือกตั้งจากประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 3 มีนาคมจนปิดหีบเลือกตั้งในช่วงเวลา 15.00 น. จำนวนกว่า 5,000 คน จาก 4,300,000 คน โดยเอแบคโพลล์ระบุผลสำรวจว่า จะมีคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 66 ซึ่งปรากฏว่ามีคนอกไปใช้สิทธิเลือกตั้งจริงถึงร้อยละ 64 และระบุว่าผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 2 คนมีโอกาสได้เกิน 1,000,000 คะแนนทั้งคู่ ปรากฏว่ามีความคลาดเคลื่อนบวกลบเพียงร้อยละ 5 ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ข้อมูลที่เป็นความจริง ส่วนความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นอาจมาจากบางคนให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง
“ขอยืนยันว่าเอแบคโพลล์ไม่ใช่โพลที่ปั่นกระแส และมีการลงพื้นที่ทำแบบสอบถามจริง ซึ่งวิธีการทำโพลไม่ได้สำรวจเรื่องใครชนะหรือใครแพ้ แต่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยไขข้อข้องใจได้เป็นอย่างดี ส่วนความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องธรรมดาของการทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งมีถูกบ้างมีผิดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าทำถูกก็เอาไว้สอนศิษย์ ถ้าผิดก็ถือว่าเป็นครูจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ที่สำคัญคือความคลาดเคลื่อนไม่ใช่ความผิดพลาด และเอแบคโพลล์จะยืนอยู่บนหลักระเบียบวิจัย ไม่รับใช้นักการเมืองสีใด แต่จะรับใช้สีของธงไตรรงค์ เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนทุกชนชั้นไปยังผู้มีอำนาจในสังคม เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดร.นพดลกล่าว
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าเงินที่นำไปดำเนินการทำแบบสอบถามนั้น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญให้การสนับสนุนทั้งหมด ไม่มีนักการเมืองคนใด หรือบริษัทห้างร้านใดให้การสนับสนุน โดยเงินทุกบาททุกสตางค์จะนำไปให้นักศึกษาลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนซึ่งครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม เอแบคโพลล์จะกลับไปทำเอ็กซิตโพลเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้บ่อยมากขึ้น พร้อมทั้งทำการบันทึกเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล เพิ่มขนาดตัวอย่างโดยให้นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำผลสำรวจ พร้อมทั้งปรับเวลาในการเก็บข้อมูล รวมทั้งบริหารจัดการงานวิจัยให้มีมาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือต่อสังคม