ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เผยผลสำรวจความคิดเห็นหัวข้อโพลกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบส่วนใหญ่ให้ความน่าเชื่อถือระดับปานกลาง แต่เชื่อฝ่ายการเมืองแทรกแซง ขณะเดียวกันเชื่อไม่ชี้นำ เพราะแต่ละคนย่อมมีคนที่ตัวเองชอบ ผลสำรวจแค่สร้างสีสันการเลือกตั้ง
วันนี้ (16 ก.พ.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “โพลกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12-13 ก.พ. 2556 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ กรณีการทำโพล หรือการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
เมื่อถามถึงระดับความน่าเชื่อถือของโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบว่า ร้อยละ 52.40 เห็นว่า เชื่อมั่นในระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 19.07 เชื่อมั่นในระดับมาก และร้อยละ 17.60 เชื่อมั่นในระดับน้อย ส่วนคนที่ไม่แน่ใจ หรือไม่ระบุ ร้อยละ 10.93
เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อกรณีสำนักโพลถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง พบว่า ร้อยละ 39.07 เชื่อว่า ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง เพราะ ผลสำรวจที่ออกมาทำให้เชื่อว่าน่าจะมีส่วน และอาจมีการว่าจ้างในการทำสำรวจ รองลงมาคือ ร้อยละ 30.60 ไม่เชื่อว่า ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง เพราะ เป็นการบริหารงานกันคนละส่วน ไม่สามารถแทรกแซงได้ และสำนักโพลย่อมมีจรรยาบรรณและความเป็นกลาง ส่วนคนที่ไม่ทราบ ไม่ตอบ หรือไม่แน่ใจ ร้อยละ 30.33
เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อผลโพลผู้ว่าฯ กทม.กับผลการเลือกตั้งจะตรงกันหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 35.27 เห็นว่า คิดว่าน่าจะตรงกับผลการเลือกตั้ง เพราะเมื่อเทียบจากหลายๆ สำนักผลที่ออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รองลงมาคือร้อยละ 31.13 คิดว่า ไม่น่าจะตรง กับผลการเลือกตั้ง เพราะ ยังมีกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจอยู่อีก และความคิดเห็นย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งยังไม่แน่นอน ส่วนคนที่ไม่ทราบ ไม่ตอบ หรือไม่แน่ใจ ร้อยละ 33.60
เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อผลโพลผู้ว่าฯ กทม.สามารถชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 70.87 เห็นว่า ไม่มี เพราะแต่ละคนย่อมมีคนที่ตัวเองชอบหรือตัดสินใจเลือกไว้อยู่แล้ว ผลโพลเป็นเพียงข้อมูลสร้างสีสันในการเลือกตั้ง ส่วนการตัดสินใจจะเลือกใครนั้นจะพิจารณาจากตัวบุคคลหรือนโยบายมากกว่า และท้ายที่สุดก็คือตัวเราเองเป็นผู้ตัดสินใจเอง รองลงมาคือ ร้อยละ 16.73 เห็นว่ามี เพราะสามารถชี้นำได้จริง โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง อาจทำให้คล้อยตามได้ แต่ก็เป็นแค่บางส่วน ส่วนคนที่ไม่ทราบ ไม่ตอบ หรือไม่แน่ใจ ร้อยละ 12.40
รศ.ดร.สุจิตรา บุณยรัตพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจคะแนนความนิยมของผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ในแต่ละสำนักโพลที่นำเสนอในช่วงนี้ ต่างก็มีผลไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกันทุกสำนัก ดังนั้น คน กทม. จึงมีความเชื่อมั่นต่อผลการสำรวจที่ออกมาในระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกันก็ปฎิเสธความเชื่อของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ว่า สำนักโพลถูกการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งไม่ว่าจะในวงการใดก็ตามประชาชนก็มองว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือถูกแทรกแซง เช่น สื่อมวลชน แต่อย่างไรก็ตาม ผลโพลเป็นเพียงตัวเลขที่สะท้อนความคิดเห็นออกมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสามารถพลิกผันหรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น คะแนนความนิยมของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ยังไม่แน่นอนโดยเฉพาะกลุ่มพลังเงียบที่ยังไม่ตัดสินใจ