กลุ่มภาคประชาชนเข้ายื่นผู้ตรวจฯ สอบ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจเครดิต ชี้ขัด รธน. ร้องชงต่อศาล รธน. อ้างลิดรอนสิทธิ ปชช.กว่า 20 ล้านคน ติดแบล็กลิสต์ไม่เป็นธรรม เป็นบ่อเกิดปัญหาสังคม บีบยอมทำผิด กม.ใช้หนี้ ส่งผลถึงเศรษฐกิจภาครวมประเทศ
วันนี้ (18 ม.ค.) กลุ่มองค์การพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ (ภาคประชาชน) นำโดยนายวีระศักดิ์ อุปถัมภ์ ผู้อำนวยการและคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 (เครดิตบูโร) เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และ มาตรา 84 (5) หรือไม่ โดยนายวีระศักดิ์กล่าวว่า หลังจากที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลเครดิตมาภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมา 10 ปี ทำให้ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิ มีประชาชนถูกบันทึกข้อมูลอยู่ในระบบแบล็กลิสต์ จำนวนรวม 20 ล้านคน แยกได้ 7 ประเภท ดังนี้ 1. ก่อนที่สถาบันการเงินปิดตัวลงช่วงปี 2540-2545 ทำให้กลุ่มผู้ใช้สินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ และส่งผลให้ประวัติการชำระหนี้ไม่ต่อเนื่องผิดเงื่อนไข 2. ธุรกิจประสบภาวะขาดทุนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จึงต้องปิดกิจการ กิจการถูกยึด ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้เพราะถูกจำกัดเรื่องการกู้เงิน
นายวีระศักดิ์กล่าวต่อว่า 3. อุทกภัย อัคคีภัย ภัยพิบัติ การชุมนุมต่างๆ ส่งผลให้กิจการธุรกิจที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวต้องปิดตัวลง ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ 4. ปัญหาจากบัตรเครดิตที่ตามมา อาทิ ค่าธรรมเนียมจากการชำระหนี้ ค่าปรับชำระผิดเงื่อนไข บัตรสูญหาย การเลิกใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้ชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด การไม่ได้แจ้งยกเลิกการใช้บัตรกับธนาคารเจ้าของบัตร ทำให้เกิดหนี้ค้างชำระโดยไม่ได้ตั้งใจและเสียประวัติไปโดยปริยาย 5. เกษตรกรทั้งประเทศประมาณ 10 ล้านคน เป็นบุคคลติดเครดิตบูโร เพราะผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ 6. กองทุนเพื่อการศึกษาที่ให้นักศึกษากู้ผ่านธนาคาร เมื่อจบการศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถชำระหนี้ได้และถูกดำเนินคดี ทำให้ธนาคารได้ส่งข้อมูลให้บริษัทข้อมูลเครดิตฯ ว่าประวัติเสีย และ 7. ผู้ค้ำประกันสินเชื่อต่างๆ ก็ต้องติดเครดิตบูโร ทำให้ประวัติเสียไปด้วย ส่งผลให้ประชาชนที่ติดเครดิตบูโรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสถาบันการเงินในระบบได้
นายวีระศักดิ์ยังกล่าวต่อว่า เงินกู้นอกระบบก็เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็กลายเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคมผู้นำครอบครัวต้องไปทำผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ เงินหมุนเวียนในประเทศส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ เพราะติดอยู่ในระบบเครดิตบูโร ส่งผลการประมาณการรายได้ของรัฐก็คลาดเคลื่อน จึงขอให้ผู้ตรวจการฯ เร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเสียรายได้ไปมากกว่านี้
ด้านนายเฉลิมศักดิ์กล่าวว่า จะมอบหมายให้ทีมกฎหมายเร่งตรวจสอบคำร้องและเสนอผู้ตรวจฯ พิจารณาหากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญตามที่เสนอก็จะเร่งส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป