“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ระบุการแก้ไข รธน.เป็นประโยชน์กับประเทศโดยรวม ทำตามศาล รธน.แนะนำ พร้อมขอความร่วมมือฝ่ายค้านประชุมพิจารณาอย่างสร้างสรรค์ ไม่หวั่นถูกยื่นตีความประธานวุฒิสภาร่วมลงชื่อหนุนแก้ไข รธน. แต่ดันขึ้นนั่งเป็นประธานการประชุม ยันรื้อ ม.68 ไม่ได้ลิดรอนสิทธิประชาชน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมรัฐสภา ถึงความวุ่นวายในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาในช่วงเวลาที่เหลือว่า ต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายค้าน เพราะเชื่อว่าฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่มีทางออกทางอื่นสำหรับให้ประเทศเดินหน้า เพราะความจริงเดิมทีการร่าง ส.ส.ร.ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ยังค้างการพิจารณาในวาระ 3 ทางฝ่ายนิติบัญญัติก็ได้ยื่นการแก้ไขในรายมาตรา ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญให้คำแนะนำมาอยู่แล้ว
“ก็ไม่มีทางอื่น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเห็นความร่วมมือที่จะไปถกเถียงในเวทีสภา ซึ่ง ส.ส. และ ส.ว. ก็ได้มีการถกแถลง ก็น่าจะใช้เวทีของสภาเป็นเวทีในการหาทางออก เพราะไม่เช่นนั้นเราก็ไม่รู้จะเดินไปทางไหน"
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตการทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และอาจจะนำเรื่องยืนต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชะงักหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก็ต้องเป็นขั้นตอนและกระบวนการตามข้อกฎหมาย ในส่วนไหนที่ดำเนินการไปได้ก็ขอให้ดำเนินการไป ที่สำคัญประชาชนจะได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์รัฐบาลก็มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นประโยชน์กับประเทศโดยรวม ซึ่งหลายข้อมีข้อจำกัดจริงๆ ทาง ส.ส.และส.ว.จะได้ใช้เวลาตลอด 3 วันเต็มในการพิจาณาอย่างรอบคอบ
ส่วนรัฐบาลมองทางออกจะแก้ปัญหาอย่างไร หากฝ่ายค้านไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของนายนิคม น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ที่จะต้องหารือกัน รัฐบาลเองมีหน้าที่ในการบริหารราชการของประเทศก็ต้องการให้บรรยากาศเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ประชาชนก็คงอยากเห็นบรรยากาศที่มีความเรียบร้อย และขณะนี้ก็ใกล้จะถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ประชาชนก็จะได้มีความสุข
สำหรับข้อห่วงใย มาตรา 68 ที่มีการแก้ไขนั้นเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน นายกรัฐมนตรีกล่าวย้อนถามว่า “ลิดรอนประเด็นไหนหรือคะ” เมื่อ
ผู้สื่อข่าวบอกว่าการแก้ไขโดยให้อัยการสูงสุดพิจารณาฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ไม่ทราบว่าสิทธิประชาชนตรงไหน ประชาชนยังมีสิทธิอย่างเสมอภาค ดิฉันยังไม่เคลียร์ในประเด็นที่มีบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นต้องการให้สิทธิกับประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็ต้องให้ประชาชนสามารถที่จะยื่นเรื่องราวต่างๆ และกระบวนการพิจารณาก็ควรจะเป็นกระบวนการที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม”