อภิปรายแก้ รธน.วันที่ 3 ส.ส.ยะลาซัด ปธ.วุฒิฯ แต่หัววัน ชี้นั่ง ปธ.ประชุม ปชป.ยิ่งเวลาหด เจ้าตัวไม่แคร์ทำหน้าที่ต่อ รมช.สธ.โดดเชียร์แก้ รธน. แจงแก้ ม.68 เหมาะ อ้างอำนาจนิติฯ ตุลาการชัดเจนขึ้น แถมมีหลายหน่วยงาน ต่างจากศาล รธน. ลั่นไม่ลดสิทธิ ปชช. สะกิดศาล รธน. อย่าลืมฝ่ายนิติฯ มีสิทธิแก้ รธน. มั่นใจศาล หลังเคยตัดสินแก้ ม.291 ไม่ผิด
วันนี้ (3 เม.ย.) ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ หารือว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังเหลือเวลาในการอภิปรายกว่า 6 ชั่วโมง หากท่านทำหน้าที่ พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเหลือเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง จึงอยากให้ประสานกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา มาทำหน้าที่ แต่นายนิคมยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไป และจะปิดการอภิปรายในเวลา 22.00 น. จากนั้นจะเป็นการลงมติรับหลักการวาระ 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมตามปกติ
โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข และ ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ซึ่งการแก้ไขมาตรา 68 ตนเห็นด้วย เพราะเป็นการสร้างความชัดเจนในดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ และเจตนารมณ์ของมาตรานี้ที่ผู้ร่างเขียนไว้ก็เพื่อต้องการให้สิทธิของบุคคลที่ทราบการกระทำว่าจะมีการล้มล้าง หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดที่มีการกล่าวว่าเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนนั้น เราต้องมองว่า ผู้ใดโดยรวมทั้งหมด อย่ามองผู้ใดเป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งการเขียนเช่นนี้ถือเป็นการปกป้องศาลรัฐธรรมนูญไปด้วย และกระบวนการร้องสามารถเข้าถึงได้ทุกหน่วยงานที่มีอัยการอยู่ ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงที่เดียวเท่านั้น
นพ.ชลน่านยังกล่าวถึงกรณีที่มีผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้ระงับฉุกเฉิน สั่งให้ยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยมาตรา 68 ว่า ตนทำหน้าที่รัฐสภาภายใต้พระปรมาภิไธย ตรงนี้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเขียนให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ฉะนั้นการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ ถือเป็นการทำหน้าที่ของรัฐสภา ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาในประเด็นนี้ด้วย และตนไม่กังวลกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในบ่ายวันที่ 3 เม.ย.นี้ เพราะมีคำวินิจฉัยของศาลที่บอกว่าการแก้ไขมาตรา 291 ไม่ได้เป็นเหตุล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพียงการคาดการณ์ของผู้ร้องเท่านั้น ฉะนั้นตนจึงมั่นใจในศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่หลายคนบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนนั้น ตนอยากถามว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร