xs
xsm
sm
md
lg

เหิมบี้แก้ 112 เชื้อที่ยังไม่ตาย หวังฟื้นกลางกระแสแบน “ตอบโจทย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย สุวรรณบรรณ
รายงานการเมือง

การเปิดหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ของกลุ่มคณาจารย์นิติราษฎร์-คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ที่เป็นพวกแดงวิชาการ-แดงอิสระที่มีทั้งนักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวการเมือง เพื่อจัดเสวนาเรื่อง “ศาลกับความยุติธรรมในสังคมไทย” ที่พุ่งเป้าไปที่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

งานดังกล่าวมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้านานแล้ว ไม่ได้จัดขึ้นแบบกะทันหันหลังกระแสเรื่อง 112 กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังรายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เสนอรายการพิเศษ “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” เกือบตลอดทั้งสัปดาห์

จนเกิดกระแสเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางในการทำหน้าที่สื่อของไทยพีบีเอสที่เป็นทีวีสาธารณะ ก่อนที่จะเกิดปัญหากรณีมีประชาชนจำนวนหนึ่ง ประมาณเกือบ 20 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอรายการลักษณะดังกล่าวที่พาดพิงถึงสถาบัน ไปรวมตัวแสดงออกไม่เห็นด้วยถึงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อ 15 มีนาคม

ที่สุดท้ายผู้บริหารของสถานีคือ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จะตัดสินใจยุติการแพร่ภาพเทปตอนสุดท้ายเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในเวลานี้ทั้งเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการตัดสินใจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาพที่คนจำนวนมากใส่เสื้อแดงไปร่วมงานเสวนาดังกล่าวที่หอประชุมธรรมศาสตร์จนแน่นขนัด ซึ่งหากใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวในการจัดกิจกรรมลักษณะดังกล่าวของนิติราษฎร์ และ ครก.112 ก็จะพบว่าก็จะมีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่เป็นแฟนประจำนิติราษฎร์และครก.112 ไปร่วมงานลักษณะนี้เกือบทุกครั้งไม่ว่าจะจัดที่ไหนก็ตาม

แต่เมื่อมาเจอกับกระแสรายการตอบโจทย์ แพร่ภาพตลอดสี่วันก่อนหน้านี้คือ 11-14 มีนาคม รวมถึงยิ่งมาเจอกรณีถูกเบรคการออกเทปรายการตอนจบกระทันหันก็ทำให้ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สำหรับคนที่สนใจเรื่องทำนองนี้ ดูจะมีอารมณ์ร่วมตามไปด้วย เห็นได้จากการแสดงออกผ่านสื่อเสื้อแดงโดยเฉพาะพวกเว็บบอร์ดอะไรต่างๆ ที่มีการเข้าไปแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างหนักหน่วง

เลยน่าจะเข้าทางพวกเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ 112 ที่อยากให้ กระแสเรื่อง 112 กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง หลังหลายเดือนที่ผ่านมา เงียบหายไป

เพราะเป้าหมายการเคลื่อนไหวแบบเป็นรูปธรรมที่คนกลุ่มนี้ต้องการก็คือ ต้องการให้ทางสภาผู้แทนราษฏร พิจารณารับอุทธรณ์เรื่องที่กลุ่ม ครก.112 เคยยื่นร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่เสนอโดยประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อประมาณ 4 หมื่นรายชื่อ เสนอแก้ไขมาตรา 112 ในชื่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ....ที่ได้ยื่นไปเมื่อ 29 พ.ค.2555 แต่ทางนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จำหน่ายเรื่อง ออกจากสารบบเพราะเป็นการขอแก้ไขที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในหมวด 3 และหมวด 5 การจะแก้มาตรา 112 ได้ต้องทำโดย ส.ส.และ ครม.เท่านั้น

ทำให้ต่อมาเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคือ 15 ก.พ. 56 ทาง ครก.112 จึงส่งร่างคำอุทธรณ์กลับไปให้สมศักดิ์ อีกครั้งในการแก้ไขมาตรา 112 เวลานี้ทาง ครก.112 ก็กำลังรอคำตอบอยู่ว่าการอุทธรณ์ดังกล่าวมีผลออกมาอย่างไร

หากการอุทธรณ์ไม่เป็นผล ก็หมายความว่าการเคลื่อนไหวของ ครก. 112 ก่อนหน้านี้ที่จัดกิจกรรมให้ประชาชนลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 คงต้องกลับไปทบทวนวิธีการการเคลื่อนไหวกันต่อไป

เพราะยังไงเสียการจะให้สภาฯ โดยพรรคการเมืองและ ส.ส.ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 รับรองว่าไม่มีทางได้เห็นเด็ดขาด ต่อให้ ส.ส.เสื้อแดง พรรคเพื่อไทยก็เถอะ รับรองเรื่องนี้ ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะคิด

และในความเป็นจริงแล้ว ใครๆ ก็มองออกว่าการเคลื่อนไหวของ ครก.112 ที่พยายามจะเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น การจะเห็นผลให้เป็นรูปธรรมมีการแก้ไขมาตรา 112 ในสภาฯ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เด็ดขาด และยากมากที่ประธานสภาฯ จะรับอุทธรณ์เรื่องเพื่อให้มีการนำร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าสภาฯ

ของแบบนี้มีหรือพวกคนใน ครก.112 จะไม่เข้าใจ เพราะต่อให้การอุทธรณ์เป็นผล แล้วเชื่อหรือว่าจะมี ส.ส.คนไหนคิดจะสนับสนุนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ในสภาฯ

ทาง ครก. 112 ก็รู้ว่าเรื่องการแก้ไข 112 แท้ที่จริงแล้วจะขับเคลื่อนได้ถึงแค่ไหน เพราะเรื่องนี้มีข้อจำกัดสูง

ถึง ครก.112 จะออกแอ็คชั่นอย่างไร แต่ใครๆ ก็มองออกว่าเป้าหมายที่แท้จริงของกลุ่ม ครก.112 ที่ต้องการให้มีการแก้ไข 112 วางน้ำหนักไว้ที่การเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเป็นหลัก คือพยายามให้คนพูดถึง กล่าวถึงเรื่องนี้กันให้มากที่สุด แค่นี้พวกนี้ก็พอใจแล้ว

หากใครติดตามเฝ้ามองการเคลื่อนไหวของพวกคนกลุ่มนี้ก็จะเห็นได้ว่า วิธีการสร้างกระแสหรือเคลื่อนไหวเรื่องแก้ 112 ก็ยังใช้วิธีการเดิมๆ คือการให้ข้อมูลในเรื่องความจำเป็นในการแก้ไข 112 ด้วยวาทกรรมเดิมๆ เพียงแต่ปรับเนื้อหาการสื่อสารในแต่ละช่วงแต่ละเวทีที่มีการจัดงานประเภทนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ

ก็อย่างเวทีหอเล็กธรรมศาสตร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็พบว่าจากที่สื่อนำเสนอข่าวการจัดงานดังกล่าวบางส่วน ก็มีการหยิบยกกรณีไทยพีบีเอสระงับการออกอากาศเทปรายการสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมาพูดบนเวทีเสวนาด้วยตามคาด

ขณะที่เนื้อหาหลักๆ ของคนที่ไปขึ้นเวทีเสวนาแสดงความคิดเห็นสร้างกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไข 112 ที่มีทั้งนักวิชาการที่ยังรับราชการอยู่-อดีตนักวิชาการที่เกษียณไปแล้วรวมถึงอดีตผู้พิพากษา

ประมวลเนื้อหาที่คนพวกนี้ไปพล่ามตลอดทั้งวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว พบว่าก็ยังคงพูดแบบเดิมๆ ไม่ได้มีเหตุผลหรือข้อมูลใหม่อะไรมาสนับสนุนความคิดความเชื่อของตัวเองให้มีน้ำหนักมากขึ้นกว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้

เช่นการอ้างเหตุผลความจำเป็นว่าต้องแก้ไข 112 เพราะเป็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงเกินไปรวมถึงเลยเถิดวิจารณ์ไปทั่วทั้งศาลยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญข้างเดียวเพียงเพราะคำตัดสินหรือคำวินิจฉัยที่เกี่ยวโยงกับเรื่อง 112 ออกมาแล้วไม่ตรงใจกับคนกลุ่มนี้ ก็เลยพยายามจะบอกว่ากระบวนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในคดี 112 ยังมีข้อบกพร่องบางประการอยู่เช่นการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดี 112 เป็นต้น

บทสรุปของการจัดงานเสวนาดังกล่าวจะพบว่าเป็นบทสรุปที่ไม่มีบทสรุป คือไม่ได้บอกว่าแล้วจะเป็นยังไงต่อไป จะทำอะไร จะเคลื่อนอะไรต่อไป

ก็เชื่อว่าสำหรับคนกลุ่มนี้แค่ทำให้การเคลื่อนไหวแบบนี้มีพื้นที่บ้างในสื่อและอยู่ในความสนใจของคนกลุ่มเดียวกัน คนพวกนี้ก็พอใจแล้ว กับการเลี้ยงกระแสเรื่อง 112 ให้อยู่ต่อไป แล้วก็ไปขยับเรื่องอื่นๆ อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้ตัวเองมีชื่อถูกพูดถึงบ้าง ก็เท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น