ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของเลขาธิการอาเซียนออกหนังสือรับรองการค้ำประกันเงินกู้จากชำระค่าเครื่องบินแอร์บัสของการบินไทย พร้อมอนุมัติให้ กสท โทรคมนาคม จัดสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำใยแก้ว เห็นชอบยุทธศาสตร์การระบายมันสำปะหลัง รับทราบผลการสำรวจโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน และแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 56
วันนี้ (19 มี.ค.) นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของเลขาธิการอาเซียนต่อหนังสือของฝ่ายเยอรมนี และร่างความตกลงสำหรับการดำเนินโครงการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพในอาเซียน และอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียน หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวข้างต้น โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ว่ารัฐบาลไทยเห็นชอบร่างเอกสารดังกล่าวและเห็นชอบให้เลขาธิการอาเซียน หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว
โดยร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของอาเซียนที่ตอบรับการดำเนินโครงการกับหนังสือของรัฐบาลเยอรมนี มีสาระสำคัญดังนี้ 1) ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของอาเซียนเป็นหนังสือที่ตอบรับการดำเนินโครงการต่อหนังสือแลกเปลี่ยนของรัฐบาลเยอรมนีที่ลงนามโดยเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำอาเซียน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2555 2) สาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนกล่าวถึงการที่อาเซียนให้ความเห็นชอบกับข้อตกลงและเงื่อนไขที่ระบุในหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายเยอรมนี เช่น การให้สถาบัน Physikalisch Technische Bundestanstalt-PTB เป็นผู้ดำเนินโครงการฝ่ายเยอรมนี และคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน (ASEAN Consultative Committee for Standards and Quality-ACCSQ) ทำหน้าที่ประสานการดำเนินโครงการฝ่ายอาเซียน 3) ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของเลขาธิการอาเซียนและหนังสือแลกเปลี่ยนของรัฐบาลเยอรมนีถือเป็นความตกลงระหว่างสองฝ่ายในการดำเนินโครงการ ภายใต้พันธกรณีความร่วมมือด้านเทคนิค และจะประกอบกันเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเยอรมนี กับอาเซียน โดยจะมีผลให้เริ่มดำเนินโครงการได้ในวันที่ลงนามหนังสือแลกเปลี่ยนจากอาเซียน ร่างความตกลงสำหรับการดำเนินโครงการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพในอาเซียน
โดยร่างความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดรายละเอียดของข้อตกลงในการดำเนินโครงการประกอบด้วย วัตถุประสงค์และตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ การสนับสนุนการดำเนินโครงการของฝ่ายเยอรมนีและฝ่ายอาเซียนและข้อบทอื่นๆ เช่น การประเมินผลโครงการ การปรับปรุงแก้ไข การระงับข้อพิพาท ผลที่คาดว่าจะได้รับ รวมถึงพันธกรณีต่างๆ ซึ่งจะจัดทำขึ้นระหว่างอาเซียนกับ PTB และเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศเยอรมนี โดยมีภาคผนวกแนบอีก 3 ฉบับ ได้แก่ (1) หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างอาเซียนกับประเทศเยอรมนี (2) หนังสือจากสำนักเลขาธิการอาเซียนถึงประเทศเยอรมนี ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2551 (3) ข้อเสนอโครงการ และร่างความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อเลขาธิการอาเซียน หรือผู้แทนลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงฯ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 7 ปี แบ่งเป็นระยะแรก 4 ปี โดยรัฐบาลเยอรมนีจะให้เงินสนับสนุนโครงการผ่านสถาบัน PTB รวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านยูโร แบ่งเป็นระยะแรก 1.5 ล้านยูโร
ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเงื่อนไขพิเศษในการดำเนินการกู้เงินระยะยาวในรูป Asset Based Financing เพื่อชำระค่าเครื่องบินแอร์บัส A380-800 (ลำที่ 4) จำนวน 1 ลำ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และ คค.ออกหนังสือรับรองให้แก่ European Export Credit Agencies (ECAs) ตามนัยที่กล่าวไว้ข้างต้น และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำความเห็นทางกฎหมายสำหรับการกู้เงินในครั้งนี้ และอนุมัติให้ใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทสำหรับสัญญาจัดหาเงินกู้ด้วย
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท) ดำเนินโครงการโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำใยแก้ว (Asia Pacific Gateway : APG) ร่วมกับภาคีสมาชิก วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,055.74 ล้านบาท โดยให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างภาคีสมาชิกและระหว่างภาคีสมาชิกกับผู้รับจ้างตามข้อตกลงก่อสร้างและบำรุงรักษา และสัญญาจ้างก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำใยแก้ว APG ตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ
อีกด้านหนึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556 ตามที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ โดยเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การระบายมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังของรัฐบาลตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยในส่วนของการเจรจาซื้อขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังอนุมัติการดำเนินการระบาย และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการเจรจาซื้อขายให้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขายเมื่อเจรจาถึงที่สุดแล้ว
โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ หารือร่วมกับกระทรวงพลังงานในการจำหน่ายมันสำปะหลังในโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังของรัฐบาล เพื่อนำไปผลิตเป็นเอทานอลเป็นลำดับแรกก่อนที่จะจำหน่ายในรูปแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อประโยชน์ต่อการขยายการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง และรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรในระยะยาว
ด้านโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย (มกราคม พ.ศ. 2556) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 - 31 มกราคม 2556 โดยนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 9 ภาคของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้แก่ ภาค 1 : อยุธยา ภาค 2 : ชลบุรี ภาค 3 นครราชสีมา ภาค 4 : ขอนแก่น ภาค 5 : เชียงใหม่ ภาค 6 : พิษณุโลก ภาค 7 : นครปฐม ภาค 8 : สุราษฎร์ธานี ภาค 9 : สงขลา ในการนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงาน ป.ป.ส.ได้ทำการสำรวจโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย (มกราคม พ.ศ. 2556) เพื่อติดตาม ประเมินผลสภาพปัญหา และสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติด รวมทั้งผลการดำเนินงานโครงการชุมชนอุ่นใจฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการติดตาม ปรับปรุง และประเมินผลการดำเนินงานโครงการ เพื่อใช้เป็นต้นแบบทั่วประเทศ โดยทำการสำรวจประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมาย ซึ่งมีประชาชนที่ถูกเลือกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 2,418 ราย และเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 - 21 มกราคม 2556
ส่วนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 56 ครม.มีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 ตามที่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ดังนี้ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 ได้มีมติเห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และอำเภอ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 และเห็นชอบให้ประสานกระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556
โดยแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 โดยมีชื่อในการรณรงค์ ว่า “สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรม” ซึ่งจะดำเนินการระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2556 รวม 7 วัน เป้าหมายการดำเนินงาน ให้สามารถลดจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้บาดเจ็บให้เหลือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2555 โดยให้จังหวัดอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 6 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการด้านบริหารจัดการ 2.มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย 3.มาตรการด้านสังคม 4.มาตรการด้านวิศวกรรมจราจร 5.มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ 6.มาตรการด้านบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย
โดยมาตรการเน้นหนัก ได้แก่ 1.การควบคุมความเร็ว 2.การควบคุมการเมาสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ 3.การจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัย 4.การเล่นน้ำสงกรานต์ท้ายรถกระบะให้มีความปลอดภัย 5.การควบคุมการใช้รถจักรยานยนต์ 6.การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามช่วงเวลาดำเนินการ กำหนดเป็น 3 ช่วงดังนี้ 1.ช่วงเตรียมความพร้อม ระหว่างวันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2556 2.ช่วงการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 10 เมษายน 2556 3.ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2556 ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานขอความร่วมมือให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 แล้ว