xs
xsm
sm
md
lg

รมต.ฟิตรับปีใหม่ เตรียมชง ครม.นัดแรกลุ้นงบฯ ปี 56 คึกคัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
เผยประชุม ครม.วันนี้ “ปลอด” จ่อชงแผนรับมือภัยแล้ง “คมนาคม” เตรียมขออนุมัติซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน “แรงงาน” เพิ่มเติมขอช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท “ยุติธรรม” ขอไฟเขียว กม.ขออนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด “คลัง” ชงมาตรการภาษีหนุนควบรวมกิจการสถาบันการเงิน-ประกันภัย ด้าน “พลังงาน” ดัน MOU กรุยทางเอกชนลุยธุรกิจพลังงานในติมอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 มกราคม 2556 นี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เตรียมเสนอแผนบริหารจัดการภัยแล้งหรือภาวะน้ำน้อย ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา อาทิ แผนการขุดเจาะน้ำบาดาลมาช่วยเหลือด้านการอุปโภคบริโภคให้ได้ร้อยละ 70-80 ของน้ำที่ขุดเจาะมาทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะจัดสรรไปช่วยเหลือด้านการเพาะปลูก, การของบประมาณเพื่อจัดทำระบบท่อส่งน้ำจากบริเวณที่มีน้ำมากไปสู่บริเวณที่มีน้ำน้อย และการจัดทำระบบน้ำบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค

ทั้งนี้ กบอ.คาดการณ์ว่า ในปี 2556 สถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภาวะภูมิอากาศ โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จากปริมาณน้ำฝนในฤดูฝนที่ตกน้อยมาก ส่วนพื้นที่ภาคกลาง เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากนัก

นายปลอดประสพกล่าวเชื่อมั่นอีกว่า สถานการณ์น้ำในปี 2556 จะไม่เกิดน้ำท่วมแน่นอน หลังจากใช้งบกลางในวงเงิน 120,000 ล้านบาทดำเนินการเกี่ยวกับแนวทางป้องกันและรับมือน้ำท่วม ที่มีการแบ่งงบประมาณใช้ปรับปรุงระบบระบายน้ำ 40,000 ล้านบาท และยกระดับถนน จำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมแล้วใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วมจำนวน 60,000 ล้านบาท

ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะนำเสนอ 3 เรื่อง ให้ ครม.พิจารณา คือ โครงการจัดหารถเมล์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) จำนวน 3,183 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การประกวดราคารถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 4 สัมปทานสำหรับการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษา ที่บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล เป็นผู้ชนะการประกวดราคา

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก.มั่นใจว่ากระทรวงคมนาคมมีข้อมูลครบถ้วนแล้ว และได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแล้ว โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีข้อสงสัยเพียงว่าเหตุใดจึงไม่จัดหาเป็นรถปรับอากาศทั้งหมด โดยกระทรวงคมนาคมชี้แจงว่าหากจัดหาเป็นรถเมล์ปรับอากาศทั้งหมด ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบ เพราะมีค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 13 บาท แต่หากจัดหาเป็นรถธรรมดา หรือรถร้อนทั้งหมด ซึ่งจัดเก็บค่าโดยสารที่ 7 บาท รายได้ ขสมก.ก็จะน้อยเกินไป จึงต้องจัดหารถปรับอากาศและรถร้อนอย่างละ 50% จึงเชื่อว่า ครม.ไม่น่ามีการท้วงติงเพิ่มเติม

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน จะเสนอมาตรการเพิ่มเติม 5 ข้อ เพื่อบรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี

มาตรการเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1. ลดค่าธรรมเนียมห้องพักโรงแรม ที่พัก โดยจะลดอัตราค่าธรามเนียมการประกอบธุรกิจรายปีลงร้อยละ 50 จากปัจจุบันที่จัดเก็บห้องละ 80 บาท ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี 2. จัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานศึกษาและสถานประกอบการ 3. เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ โดยให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4. การจัดคาราวานสินค้าราถูกไปจำหน้ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการซึ่งกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบนำโครงการธงฟ้าไปจัดจำหน่าย 5. ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 ซึ่งจะทำให้รายได้รถลดลงไปประมาณ 20,000 ล้านบาท จากที่เคยจัดเก็บได้ 60,000 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จะขออนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่ได้แก้ไขตามผลการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 เพื่อกำหนดให้บุคคลซึ่งผ่านการตรวจหรือทดสอบเบื้องต้นว่ามียาเสพติดอยู่ในร่างกาย และสมัครใจจะขอเข้ารับฟื้นฟูสมรรถภาพได้รับการยกเว้น ไม่ต้องถูกแจ้งข้อหายาเสพติด โดยเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดต้องดำเนินการให้บุคคลดังกล่าวได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในสถานพยาบาลตามกฎหมาย เกี่ยวกับยาเสพติด และมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อเป็นหลักฐานในการเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด หากฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ถือเป็นความผิดทางอาญา

สำหรับในส่วนของกระทรวงการคลัง (กค.) เตรียมขออนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ... และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ... รวม 2 ฉบับ ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการประเด็นเงินสำรองของสถาบันการเงินและกิจการประกันภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการที่ต้องจดทะเบียนเลิก สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินสำรองซึ่งได้กันไว้ ตามมาตรา 65 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องนำมารวมเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามมาตรา 74 (2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร และกำหนดให้รายจ่ายของบริษัทใหม่ที่ควบเข้ากันหรือผู้โอนกิจการจากการโอนกิจการทั้งหมด เป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่ได้กันไว้ ตามมาตรา 65 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร ของบริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการที่ต้องจดทะเบียนเลิกเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (20)

ทั้งนี้ กค.เสนอว่า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (1) บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินสำรองจากเบี้ยประกันภัย และเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

นอกจากนี้ มาตรา 74 (2) และ (3) บัญญัติให้กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน หรือควบเข้ากันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ให้นำเงินสำรองหรือเงินกำไรยกมาจากรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ เฉพาะส่วนที่ยังมิได้เสียภาษีเงินได้ ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย และสำหรับกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประกอบกิจการประกันภัย ให้นำเงินสำรองซึ่งได้กันไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ ตามมาตรา 65 ตรี (1) เฉพาะส่วนที่ยังมิได้นำมาเป็นรายได้มารวมคำนวณเป็นรายได้

ทั้งนี้ จากข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคกรณีบริษัทที่เป็นสถาบันการเงิน หรือที่ประกอบกิจการประกันภัยที่เลิกกันหรือควบเข้ากันจะต้องนำเงินสำรองที่กันไว้มารวมคำนวณเป็นรายได้ ซึ่งบริษัทเดิมที่จะควบหรือบริษัทผู้โอนอาจไม่มีสภาพคล่องมากพอที่จะเสียภาษีจากเงินสำรองที่กันไว้ จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการในประเด็นเงินสำรองของสถาบันการเงินและกิจการประกันภัย โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทเดิมที่จะควบหรือบริษัทผู้โอนสำหรับเงินสำรองซึ่งได้กันไว้และนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย

กระทรวงพลังงาน (พน.) ขอความเห็นชอบ ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงปิโตรเลียมและทรัพยากรแร่ธาตุ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์เลสเต ว่าด้วยการพัฒนาด้านพลังงาน โดยขออนุมัติให้ รมว.พลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจาก รมว.พลังงาน) เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของเรื่องบันทึกความเข้าใจฯ สรุปได้ดังนี้ ขอบเขตของความร่วมมือด้านพลังงานลักษณะกว้างๆ ได้แก่ 1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายปิโตรเลียมอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และการดำเนินการของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2. การร่วมกันจัดเตรียมการศึกษาร่วมและโครงการความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย 3. การฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะสำหรับผู้เชี่ยวชาญและการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารในด้านปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

4. การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัทน้ำมันแห่งชาติของคู่ภาคี 5. การเข้าร่วมสัมมนา จัดการประชุม และการจัดนิทรรศการร่วมกัน 6. การให้ความช่วยเหลือในการกำหนดและนำนโยบายการประชุม และการจัดนิทรรศการร่วมกัน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการกำหนดและประยุกต์นำนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบไปใช้ในกิจกรรมอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของแต่ละฝ่าย

การกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินการตามกิจกรรม แผนงาน และโครงการความร่วมมือต่างๆ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนั้นแต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยบันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการลงนาม และจะขยายเวลาออกไปโดยอัตโนมัติในแต่ละครั้งอีก 3 ปี หากไม่มีการบอกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ

ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีและการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อสนเทศในการลงทุนด้านพลังงานระหว่างไทยและติมอร์เลสเต และเป็นการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยแสวงหาโอกาสด้านการค้าและการลงทุนทางพลังงงานในประเทศติมอร์ อีกทั้งบันทึกความเข้าใจฯ นี้มีลักษณะของความร่วมมือเป็นกรอบกว้างๆ เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ด้านพลังงานและส่งเสริมความร่วมมือด้านปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนโดยรวมหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน (พน.) โดยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียขอความเห็นชอบในร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิตปิโตรเลียม (Unitisation Agreement, UA) ระหว่างองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) และบริษัท Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS) สำหรับการร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งสุริยา (Suriya) ในแปลง A-18 ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย กับแหล่งสุริยา เซลาตัน (Suriya Selatan) ในแปลง PM 2 ของประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ ขอความเห็นชอบยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เรื่อง การทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่กำหนดให้การทำสัญญาไม่ควรระบุในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด เนื่องจากร่างข้อตกลงฉบับนี้จำเป็นที่จะต้องกำหนดวิธีการระงับข้อพิพาท โดยให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด เพื่อให้สอดคล้องกับร่างข้อตกลงเบื้องต้น (Head of Agreement, HOA) สำหรับการร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งสุริยา-สุริยา เซลาตัน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมี่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของร่างข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดสิทธิและพันธะระหว่างองค์กรร่วมและ PETRONAS รวมถึงการดำเนินงานและการจัดการในการร่วมกันพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมแหล่งสุริยา-สุริยา เซลาตัน ในพื้นที่ร่วมผลิต (Unit Area) มีขนาด 173.226 ตารางกิโลเมตร (อยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาร่วม 142.017 ตารางกิโลเมตรและพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย 31.209 ตารางกิโลเมตร)

โดยกำหนดสัดส่วนแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมเบื้องต้น (Initial Tract Participation) คือ แปลง A-18 ได้รับร้อยละ 85 และแปลง PM 2 ได้รับร้อยละ 15 และสามารถทำการประเมินสัดส่วนการแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมใหม่ (Re-determination)ทุก 5 ปี ในกรณีที่ผลการประเมินมีความแตกต่างกันโดยรวมเกินกว่าร้อยละ 3 ให้มีการปรับสัดส่วนแบ่งปันผลผลิตและแบ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามสัดส่วนผลผลิตดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้ใช้แผนการพัฒนาของแปลง A-18 และขายก๊าซในราคาตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายก๊าซแปลง A-18 และให้มีคณะกรรมการ Unit Management Committee ฝ่ายละ 4 คนเท่าๆ กัน ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและกำกับดูแลการดำเนินงาน ทั้งนี้ ร่างข้อตกลงดังกล่าวได้ยกร่างขึ้นภายใต้หลักการและอยู่ในกรอบของข้อตกลงเบื้องต้นที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองแล้ว ซึ่งร่างข้อตกลงฉบับนี้มีสาระสำคัญและหลักการเช่นเดียวกับร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมผลิตปิโตรเลียมระหว่างแหล่งภูมี-ภูมีใต้ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554

กระทรวงพลังงานยังขออนุมัติให้บริษัท GS Caltex Corporation โอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43 และ L11/43 ให้แก่ บริษัท GS Energy Corporation ในอัตราร้อยละ 30 โดยอาศัยความตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 และตามมาตรา 22 (7) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียมและต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยให้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555

พณ.ชง 5 ยุทธศาสตร์ลุยธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน

กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้ ครม.รับทราบ และเห็นชอบสรุปผลการประชุมคณะทำงานส่งเสริมการสร้างฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปในเรื่องการสร้างฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน ซึ่งได้ดำเนินการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 2 ครั้ง โดยมี รมว.พาณิชย์เป็นประธานคณะทำงานฯ ประธานผู้แทนการค้าไทยเป็นรองประธานคณะทำงานฯ และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นคณะทำงานและเลขานุการ และการประชุมคณะทำงานย่อยแต่ละยุทธศาสตร์รวม 4 ครั้ง ในช่วงวันที่ 17 กันยายน - 20 พฤศจิกายน 2555 สรุปดังนี้

1. การวางกรอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนไปตลาดประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ระหว่างประเทศและนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน แผนปฏิบัติการนำร่อง โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนร่วมแม่สอด-เมียวดี

1.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น แผนปฏิบัติการนำร่อง โครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ย้ายหรือขยายการลงทุนอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเสื้อผ้าไปขยายการลงทุนในกัมพูชา

1.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 ความมั่นคงทางอาหารที่ผลิตในประเทศหนึ่งและนำไปแปรรูป จำหน่ายอีกประเทศหนึ่ง (ข้าว มันสําปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ปศุสัตว์ ไก่ หมู) แผนปฏิบัติการนำร่อง โครงการความร่วมมือ สร้างความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารร่วมกัน เพื่อให้กลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นผู้ผลิตอาหารหลักเลี้ยงทวีปเอเชีย กรณีตัวอย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

1.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการท่องเที่ยว การบริการในประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนด้านโรงแรม โรงพยาบาล แผนปฏิบัติการนำร่อง โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค 3 เส้นทางประกอบด้วย (1) เส้นทางเชื่อมมรดกโลก : โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค เส้นทางเชื่อมมรดกโลก-สุโขทัย-หลวงพระบาง-พุกาม-เสียมราฐ (2) เส้นทางสามเหลี่ยมมรกต : โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค เส้นทางสามเหลี่ยมมรกต ไทย-ลาว-กัมพูชา (3) เส้นทาง 5 เชียง : โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค เส้นทาง 5 เชียง (เชียงตุง เชียงรุ้ง เชียงใหม่ เชียงราย เชียงของ)

1.5 ยุทธศาสตร์ที่ 5 TETRO (JETRO OF THAILAND) เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แผนปฏิบัติการนำร่อง ศึกษาโครงสร้างและการบริหารงานของ JETRO เพื่อจัดตั้ง TETRO

2. ประเด็นพิจารณาที่สำคัญ

2.1 การอำนวยความสะดวกทางการค้าไทย-เมียนมาร์ (1) การพัฒนาช่องทางเข้า-ออกสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ (แม่สอด-เมียวดี) แห่งที่ 1 เพื่อแก้ไขปัญหาความคับคั่งและแออัดของการขนถ่ายสินค้าบริเวณสะพานฯ แห่งที่ 1 โดยการซ่อมสะพานดังกล่าวมอบให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม (คค.) ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณการซ่อมสะพานดังกล่าว เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดสัญญาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 และให้เทศบาลนครแม่สอดพิจารณาลงทุนจัดสร้างสถานที่ขนถ่ายสินค้าบริเวณถนนที่จะเข้าสู่สะพานฯ แห่งที่ 1

(2) การเร่งก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่2 กระทรวงคมนาคมรายงานว่าดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรมแล้ว โดยมีงบประมาณดำเนินการอยู่ในแผนปี พ.ศ. 2556-2558 มอบให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการขนส่งทางถนนต่อไปถึงเมืองกอกะเร็กของเมียนมาร์อย่างเป็นระบบและครบวงจร

(3) การขยายสนามบินแม่สอด มอบให้กรมการบินพลเรือนเร่ง คค. พิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2558 เพื่อรองรับการเติบโตด้านการขนส่งและการท่องเที่ยว
2.2 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด-เมียวดี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ... นำเสนอการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเลขานุการคณะฯ ในการจัดทำแผนแม่บทและการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมจะเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้ง การพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่สอดคล้องกับระบบ ASEAN Single Window คาดว่าเมื่อประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกฉบับฯ ดังกล่าวในเร็วๆ นี้ จะสร้างความกระจ่างในการดำเนินการเขตเศรษฐกิจแม่สอด-เมียวดี ที่ล่าช้ามานาน โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเร่งการพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกดังกล่าว

2.3 การส่งเสริมสนับสนุนให้นักลงทุนไทยย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้า โดยจะสนับสนุนนักลงทุนไทยในอุตสาหกรรม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ฯลฯ ย้ายฐานการผลิตไปกัมพูชา ทั้งนี้ภาครัฐจะจัดคณะนำนักลงทุนไทยไปสำรวจพื้นที่และเจรจาขอการสนับสนุนจากกัมพูชาในนิคมอุตสาหกรรมโอเนียง และนิคมอุตสาหกรรมศรีโสภณ ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2556

2.4 การสนับสนุนการลงทุนด้านแหล่งกระจายสินค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีโครงการนำร่องในการจัดตั้ง Container Yard ณ ท่านาแล้ง สปป.ลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างทางรถไฟท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ สปป.ลาว ของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) กระทรวงการคลัง เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยมอบให้ สพพ. กระทรวงการคลังเร่งรัดโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2555

2.5 การดำเนินงานตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง Cross Border Transport Agreement (GMS /CBTA) เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทั้งข้ามแดนและผ่านแดน ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศได้ให้สัตยาบันต่อภาคผนวกและพิธีสารครบทั้ง 20 ฉบับ คงเหลือไทยและเมียนมาร์ที่ลงนามยังไม่สมบูรณ์ จึงให้เร่งรัดกระทรวงคมนาคมและกรมศุลกากรกระทรวงการคลังผลักดันการออกกฎหมายที่ค้างอยู่ทั้ง 5 ฉบับ (ร่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ... รอเสนอวุฒิ ร่าง พ.ร.บ.การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ.... รอเสนอวุฒิสภา ร่าง พ.ร.บ.การรับขนคนโดยสารและสัมภาระทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ.... อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่...) พ.ศ... (ในเรื่องเกี่ยวกับข้อบทว่าด้วยการผ่านแดน) อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สคก. ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ... ว่าด้วยการอนุตามความตกลง CBTA) อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารที่เหลือภายใต้ความตกลงฯ ภายในปี พ.ศ. 2556
กำลังโหลดความคิดเห็น