xs
xsm
sm
md
lg

“อิฐบูรณ์” คาใจขึ้น LPG ช่วย ปตท.กำไรถึงเป้า? - แท็กซี่จ่อหามาตรการค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา
“อิฐบูรณ์” ชำแหละภาคปิโตรเคมีใช้แอลพีจีจำนวนมากแต่ได้ราคาถูกสุด แล้วยังผลักภาระการนำเข้าให้ประชาชน ตั้งคำถามบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล กำหนดเป้ากำไรมหาศาล เกี่ยวโยงกับการกดดันรัฐบาลให้ขึ้นราคาหรือเปล่า ด้านประธานเครือข่ายแท็กซี่จ่อหามาตรการคัดค้าน ยันขึ้นค่าโดยสารเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากไม่อยากทำให้คนเดือดร้อน

วันที่ 20 ธ.ค. นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ถึงประเด็นการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี

นายอิฐบูรณ์กล่าวว่า รัฐบาลอ้างว่าต้นทุนแอลพีจีแพง ที่รัฐอุดหนุนแต่เดิมมันน้อยกว่าต้นทุนที่ดำรงอยู่ ไม่ว่าจะจากโรงกลั่นน้ำมันที่อ้างว่ารัฐควบคุมอยู่ที่ 333 เหรียญต่อตัน แต่โรงกลั่นอยู่ที่ 500 เหรียญจึงขาดทุน นำเข้า 900 เหรียญ แต่อยากจะเรียนว่าต้นทุนต่างๆ คนกำหนดก็คือข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน ที่เป็นปัญหาคือพวกนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น ปลัดกระทรวงพลังงานนั่งเป็นประธานบอร์ดบริษัท ปตท. แต่ก็แทนที่จะกำกับดูแลผลประโยชน์ให้ประชาชนแต่ทำตรงกันข้ามหมดเลย ไม่ว่าจะกำหนดแอลพีจีภาคครัวเรือนที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันเล่นถึง 30 บาทต่อกิโลกรัม ภาคขนส่ง 21 บาทแล้วกำลังจะขึ้นเป็น 24 บาท โดยอาศัยว่าไหนๆ ก็จะขึ้นกับภาคประชาชนแล้วก็เอาทั้งคู่เลย ให้เท่ากันที่ 24 บาท

แต่ตนเชื่อว่าเดี๋ยวจะมีเทคนิคให้นายกฯ แสดงเมตตาธรรม เพราะแต่เดิม สนพ.(สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) ชงตัวเลขแรก 36 บาทต่อกิโลกรัม นี่คือราคาตลาดโลกที่ต้องไต่ให้ถึง พอตั้งเป้าแบบนั้น รมว.พลังงานก็บอกว่าเหลือ 24 บาท เพื่อแสดงเมตตาธรรม นายกฯก็จะมาเกาะที่ 21 บาท นี่คือการประชุม ครม.ครั้งต่อไป ที่อาจออกมาแบบนี้เหมือนกรณีเอ็นจีวี ด้วยการตั้งราคาเพดานไว้สูงสุดเพื่อให้นักการเมืองแสดงเมตตาธรรม แต่นี่คือเทคนิคของนักค้าขายทั่วไป ต้องการราคานี้แต่เสนอราคาสูงสุดเพื่อการต่อรอง แต่เรื่องพลังงานไม่ควรเอามาปั่นหัวประชาชน เพราะคือสาธารณูปโภคขึ้นพื้นฐาน

ประชาชนรู้เรื่องการใช้พลังงานของภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม แต่ไม่ค่อยทราบภาคปิโตรเคมี จากข้อมูลปี 54 ประชาชน 60-70 ล้านคน ใช้อยู่ประมาณ 2.7 ล้านตัน นักวิชาการบางคนบอกใช้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ คือเอารถยนต์มารวมด้วย ภาคอุตสาหกรรมใช้ 7 แสนตัน แต่กลุ่มที่ไม่พูดเลยหรือพูดก็อ้อมๆ ก็คือ ภาคปิโตรเคมีใช้ถึง 2.4 ล้านตัน คิดเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ แล้วได้ราคาถูกสุดด้วย คือ 16.20 บาท

พอตรวจสอบการขึ้นราคาแอลพีจีมติครม.เมื่อ 4 ต.ค. 2554 สำหรับภาคอื่นๆ ให้ทยอยปรับราคาไปสู่ราคาโรงกลั่น ภาคครัวเรือนให้ตรึงไว้ก่อน แต่ปิโตรเคมีให้ผู้ซื้อผู้ขายตกลงราคากันเอง ทีนี้ปิโตรเคมีส่วนใหญ่ก็คือบริษัทลูกของปตท. ซื้อขายกับบริษัทแม่ราคาก็เลยออกมาคือ 16.20 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ชาวบ้านขนาดรัฐบาลอุ้มยังอยู่ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม หมายความว่าที่มาอ้างว่า 24 บาทไม่ใช่ความจริง เพราะปิโตรเคมียังใช้แค่ 16 บาทเอง แล้วก็กำไรด้วยยังขายกันได้ แต่พอขายให้ประชาชนบอกขาดทุน

สูตรกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นก็มาจากข้าราชการกระทรวงพลังงานพวกนี้ แล้วคนเหล่านี้ก็เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดทั้ง ปตท.และบริษัทลูก ได้โบนัสที่อิงกับผลกำไร แล้วเราจะเชื่อโครงสร้างราคาที่อยู่ภายใต้ผลประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างไร

นายอิฐบูรณ์กล่าวต่อว่า กรณีนี้เป็นการจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม ไล่มาตั้งแต่ปี 51 ให้ภาคปิโตรเคมีเข้าถึงแอลพีจีได้ก่อน ไม่พอค่อยนำเข้าทำให้ภาคอื่นๆ ต้องรับภาระการนำเข้าไป มาปีที่หนักหนาสาหัส คือ กำหนดให้ไต่ราคาหาโรงกลั่นน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันนำน้ำมันมาเพื่อเอาดีเซลเป็นหลักรองลงมาคือเบนซิน ส่วนแอลพีจีเป็นผลพลอยได้ น้ำมันดิบ 100 เปอร์เซ็นต์ได้แอลพีจี 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่เขาบอกว่าตอนนี้กำลังได้ราคาเพราะประชาชนกำลังหนีราคาน้ำมันแพง อย่ากระนั้นเลยเอามาขายก็ได้ ที่ผ่านมาก่อนปี 53 ผลิตได้เยอะมากแต่ไม่ปล่อยออกตลาด แล้วเสนอรัฐบาลต้องปรับราคาแอลพีจีใหม่เพื่อจูงใจให้ปล่อยออกสู่ตลาด และที่หนักคือระยะหลังมีการควบรวมกิจการโรงกลั่นกับกลุ่มอะโรเมติกส์เคมี ในชื่อบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล เป็นโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้ แล้วประกาศเป้าผลกำไรปีนี้มหาศาล เลยสอดคล้องกับการกดดันรัฐบาลให้ขึ้นราคาแอลพีจี เพื่อทำให้เป็นไปตามเป้าหรือไม่ กำไรคุณไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการบริหารงานเลย แต่จู่ๆ ก็มาเอาจากประชาชนไปเป็นผลกำไรของตัวเอง

ด้านนายวิฑูรย์กล่าวว่า ผู้ขับขี่แท็กซี่จะได้รับผลกระทบสองเด้ง คือแท็กซี่ที่ใช้แอลพีจีจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และค่าครองชีพก็เพิ่มด้วย แต่หากจะขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งผู้โดยสารถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณกับเรา เขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน หากขึ้นค่าโดยสารก็เหมือนว่าไม่ปกป้องผู้มีบุญคุณ กระทรวงพลังงานน่าจะทบทวนถึงผลกระทบ อย่างผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำงาน 8 ชั่วโมง แต่แท็กซี่ทำ 12 ชั่วโมง วันนึงได้น้อยกว่า 300 บาทเสียอีก แล้วที่มีปัญหาปฏิเสธผู้โดยสารก็เพราะหากไปแล้วเจอรถติดจะขาดทุน เนื่องจากชั่วโมงนึงได้ 90 บาท แต่ต้นทุนอยู่ที่ 130 บาท ก็เลยปฏิเสธอ้างไปส่งรถบ้างเติมไปแก๊สบ้าง บางครั้งก็วิ่งอ้อมเพื่อให้ค่าโดยสารสูงขึ้นดีกว่าไปเจอรถติดแล้วขาดทุน นี่คือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริง ทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ถือว่าเป็นกลุ่มแท็กที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ เรามีมติร่วมกันว่าขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว แต่ถ้ายังยืนยันเราก็ต้องดิ้นรนหาทางออก

เมื่อถามว่าหากรัฐบาลยังเดินหน้าขึ้นราคาแอลพีจีจะทำอย่างไร นายวิฑูรย์กล่าวว่า เราต้องประชุมหามาตรการ อาจชะลอให้บริการ วิ่งน้อยลงเพื่อไปหางานอื่นทำ หรือจอดรถประท้วงก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อาจต้องใช้ แต่การขึ้นค่าโดยสารจะเป็นมาตรการสุดท้าย

วิฑูรย์ แนวพานิช
กำลังโหลดความคิดเห็น