xs
xsm
sm
md
lg

กระทู้นอกสภา…การขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

1.คำนำ

ผมเขียนเรื่องนี้หลังจากได้ฟังคลิปการตอบกระทู้ของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน (คุณพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล) ที่ถามโดยคุณรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ (28 พ.ย. 55) เรื่องที่ถามเกี่ยวกับการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ผมรู้สึกว่ารัฐมนตรีตอบคำถามไม่ชัดเจน บางประเด็นไม่ได้ตอบและบางประเด็นก็เผลอตอบโดยไม่ให้เหตุผล ผมจึงขอตั้งกระทู้นอกสภารวมทั้งหาคำตอบมาให้ท่านผู้อ่านในเรื่องเดียวกันนี้ครับ

2. ขนาดเศรษฐกิจของก๊าซหุงต้ม: ไม่ใช่เรื่องขี้ไก่

ในปี 2554 คนไทยทั้งประเทศใช้ก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีจำนวน 6.89 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.33 แสนล้านบาท (เฉลี่ยกิโลกรัมละ 19.24 บาท-โปรดสังเกตตัวเลขนี้ไว้ครับ) และโดยอาศัยข้อมูล 9 เดือนแรกของปีนี้ คาดว่าการใช้ในปี 2555 ทั้งหมดจะมีมูลค่าประมาณ 1.42 แสนล้านบาท และจะมากกว่านี้อีกหลายเท่าถ้ารัฐบาลขึ้นราคาในปี 2556 ที่กำลังจะมาถึงได้สำเร็จ

สมมติว่ารัฐบาลขึ้นราคาไปเป็นกิโลกรัมละ 36 บาทในตอนสิ้นปีหน้าตามที่เป็นข่าว โดยจะค่อยๆ ทยอยขึ้นเป็นรายเดือนๆ ละ 0.50 บาทเป็นอย่างต่ำ มูลค่าทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5.4 แสนล้านบาทต่อปี

รัฐบาลกำลังใช้ทฤษฎีการต้มกบที่กล่าวว่า ถ้าโยนกบลงไปในน้ำร้อนทันที กบจะกระโดดหนี แต่ถ้าเอากบไปแช่ในน้ำธรรมดาแล้วค่อยๆ เพิ่มความร้อนให้น้ำ กบจะไม่กระโดดหนี แต่จะค่อยๆ ปรับตัวจนสุกตายในที่สุด จะฮาหรือเศร้าดีครับ?

ดังนั้น เรื่องก๊าซหุงต้มจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หรือที่สำนวนคนปักษ์ใต้เรียกว่า “ไม่ใช่เรื่องขี้ไก่” ที่จะมองข้ามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยยุคใหม่ที่ชาวชนบทที่ถูกล้างสมองว่าการใช้ไม้ฟืนหรือถ่านไม้ (ที่หาเองได้) เป็นเรื่องล้าสมัย คนเมืองก็ถูกบังคับให้ทำงานรัดตัวจนต้องพึ่งแกงถุงซึ่งต้องใช้ก๊าซ

3. ความไม่โปร่งใสของข้อมูล

แม้กระทรวงพลังงานจะให้ข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลจนแทบจะท่วมเว็บไซต์ แต่ก็อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจได้ยากและบางครั้งข้อมูลที่สำคัญก็จงใจไม่ยอมให้เอาเสียดื้อๆ เช่น ราคาก๊าซหุงต้มที่หน้าโรงกลั่นเท่ากันคือ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม แต่ขายให้กับกลุ่มผู้ใช้ในราคาต่างกัน คือภาคครัวเรือน (cooking) ที่ 18.13 บาท ภาคขนส่ง (automobile) 21.38 บาท และภาคอุตสาหกรรม (industry) 30.13 บาท ดังตารางข้างล่างนี้ซึ่งเป็นราคาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 55 (ที่มา http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html ราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นค่าภาษี กองทุนน้ำมัน ค่าการตลาด เป็นต้น)

แต่ปัญหาก็คือไม่ยอมเปิดเผยราคาที่ขายให้กับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีปริมาณการใช้มากเป็นอันดับสองรองจากภาคครัวเรือนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คงมีความตั้งใจปล่อยให้คนเข้าใจผิดคิดว่า ในภาคอุตสาหกรรมนั้นรวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วกระทรวงพลังงานมีนิยามชัดเจนว่า อุตสาหกรรมไม่รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

คุณรสนาซึ่งทราบข้อมูลมาก่อนแล้ว ได้ถามรัฐมนตรีว่า “ดิฉันทราบมาว่าราคาก๊าซแอลพีจีที่ขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกิโลกรัมละ 16.45 บาท อยากให้ท่านชี้แจง แต่ท่านก็อาจจะชี้แจงไม่ได้หรอก (เพราะท่านเพิ่งมารับตำแหน่ง-ผมคิดเอาเอง)” คงด้วยความรู้สึกว่าฉันก็รู้นะ (โว้ย) รัฐมนตรีตอบพร้อมอ่านจากเอกสารว่า “ในอดีตราคา 16.20 บาทต่อกิโลกรัม”

ต่ำกว่าที่ท่าน ส.ว.ทราบเสียอีก แต่ไม่มีการให้เหตุผลประกอบใดๆ ว่า ทำไม?

นี่เป็นข้อมูลใหม่สำหรับผม คือเป็นราคาที่ถูกกว่าในภาคครัวเรือนถึงเกือบ 2 บาทต่อกิโลกรัม สิ่งที่ประชาชนซึ่งทุกคนล้วนมีฐานะเป็นผู้บริโภคและในฐานะเจ้าของทรัพยากรอยากจะทราบก็คือว่า ทำไม? ใช้หลักการอะไรในการกำหนดราคาเช่นนี้ ในเมื่อบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งหมดเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งกระทรวงการคลังถือหุ้นเพียง 51% เท่านั้น

แต่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศกลับต้องซื้อทรัพยากรใต้แผ่นดินแม่ของตนเอง แต่กลับต้องจ่ายแพงกว่าเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ไม่รู้ว่า “หัวนอนปลายตีน” มาจากไหน

นอกจากนี้บางคนในกระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 20 เท่าตัว แต่ทำไมต้องขี้เหนียวซื้อวัตถุดิบในราคาที่ถูกกว่าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยผู้หาเช้ากินค่ำด้วยเล่า

4. โรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 กับบทเรียนท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย : คนไทยไม่ได้ใช้

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์และไทยรักไทยได้ริเริ่มโครงการโรงแยกก๊าซและท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ภายใต้หน่วยงานรับผิดชอบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.ตอนนั้นยังไม่ได้แปรรูป) ด้วยข้ออ้างว่าจะนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาพัฒนาประเทศ ฯลฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านและนักวิชาการทั่วประเทศ

ผมเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการดังกล่าว เราได้บอกต่อสังคมไทยในวันนั้นว่า ทั้งโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อนำก๊าซเฉพาะที่เป็นส่วนของมาเลเซีย(ที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อน-JDA) ไปใช้ในประเทศมาเลเซีย ไม่ได้ให้คนไทยใช้รวมทั้งก๊าซแอลพีจีด้วย ก๊าซในส่วนของไทยถูกนำไปใช้ที่มาบตาพุด แต่น่าเสียดาย ที่รัฐบาลได้ใช้ทั้งพลังเงิน ตำรวจและสื่อมวลชนหลอกคนไทยส่วนใหญ่ได้สำเร็จ

แม้ผมจะรู้สึกเสียใจที่ไม่อาจต้านทานความไม่ถูกต้องเอาไว้ได้ แต่ก็ยังรู้สึกเสียใจน้อยกว่าเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ คือ กรณีโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียเป็นแค่การเอาทรัพยากรของประเทศมาเลเซียไปให้คนมาเลเซียใช้ เพียงแต่โรงแยกตั้งอยู่และท่อก๊าซผ่านประเทศไทยโดยกระทบสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนไทย

แต่โรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 (มาบตาพุด จ.ระยอง) ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นการนำทรัพยากรปิโตรเลียมใต้แผ่นดินไทยไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.) โดยไม่ยอมขายให้คนไทยในภาคครัวเรือน/ยานยนต์/อุตสาหกรรม เขาเขียนไว้อย่างนั้นจริงๆ แม้คนเหล่านั้นจะอยู่ในสภาพที่ไม่มีก๊าซจะใช้ก็ตาม

ผมนึกถึงแม่นกซึ่งถูกจัดให้เป็นประเภทสัตว์เดรัจฉาน อุตส่าห์หาอาหารมาป้อนลูกๆในรังแล้วรู้สึกสะท้อนใจ ทำไมรัฐบาลไทยจึงใจดำเอาก๊าซแอลพีจีซึ่งเป็นของคนไทยทุกคนไปป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมโดยไม่ยอมให้คนไทยผู้เป็นเจ้าของใช้

สรุปกระทู้นอกสภาในประเด็นนี้ก็คือ ทำไมรัฐบาลจึงได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงต่อประชาชนของตนเองได้ถึงขนาดนี้ ทั้งที่ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซหุงต้ม แต่กลับถูกผลักไสให้ไปใช้สินค้านำเข้าที่มีราคาสูงกว่าถึงสองเท่า ดังจะกล่าวต่อไป

5. การผลิต ที่มาของวัตถุดิบ และการใช้ก๊าซหุงต้ม

จะทำความเข้าใจเรื่องราคา เราจำเป็นต้องรู้ที่มาที่ไปของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตก๊าซหุงต้มกันก่อนนะ

ก่อนปี 2551 ต่อเนื่องกันมากว่า 20 ปี ประเทศไทยผลิตก๊าซแอลพีจีได้มากกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาเราเริ่มมีการนำเข้าเพราะภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34 ต่อปี ในขณะที่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นปีละ 9%

ในปี 2554 มีการใช้ทั้งประเทศ 6.9 ล้านตัน โดยภาคครัวเรือนใช้มากที่สุดคือ 2.6 ล้านตัน (39%) รองมาเป็นภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2.4 ล้านตัน (35%) ภาคยานยนต์ 0.9 ล้านตัน (13%) และภาคอุตสาหกรรม 0.7 ล้านตัน (10%) โดยผลิตเองได้ 5.5 ล้านตัน และมีการนำเข้า 1.4 ล้านตัน

โรงงานผลิตก๊าซแอลพีจีมี 2 ส่วน คือ หนึ่ง โรงแยกก๊าซธรรมชาติ 6 โรง วัตถุดิบทั้งหมดมาจากภายในประเทศทั้งในอ่าวไทยและบนบก ทั้ง 6 โรงนี้ผลิตได้ 55% (ของปริมาณการใช้หรือ 3.8 ล้านตัน) สอง โรงกลั่นน้ำมัน 7 โรง ผลิตได้ 23% (1.6 ล้านตัน) ในจำนวนนี้ใช้น้ำมันดิบจากประเทศไทยประมาณ 1 ใน 4 (จากการรวบรวมข้อมูลของผมเองเมื่อ 3 ปีก่อน) อีก 3 ใน 4 เป็นน้ำมันดิบนำเข้า

ดังนั้น โดยสรุป ก๊าซแอลพีจีที่ถูกใช้ในประเทศไทยทั้งหมด ประมาณ 60% มาจากวัตถุดิบในประเทศไทยเราเอง ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ราคาก๊าซแอลพีจีที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศนั้นเป็นเท่าใด? ต่ำกว่าราคานำเข้าเท่าใด และจะคิดราคาเฉลี่ยกันอย่างไร?

6. ราคาก๊าซแอลพีจีที่ผลิตในประเทศไทยเป็นเท่าใด

ด้วยเหตุผลเดียวกับที่กล่าวแล้วในข้อ 3 คือ รัฐบาลไม่เปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส เข้าใจง่ายและอย่างเป็นทางการในเว็บไซต์ บางครั้งภาคประชาชนก็ได้จากคำสัมภาษณ์หรือจากคำบรรยายของนักการเมืองและข้าราชการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

โดยปกติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะประกาศหรือเปิดเผยราคาก๊าซธรรมชาติพร้อมค่าภาคหลวง และโดยสัญญาแล้ว การคิดค่าภาคหลวงจะคิดกันตามอัตราของราคาที่ปากหลุม หลังจากนั้นราคาก็จะเพิ่มขึ้นไปตามค่าผ่านท่อก๊าซ ซึ่งก็ไม่มีการเปิดเผยอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ให้ราคาก๊าซแอลพีจีจากแหล่งสิริกิติ์ ไว้ด้วย โดยราคาเฉลี่ย 34 เดือนอยู่ที่ประมาณ 9.55 บาทต่อกิโลกรัม และเป็นที่น่าสังเกตว่าราคาเกือบคงที่ตลอด ไม่ได้แปรผันตามราคาตลาดโลก ตามที่รัฐบาลชอบอ้างถึงเป็นประจำว่าราคา 900-1,000 ดอลลาร์ต่อตัน (หรือ 28 ถึง 31 บาทต่อกิโลกรัม)

แต่ราคาที่แหล่งสิริกิติ์ตลอดเกือบ 3 ปี (มกราคม 53 ถึง ตุลาคม 55) เกือบคงที่ครับ และราคาที่ประกาศหน้าโรงกลั่นน้ำมันเกือบจะคงที่ด้วย โดยสูงกว่าราคาจากแหล่งสิริกิติ์ประมาณ 1 บาท
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 แหล่งนี้ผลิตแอลพีจีได้ทั้งสิ้น 76.4 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 808 ล้านบาท (ได้ค่าภาคหลวง 12.5%) เฉลี่ยแล้วได้กิโลกรัมละ 9.55 บาท โดยที่ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเฉลี่ยเท่ากับ 10.44 บาท

ผมพยายามค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ ในโลก แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องเสียเงินจึงจะเข้าดูได้ มีอยู่ที่เดียวที่ไม่ต้องเสียเงินคือ http://www.indexmundi.com ซึ่งมีกราฟให้เสร็จสรรพในรูปของเงินบาทเสียด้วย (แต่มีเฉพาะโพรเพนซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแอลพีจี) เป็นราคาที่ท่าเรือ (F.O.B.) ข้างล่างนี้คือข้อมูลดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วในช่วง มกราคม 2553 ถึง ตุลาคม 2555

โปรดพิจารณาตัวเลขสำคัญๆ จากกราฟแล้วเทียบกับข้อมูลของภาครัฐและข้อมูลของผมที่กล่าวมาแล้ว โปรดอ่านอย่างช้าๆ ครับ

จากกราฟดังกล่าว เราจะเห็นว่าราคาก๊าซโพรเพน (หรือแอลพีจี) ในสหรัฐอเมริกามีการขึ้นลงตามฤดูกาล ในช่วงฤดูหนาวจะมีราคาแพง แต่ก็สูงสุดอยู่ที่ตันละ 710 ดอลลาร์เท่านั้น ไม่ใช่ 900 หรือ 1,000 ตามที่กระทรวงพลังงานได้บอกกับสังคมไทยมาตลอดโดยไม่จำแนกฤดูกาล จากกราฟราคาโพรเพนดังกล่าว เราสามารถหาค่าเฉลี่ยเท่ากับ 16.76 บาทต่อกิโลกรัมหรือประมาณ $520 ต่อตันเท่านั้น ไม่ใช่ $900-$1,000

นั่นแปลว่า ราคาในสหรัฐอเมริกาซึ่งผลิตและใช้ก๊าซมากที่สุดในโลกก็ไม่ได้มีราคาแพงมากเหมือนที่รัฐบาลไทยนำมาขู่คนไทยให้จำยอม

อนึ่ง ผมขอเพิ่มข้อมูลจาก U.S. Energy Information Administration ปี 2551 ว่าสหรัฐอเมริกาผลิตก๊าซแอลพีจีจากโรงกลั่นได้มากที่สุดในโลก โดยที่ประเทศไทยตามมาเป็นอันดับที่ 13 (ประมาณ 1 ใน 10 ของที่สหรัฐฯ ผลิตได้)

ขออีกสักอนึ่งครับ ข้อมูลจากคำสัมภาษณ์ของนายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (ไม่ระบุวันที่-ดังปัญหาที่กล่าวมาแล้ว) ว่าต้นทุนจากโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 14.10 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งก็ไม่ได้ให้เหตุผลอีกเช่นกันว่า ทำไมจึงสูงกว่าแหล่งสิริกิติ์ไปถึง 3.55 บาท สำหรับต้นทุนโรงกลั่นอยู่ที่ประมาณราคา $744 /ตัน หรือประมาณ 23.33 บาท/ก.ก.(แต่ราคาหน้าโรงกลั่นที่ 10 ธ.ค.55 เท่ากับ 10.26 เท่านั้น) ต้นทุนนำเข้าอยู่ที่ประมาณราคา $934 /ตัน หรือประมาณ 29.28 บาท/กก.

โปรดสังเกตนะครับว่า ตัวเลขของทางราชการซึ่งไม่อ้างแหล่งที่มามีราคาสูงกว่าข้อมูลของผมซึ่งอ้างแหล่งที่มาทั้งจากของทางราชการเองและสหรัฐอเมริกา

7. การคิดราคาเฉลี่ยของรัฐบาลมีปัญหา

จากข้อมูลของทางราชการล้วนๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว คือ ต้นทุนโรงแยก โรงกลั่น และนำเข้าที่ 14.10 , 23.33 และ 29.28 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ต้นทุนเฉลี่ยจะเท่ากับ 19.56 บาทต่อกิโลกรัม

แต่ถ้าใช้ข้อมูลที่ผมกล่าวมาแล้ว คือ ราคาโรงแยกจากแหล่งสิริกิติ์ 9.55 บาท/ก.ก. นำเข้า (ผมคิดที่ราคา F.O.B.บวก 2 บาทสมมุติ) คือ 19 บาท/ก.ก. และราคาโรงกลั่น 17.80 บาท/ก.ก.(มาจากราคาโรงกลั่น 10.26 บวกค่าชดเชยอีก 6.54 ซึ่งจะบอกที่มาภายหลัง) ต้นทุนเฉลี่ยทั้งหมดก็จะเท่ากับ 13.53 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น น้อยกว่าที่รัฐบาลคิดถึง 6.03 บาท/ก.ก.

ถ้านำต้นทุนเฉลี่ยที่ 13.53 บาทต่อกิโลกรัมมารวมกับภาษีทุกชนิดและค่าการตลาดแล้วราคาขายปลีกควรจะอยู่ที่ 22.90 บาทเท่านั้น โดยไม่ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชย

ไม่ใช่ 36 บาทตามที่รัฐบาลได้หมายมั่นปั้นมือเอาไว้

รัฐบาลอ้างว่าได้นำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยให้โรงกลั่นสำหรับราคาแอลพีจีโดยเฉพาะ ในปี 2554 ชดเชยไปจำนวน 10,471 ล้านบาท (ข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน 31 ก.ค. 55) โดยที่โรงกลั่นผลิตได้ 1.6 ล้านตัน จิ้มเครื่องคิดเลขแล้ว พบว่าโดยเฉลี่ยภาครัฐได้ชดเชยไปกิโลกรัมละ 6.54 บาท และจากข้อมูลเดียวกันนี้ระบุว่า ในปี 2554 มีการชดเชยการนำเข้าแอลพีจีจำนวน 25,801 ล้านบาท จำนวน 1.4 ล้านตัน หรือมีการชดเชยการนำเข้าถึงกิโลกรัมละ 18.43 บาท

เหตุผลที่ผมต้องถลำลึกเข้ามาคิดในรายละเอียด ทั้งๆ ที่ข้อมูลบางส่วนไม่ชัดเจนก็เพราะอยากจะทราบตัวเลขคร่าวๆ เท่านั้น แต่เหตุผลและข้อมูลที่จะเสนอต่อไปนี้คือความคิดรวบยอดในการคัดค้านการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มครั้งนี้

7. ข้อเสนอของภาคประชาชน

ในการตั้งกระทู้ของคุณรสนา โตสิตระกูล ในวันนั้นได้เสนอว่า ให้รัฐบาลออกมติคณะรัฐมนตรีให้ภาคประชาชนทั้งภาคครัวเรือน ยานยนต์ และอุตสาหกรรม (ซึ่งส่วนใหญ่กิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง) เป็นผู้ที่ได้ใช้ก๊าซที่ใช้วัตถุในประเทศไทยก่อน โดยต้นทุนก๊าซแอลพีจีให้เป็นตามราคาเดียวกับที่บริษัทรับสัมปทานในแหล่งสิริกิติ์ได้จ่ายค่าภาคหลวงคือประมาณ 9.55 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนที่เหลือจึงให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นผู้ใช้ หากไม่พอ (ซึ่งขาดอยู่ 1.4 ล้านตัน) ก็ให้เจ้าของกิจการเป็นผู้สั่งนำเข้าเอาเอง สำหรับเรื่องที่จะขึ้นราคาหรือไม่นั้น คุณรสนาได้เสนอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนพร้อมกับให้ข้อมูลที่แท้จริงให้ครบถ้วนเสียก่อน

8. สรุป

บทความนี้อาจจะยาวสักนิด ขอท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณว่าเหตุผลรวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้ในการขอขึ้นราคาครั้งนี้มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ แต่สำหรับผมขอสรุปกระทู้ด้วยความมั่นใจว่ารัฐบาลกำลังประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (เมื่อเทียบกับแม่นก) กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรใต้แผ่นดินแม่ของตนเองครับผม
กำลังโหลดความคิดเห็น