“กิตติรัตน์” นั่งหัวโต๊ะประชุม “คมนาคม-พาณิชย์” เคาะโครงสร้างราคา “แอลพีจี” วันนี้ เพื่อชะลอนำเข้าไม่ให้ทะลุ 2 แสนตันต่อเดือน “พลังงาน” ยอมรับ ยอดการใช้ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือนแรกปี 55 เฉลี่ยเดือนละ 6 แสนตัน ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องใช้เงินเข้าไปอุ้มแล้วเกือบ 9 หมื่นล้าน คาดอุ้มภาคครัวเรือนต่อถึงสิ้นปี
รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเป็นประธานการประชุมร่วมกับคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสรุปแนวทางการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (แอลพีจี) ทั้งระบบ เพื่อชะลอการนำเข้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง และใกล้ทะลุ 2 แสนตันต่อเดือนแล้ว ซึ่งกำลังสร้างปัญหาลุกลามไปหลายด้าน ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องจ่ายชดเชยการนำเข้าแอลพีจีและโรงกลั่นรวมแล้วเป็นเงินสูงถึง 8.92 หมื่นล้านบาท
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ยอมรับว่า ปริมาณการใช้แอลพีจีในประเทศ 9 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงขยายตัว 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือใช้ทั้งสิ้นเฉลี่ย 6.05 แสนตันต่อเดือน ทำให้ต้องนำเข้าเฉลี่ย 1.48 แสนตันต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 34.5%
ขณะนี้ ธพ. ต้องพยายามคุมการนำเข้าไม่ให้เกิน 1.8 แสนตันต่อเดือน เพราะจะเกินความสามารถคลังของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เขาบ่อยา ซึ่งสามารถรองรับได้เพียง 1.3 แสนตันต่อเดือน โดยมีการใช้เรือลอยลำนำเข้ามา แต่หากมีเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายแพงมากตามไปด้วย
ดังนั้น ธพ. จึงขอความร่วมมือไปยังผู้ค้าแอลพีจีที่จะต้องคุมยอดขายไม่ให้สูงเกินไปกว่าปกติ เพื่อจัดสรรก๊าซแอลพีจีให้เพียงพอ ทั้งภาคขนส่ง อุตสาหกรรม และครัวเรือน โดยจะต้องรับฟังความเห็นของหน่วยงานอื่นๆ แต่ยืนยันว่า การตัดสินใจจะดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ โดยมติเดิม ครม. ให้ตรึงราคาภาคครัวเรือนไปจนถึงสิ้นปีนี้