รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจหลบฉากเลื่อนถกปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีที่นัดหารือวันนี้ (25 ต.ค.) ออกไปไร้กำหนด หลังรายชื่อรัฐมนตรี ครม.ปู 3 โผล่ออกมาไร้ชื่อรัฐมนตรีบางคนโดยเฉพาะ รมว.พลังงาน โยนเผือกร้อนรัฐมนตรีใหม่ตัดสินใจ จับตาเฮียเพ้งรับหน้าเสื่อหากได้เก้าอี้พลังงานจริง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า การประชุมกระทรวงเศรษฐกิจที่นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน ได้นัดหารือร่วมกันถึงการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีวันนี้ (25 ต.ค.) ต้องถูกยกเลิกกะทันหันและเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดภายหลังมีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 3 โดยเฉพาะหัวเรือใหญ่กระทรวงพลังงานที่ปรับเป็นนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ที่เข้ามาควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานคนใหม่
“เมื่อมีกระแสข่าวการปรับโผ ครม.3 ออกมาก็ถือเป็นมารยาททางการเมืองที่จะให้รัฐมนตรีใหม่เข้ามาตัดสินใจดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ถือเป็นการโยนเผือกร้อนให้กับ ครม.ใหม่อะไร เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นแต่ละคนย่อมอาจไม่เหมือนกันก็คงจะต้องมากรองกันอีกขั้น แต่รายละเอียดก็เชื่อว่าทุกหน่วยงานได้ทำไว้พร้อมหมดแล้ว เหลือเพียงการตัดสินใจในระดับนโยบาย” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ หาก รมว.พลังงานคนใหม่เป็นนายพงษ์ศักดิ์จริงจึงถือเป็นงานหินเรื่องแรกที่จะต้องมาตัดสินใจ เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้จัดทำรายละเอียดไว้ซึ่งที่สุดจะต้องเดินหน้าปรับราคาแอลพีจีทั้งระบบเนื่องจากเฉลี่ยราคาแอลพีจี 1,001 เหรียญต่อตัน (ยังไม่รวมค่าขนส่งและบริหารจัดการ) คิดเป็นราคาแอลพีจี 40 บาทต่อกิโลกรัม หรือเฉลี่ย 20 บาทต่อลิตร หากเทียบกับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินยังคงถูกกว่ามาก
ขณะที่ราคาแอลพีจีของไทยซึ่งเฉลี่ยราคาแอลพีจีนำเข้ากับแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศเฉลี่ยแอลพีจีที่แท้จริงจะอยู่ที่ 24-25 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาภาคปิโตรเคมีสะท้อนกลไกตลาดแล้ว ขณะที่ 3 ส่วน คือ ภาคอุตสาหกรรมราคาอยู่ที่ 31.13 บาทต่อ กก. แอลพีจีขนส่งอยู่ที่ 21.38 บาทต่อ กก. และแอลพีจีครัวเรือนอยู่ที่ 18.13 บาทต่อ กก. ซึ่งจำเป็นต้องปรับโครงสร้างราคาให้เหมาะสมเพราะการอุดหนุนราคาเป็นการดึงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บจากผู้ใช้กลุ่มเบนซินมาอุดหนุนซึ่งไม่เป็นธรรม โดยตั้งแต่มีการอุดหนุนราคาแอลพีจีนับตั้งแต่ปี 2551 จนถึง ก.ย. 55 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องชดเชยการนำเข้าแอลพีจีและโรงกลั่นรวมแล้ว 8.92 หมื่นล้านบาท