xs
xsm
sm
md
lg

กรณีหนี้กองทุนน้ำมันฯ : ปตท.คือผู้ร้ายตัวจริง

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในขณะที่กระทรวงพลังงานกำลังรณรงค์ “รวมพลังปลดดินพอกหางหมู” ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อขอขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ให้เท่ากับราคาในตลาดโลก เพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเป็นหนี้มากกว่านี้ คือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท แต่ปรากฏว่า คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กลับสวนกระแสว่า ให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเงินที่ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณหนึ่งแสนล้านบาทคืนให้แก่กองทุนน้ำมันฯ โดยเร็ว

อ้าว อย่างไรกันนี่!

ในตอนท้ายของบทความนี้ผมได้แนบเอกสารประกอบการแถลงข่าวของคณะอนุฯชุดดังกล่าวมาลงโดยไม่มีการตัดต่อแต่อย่างใด แต่ก่อนอื่นผมขอสรุปสั้นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

ความเดิมมีอยู่ว่า เมื่อหลายปีก่อนประเทศไทยเคยผลิตก๊าซหุงต้มได้มากกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ จนต้องมีการส่งออก แหล่งที่มาของก๊าซหุงต้ม (หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว เรียกย่อๆ ว่าแอลพีจี) มาจากสองแหล่งคือโรงแยกก๊าซกับโรงกลั่นน้ำมัน

วัตถุดิบที่ใช้ป้อนเข้าโรงแยกก๊าซทั้งหมดมาจากแหล่งปิโตรเลียมภายในประเทศซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรของประชาชนไทยทั้งประเทศ สำหรับวัตถุดิบที่ป้อนเข้าโรงกลั่นน้ำมันนั้นส่วนมาก (ประมาณ 3 ใน 4) เป็นน้ำมันดิบซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ที่เหลืออีก 1 ใน 4 เป็นน้ำมันดิบที่ขุดได้จากประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เฉพาะก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอสำหรับให้ภาคประชาชนใช้ซึ่งได้แก่ภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ใช้ แต่ต่อมาหลังปี 2551 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ได้นำก๊าซแอลพีจีเป็นจำนวนมากไปใช้เป็นวัตถุดิบ (ไม่ใช่เชื้อเพลิง) จึงส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศมาเพิ่ม

ที่เป็นปัญหามากกว่านั้นก็คือ ราคาก๊าซแอลพีจีที่ภาคอุตสาหกรรมซื้อไปใช้นั้นทั้งก่อนและหลังช่วงที่มีการนำเข้านั้นเป็นราคาที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาจากไหน? ก็มาจากการเก็บไปจากผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกคนซึ่งก็คือประชาชนนั่นเอง มูลค่าที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับการชดเชยราคาไปแล้วก็ประมาณหนึ่งแสนล้านบาท

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาระดับราคาเชื้อเพลิงไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป ยามใดที่น้ำมันดิบมีราคาต่ำรัฐบาลก็เก็บเงินเข้ากองทุนฯ ยามใดที่น้ำมันดิบมีราคาสูงเกินไปก็ดึงเงินจากกองทุนมาอุดหนุน ยามใดที่รัฐบาลจะหาเสียงก็ดึงเงินกองทุนน้ำมันฯ มาชดเชยมากหน่อย แต่ต่อมารัฐบาลก็นำเงินกองทุนน้ำมันฯ มาชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีด้วย ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบของ “เชื้อเพลิง” เหมือนเดิม แต่กองทุนน้ำมันฯ ไม่เคยมีวัตถุประสงค์เพื่อชดเชยราคาวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมใดเลย

แต่ในช่วงประมาณ 10 ปีมานี้ได้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้น ซึ่งวัตถุดิบของอุตสาหกรรมนี้ก็คือก๊าซแอลพีจี โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่วนใหญ่เป็นของ ปตท. จึงได้ซื้อวัตถุดิบไปใช้ในราคาที่ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันซึ่งเป็นกองทุนที่เก็บหอมรอมริบมาจากประชาชน

นี่คือเหตุผลที่คณะอนุกรรมาธิการฯ อ้างให้ “การทวงคืนโดยเร็ว” (ในข้อ 4 ของใบแถลงข่าว)

อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในข้อที่ 3 ของเอกสารแถลงข่าวคือ การสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยคิดค่าตอบแทนในอัตราที่ต่ำมาก คือต่ำที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน และต่ำกว่าราคาในตลาดโลกถึง 40% ส่งผลให้หน่วยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีในปี 2554 ถึงกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 54.3% ของทุกธุรกิจในเครือ ปตท.ทั้งหมด

ตารางข้างล่างนี้ ได้แสดงถึงผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีรวม 6 หน่วยธุรกิจกว่า 1.55 แสนล้านบาท

แปลกดีแท้นะครับ ตอนขอสัมปทานแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียม ปตท.สผ. (รวมทั้งบริษัทรับสัมปทานอื่นๆ ด้วย) ได้บริษัทได้รับปิโตรเลียมในราคาที่ต่ำกว่าตลาดโลกถึง 40% แต่เวลาจะขายสินค้าให้กับเจ้าของทรัพยากรกลับขอขายในราคาตลาดโลก ข้างล่างนี้เป็นเอกสารแถลงข่าวของคณะอนุฯ ทุกตัวอักษรครับผม

เอกสารประกอบการแถลงข่าว

เรื่อง “ปัญหาและทางออกกรณีก๊าซแอลพีจี”


จากความพยายามของกระทรวงพลังงาน ในการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือก๊าซแอลพีจี ในภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ โดยมีการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า โฆษณาดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและบิดเบือน โดยมีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

จากสถานการณ์การใช้ก๊าซแอลพีจีในปัจจุบัน ประกอบด้วยผู้ใช้สองกลุ่มใหญ่ คือ ภาคประชาชน ประกอบด้วย ภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมทั่วไป ทั้งนี้ ในปี 2554 ปริมาณการใช้ของทั้งสองภาคมีปริมาณใกล้เคียงกันคือ ภาคประชาชน มีสัดส่วนร้อยละ 51.8 (ใช้รวม 3.57 ล้านตัน ครัวเรือน 2.65 ล้านตัน ยานยนต์ 0.92 ล้านตัน) ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้ร้อยละ 48.2 (ใช้รวม 3.32 ล้านตัน ปิโตรเคมี 2.6 ล้านตัน อุตสาหกรรมทั่วไป 0.72 ล้านตัน) จึงเห็นได้ว่าปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีครึ่งหนึ่งเกิดจากภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ปตท ที่มีการขยายตัวอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศ ดังนั้น การให้ข้อมูลว่าปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากภาคครัวเรือนและยานยนต์ที่มีการใช้อย่างสิ้นเปลือง จึงเป็นข้อมูลที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง

เพื่อแก้ไขปัญหาภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการกำหนดราคาแอลพีจีที่เป็นธรรมต่อประชาชน จึงมีข้อเสนอดังนี้

1. รัฐควรจัดลำดับความสำคัญในการใช้ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติให้ภาคประชาชนใช้ก่อน เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลพีจีมาจากแผ่นดินไทยอันเป็นทรัพยากรของประชาชน ทั้งนี้ในปี 2554 โรงแยกก๊าซฯ มีกำลังการผลิตก๊าซแอลพีจีได้ 3.60 ล้านตัน (ภาคประชาชนใช้ 3.57 ล้านตัน) โดยในปี 2555 คาดว่าจะผลิตได้ 3.88 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ของภาคประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้นก๊าซแอลพีจีส่วนที่เหลือจากการใช้ของภาคประชาชนให้จำหน่ายกับภาคอุตสาหกรรมได้ หากไม่เพียงพอให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้รับภาระในการนำเข้าเอง

2. เนื่องจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นระบบสัมปทานที่รัฐได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต่ำที่สุดในอาเซียน ทำให้ผู้รับสัมปทานมีต้นทุนการผลิตก๊าซแอลพีจีที่ต่ำ เช่น แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ อันเป็นแหล่งใหญ่มีพื้นทีครอบคลุมถึง 5 จังหวัดได้แก่ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ มีต้นทุนการผลิตแอลพีจีบวกกำไรของผู้รับสัมปทาน อยู่ที่ประมาณ 9 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่ราคาค้าปลีกแอลพีจีที่จำหน่ายให้แก่ภาคครัวเรือน และภาคยานยนต์ ซึ่งรวมกำไรของผู้ค้าและภาษีแล้ว อยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม และ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ จึงเป็นราคาที่ผู้ค้าได้กำไรมากอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่สมควรที่รัฐจะให้มีการปรับราคาแอลพีจีกับภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์เพิ่มขึ้นอีก (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากงบการเงินของ บมจ.ปตท.)

3. ให้เลิกนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนการใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบของธุรกิจปิโตรเคมี ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกประมาณร้อยละ 40 การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนให้ภาคปิโตรเคมีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่แรกเริ่ม ที่มีขึ้นเพื่อรักษาระดับราคาพลังงาน มิใช่เพื่อไปอุดหนุนราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะ จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่ออุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับการอุดหนุน และยังเป็นการเอาเปรียบประชาชน ผู้เป็นเจ้าของกองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย

4. จากข้อมูลปริมาณแอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซฯ ในประเทศ ซึ่งพอเพียงต่อการใช้ของภาคประชาชน ดังที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 1 ดังนั้น ปัญหาหลักที่ต้องมีการนำเข้าแอลพีจี และมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากประชาชนเกิดจากนำเงินไปอุดหนุนธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งเป็นบริษัทในเครือบมจ.ปตท ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรม จึงควรให้ บมจ.ปตท. ส่งคืนเงินที่ได้รับชดเชยส่วนต่างราคาแอลพีจีนำเข้าไปแล้วประมาณหนึ่งแสนล้านบาทให้แก่กองทุนน้ำมันฯ โดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนน้ำมันฯ ที่นำไปชดเชยให้ภาคปิโตรเคมีนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

5. ให้ปลัดกระทรวงและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานแสดงความรับผิดชอบต่อการนำเสนอนโยบายที่เป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมในความพยายามสร้างผลกำไรให้ภาคธุรกิจพลังงานเกินสมควร ด้วยการลาออกจากการเป็นกรรมการของธุรกิจพลังงานทั้งหมด เนื่องจากการรับเงินเดือน โบนัส และเบี้ยประชุมจากบริษัทพลังงานของข้าราชการเป็นการกระทำที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ จึงนำมาซึ่งปัญหาดังกล่าวข้างต้น และเป็นการกระทำที่ผิดหลักธรรมาภิบาลสากลอย่างร้ายแรง

แถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2555 โดย คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น