xs
xsm
sm
md
lg

ก๊าซและน้ำมัน แพงเท่าไหร่ที่พวกคุณจะทนไม่ไหว!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในสมรภูมิการต่อสู้ทางด้านการเมือง ไม่มีอะไรจะชัดเจนไปกว่าการขีดเส้นแบ่งระหว่าง “ผลประโยชน์ของนักการเมือง ข้าราชการ และกลุ่มทุนเพียงไม่กี่คน” กับ “ผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ” ว่าประชาชนควรจะยืนอยู่ข้างไหน

ไม่มีประโยชน์อีกต่อไปที่จะขีดแบ่งเส้นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง “ฝ่ายทักษิณ” กับ “ฝ่ายตรงกันข้ามทักษิณ” เพราะกาลเวลาได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าฝ่ายไหนที่ขึ้นสู่อำนาจแล้วต่างก็โกงบ้านกินเมืองเหมือนๆ กัน และมีความอำมหิตโหดเหี้ยมพอๆ กันในการปล้นผลประโยชน์ของประชาชน

ตัวอย่างเช่น ในทุกวันนี้ประชาชนตาดำๆ ได้แต่มองการประกาศขึ้นราคาน้ำมัน และการทยอยขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติไปเรื่อยๆ กลุ่มทุนพลังงานได้ปล้นประชาชนคนไทยทั้งประเทศ แต่ที่อำมหิตและโหดเหี้ยมก็เพราะเป็นการปล้นที่ประชาชนไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังถูกปล้นไปอย่างไม่เป็นธรรรม เหตุก็เพราะว่าเงินที่เราต้องจ่ายราคาแพงในการเติมน้ำมันนั้นต้องเอาไปให้กองทุนพลังงานไปจ่ายค่าชดเชยเกือบครึ่งหนึ่งเพื่อไปแบกรับให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมและกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นกลุ่มธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรสูงสุด เป็นมหาเศรษฐี มีสัดส่วนในการใช้ก๊าซแอลพีจีในปี 2554 สูงถึง 48% ดังนั้นยิ่งมีต้นทุนก๊าซแอลพีจีต่ำกว่าตลาดโลกเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีกำไรมากขึ้นเท่านั้นหรือไม่ก็สามารถแย่งชิงตลาดต่างประเทศได้มากกว่าชาติอื่น

แต่ปัญหาสำคัญก็คือความร่ำรวยของคนเพียงไม่กี่คนกลุ่มนี้กลับต้องให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซินต้องแบกรับเอาไว้ จะมีความเป็นธรรมได้อย่างไร?

เพราะทรัพยากรพลังงานถือเป็นทรัพย์สมบัติของคนไทยทั้งประเทศ การใช้ทรัพยากรเหล่านี้จึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่เน้นการสร้างความร่ำรวยให้กับพ่อค้าหรือนายทุน

แต่ทุกวันนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะค่าภาคหลวงและผลตอบแทนรัฐอยู่ในอัตราที่ต่ำ แต่ประชาชนก็ไม่ได้ใช้ในราคาพลังงานที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของตนเอง แต่เมื่อต้องให้ประชาชนที่ใช้น้ำมันเบนซินแบกรับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติแล้ว ก็กลับเอากลุ่มอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันแบกรับไปด้วย

ฉากบังหน้าที่อ้างว่าประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซินต้องแบกรับประชาชนผู้ใช้ก๊าซในการหุงต้มและใช้ก๊าซเป็นพลังงานในยานพาหนะนั้น จึงเป็นการเอาประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นตัวประกันเพื่อให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมและกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับประโยชน์สูงสุดในการให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันทั้งประเทศแบกรับเอาไว้จนหลังแอ่น

ที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศนี้ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และการเลือกตั้งเป็นเพียงแค่เปลือกหรือเสื้อคลุมภายนอกที่เป็นการหลอกว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อหาความเป็นจริงของแก่นแท้ของประเทศในทุกวันนี้กลับเป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งที่พร้อมเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนในการปล้นชาติและประชาชนกันอย่างเมามัน

วันดีคืนดีก็อ้างว่าประชาชนคนในประเทศใช้ก๊าซแอลพีจีกันมากขึ้นจึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อ้างว่าประชาชนใช้ก๊าซแอลพีจีกันผิดประเภท และแนะนำว่าประชาชนควรจะหันไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทน อีกทั้งควรจะให้ก๊าซแอลพีจีเหล่านี้ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ใช้เพราะได้มูลค่าผลตอบแทนกลับมามากกว่า ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วปัญหาทั้งหมดเกิดจากการใช้มากขึ้นแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่วนใหญ่อยู่ในมือของกลุ่มเครือบริษัทลูกของ ปตท.ที่มาแย่งทรัพยากรของประชาชนคนในประเทศต่างหาก

การใช้ก๊าซแอลพีจีสำหรับรถยนต์นั้นความจริงแล้วไม่ได้เป็นการใช้ผิดประเภท ดังตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ประเทศออสเตรเลีย ได้ปรากฏข่าวว่ารัฐบาลได้ประกาศให้เงิน 1,000 ดอลลาร์ สำหรับผู้ที่ซื้อรถใหม่ที่ติดตั้งระบบก๊าซแอลพีจี รวมถึงยังจ่ายให้อีก 2,000 ดอลลาร์สำหรับรถยนต์ที่ได้เปลี่ยนเครื่องยนต์ให้มาใช้ก๊าซแอลพีจี

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เกาะฮ่องกงได้ส่งเสริมการใช้ก๊าซแอลพีจีในรถแท็กซี่ และรถประจำทางขนาดเล็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 และโครงการได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2546 ต่อมารถแท็กซี่ทั้งหมดได้เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทนน้ำมันดีเซล และมีรถประจำทางขนาดเล็ก 2,500 คันที่ใช้ก๊าซแอลพีจี

ดังนั้นการใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์นั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่การใช้ก๊าซผิดประเภทตามที่มีการกล่าวอ้างแต่ประการใด

ดังนั้นการนำก๊าซที่นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาผสมในการคิดราคากับประชาชนและกลุ่มธุรกิจทุกกลุ่มให้แบกรับในราคาเฉลี่ยเท่าๆ กันนั้น ไม่มีความเป็นธรรมเลยแม้แต่น้อย เพราะประชาชนใช้พลังงานเพราะความจำเป็นในการดำรงชีวิต แต่กลุ่มอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้พลังงานบนความโลภและการแสวงหาผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นเพียงไม่กี่คน

จึงถึงเวลาเสียทีที่จะต้องแบ่งแยกการใช้ทรัพยากรพลังงานในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนคนในประเทศ

ประการแรก ควรหยุดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เข้ามาแย่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากประชาชนในประเทศ และให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศในราคาตลาดโลกเอง หากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยมีความสามารถในการแข่งขันจริง และต้องการแสวงหาผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ก็ควรจะต้องสามารถแข่งขันต้นทุนของตัวเองได้ในราคาทรัพยากรธรรมชาติในราคาตาลาดโลก จริงหรือไม่? เพราะหากทำได้ เราจะเหลือก๊าซแอลพีจีเพียงพอสำหรับคนที่เหลือและอุตสาหกรรมในประเทศอย่างแน่นอน

ประการที่สอง ก็ควรจะมาบริหารจัดการต่อมาว่าราคาของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซแอลพีจีในวันนี้ก็เพื่อผลกำไรในเชิงพาณิชย์เช่นกัน ดังนั้นก็ควรจะคิดราคาให้สูงกว่าที่ประชาชนที่ใช้ก๊าซแอลพีจีในการหุงต้มและยานยนต์ หากทำเช่นนี้เราก็จะสามารถรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซแอลพีจีกับยานยนต์และก๊าซหุงต้มในราคาถูกเหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของคนในประเทศได้มากขึ้น

แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ รัฐบาลก็ไม่ควรจะส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานกับยานพาหนะอย่างสุรุ่ยสุร่าย เพราะอย่างไรเสียพลังงานก็มีใช้อย่างจำกัด ดังนั้นควรจะต้องเดินหน้าเรื่องพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันก็ต้องเดินหน้าขยายระบบขนส่งมวลชนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่แทนที่รัฐบาลจะส่งเสริมให้ประชาชนมีความประหยัดและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดูเอาเถิดการที่รัฐบาลเอาใจโครงการจ่ายเงินภาษีตามสิทธิ์โครงการรถคันแรกมันสวนทางกับการประหยัดพลังงานเพียงใด?

ปัจจุบันโครงการคืนภาษีตามสิทธิ์โครงการรถคันแรกปัจจุบันผู้มีสิทธิ์มาลงทะเบียน ยื่นคำขอรับเงินแล้วจำนวน 250,744 ราย จำนวนเงินประมาณ 18,000 ล้านบาท

ลำพังที่รัฐต้องสูญเสียรายได้ไป 18,000 ล้านบาทต่อปีนั้นก็จะพอมองให้เห็นว่าเราเสียโอกาส และเสียงบประมาณไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น เพราะถ้านำเงิน 18,000 ล้านบาท มาเร่งสร้างขยายระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะนอกจากจะประหยัดพลังงานมากกว่าการปล่อยให้เพิ่มรถยนต์ไปติดบนถนนมากขึ้นแล้ว ยังใช้พลังงานประหยัดมากกว่าหากระบบขนส่งมวลชนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง

แต่ผลประโยชน์ของบริษัทรถยนต์คงจะอยู่เหนือตรรกะในเรื่องประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหากรัฐบาลจะคิดเรื่องที่เป็นสามัญสำนึกธรรมดาอย่างนี้ไม่ได้

ผมได้แต่ตั้งคำถามว่า การที่ประชาชนคนไทยเป็นกลุ่มคนที่ถูกปกครองง่าย ต่อให้น้ำมันแพง ก๊าซราคาขึ้น ก็นิ่งเฉย อย่างมากก็บ่นนิดหน่อย แล้วก็ยอมรับชะตากรรมกันไป ทำให้นักการเมือง กลุ่มทุนต่างเหิมเกริมย่ามใจ สื่อมวลชนขายตัวก็ทรยศต่อประชาชนนั้น ประชาชนต้องปล่อยให้น้ำมันและก๊าซแพงไปอีกเท่าไหร่ถึงจะทนไม่ไหวและลุกขึ้นมาทวงคืนสิทธิ์ของตัวเอง?
กำลังโหลดความคิดเห็น