“ผศ.ประสาท” ชำแหละโฆษณา “รวมพลังปลดหนี้แก๊สแอลพีจี” บิดเบือน เชื่อกระทรวงพลังงานหวังผลสร้างความชอบธรรมในการขึ้นราคา แฉสาเหตุที่ต้องนำเข้า แท้จริงมาจากภาคปิโตรเคมีซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. แต่กลับโยนให้คนทั้งชาติช่วยแบกรับภาระ “ปานเทพ” หนุนแนวคิดภาคปิโตรเคมีซื้อก๊าซจากต่างชาติเอง ระบุจะทำให้ก๊าซในประเทศเหลืออย่างมหาศาล ราคาถูกลงแน่นอน
วันที่ 1 ต.ค. ผศ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงานวุฒิสภา และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
ผศ.ประสาทกล่าวว่า โฆษณารวมพลังปลดหนี้แก๊สแอลพีจี มีการบิดเบือนโดยทำให้เห็นว่าที่แก๊สแอลพีจีไม่เพียงพอเพราะคนทั้งประเทศใช้เยอะ จากที่เคยส่งออกต้องเปลี่ยนมาเป็นนำเข้า แต่ไม่ยอมบอกว่าภาคปิโตรเคมีที่ใช้แอลพีจีนั้นเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี 2553-2554 เพิ่มขึ้นมากถึง 34 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นแค่ 9 เปอร์เซ็นต์ แล้วปัจจุบันก็โตเกือบจะเท่าภาคครัวเรือนแล้ว
จากข้อมูล (ภาพประกอบ 3) การใช้แก๊สแอลพีจีในภาคปิโตรเคมีเพิ่งเริ่มนับในปี 2535 และในปี 2551 เราได้เริ่มนำเข้า แต่ที่เขาไม่บอกคือเราใช้ก๊าซไปทำอะไร ซึ่งในปี 2554 มีการนำเข้า 1.4 ล้านตัน แต่ใช้ในภาคปิโตรเคมีถึง 2.1 ล้านตัน ฉะนั้นแล้วถ้าไม่นับภาคปิโตรเคมี ก๊าซเรามีเหลือเฟือ แล้วปรากฎว่าธุรกิจปิโตรเคมีทั้งหลายก็เป็นบริษัทลูกที่ปตท.ที่ตั้งขึ้นมา
ที่แสบกว่านั้นในอดีตเราตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยส่วนมากเก็บเงินจากเบนซินเพื่อไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ในช่วงที่น้ำมันแพง แต่ต่อมาดันเอาไปชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม เท่าที่พบคือเริ่มชดเชยแอลพีจีตั้งแต่ปี 2542 ในราคากิโลกรัมละ 5.55 บาท
ผศ.ประสาทกล่าวต่อว่า ในปี 2554 คนไทยใช้แก๊สหุงต้มจำนวน 6.89 ล้านตัน ราคาขายปลีกปัจจุบัน (กันยายน 2555) ไม่รวมค่าขนส่งอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม มูลค่าก็ปาเข้าไปที่ 1.25 แสนล้านบาท ถ้าขายตามราคานำเข้าที่ราคาตลาดโลก 31 บาท มูลค่าก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.14 แสนล้านบาท ตัวเลขมันใหญ่พอที่เขาต้องทำโฆษณานี้ออกมา แต่ปัญหาคือเงินที่ไปชดเชยก๊าซหุงต้ม ได้ถูกดึงไปใช้ในภาคปิโตรเคมีด้วย กลายเป็นว่าคนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับภาระเพื่อสนับสนุนกิจการปตท.
ส่วนที่อ้างว่าใช้แอลพีจีในรถยนต์เป็นการใช้ผิดประเภท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ส่งเสริมให้ใช้เอง แต่พอผลิตเอ็นจีวีได้ก็ดึงคนไปใช้เอ็นจีวีแทน อีกทั้งมีข้อมูลจาก ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี บอกว่าแม้แต่ควีนอลิซาเบธ และในประเทศออสเตรเลีย ก็ใช้แอลพีจีในรถยนต์
ผศ.ประสาทกล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าวัตถุประสงค์ของโฆษณาตัวนี้ เพื่อหาความชอบธรรมนำไปสู่การขึ้นราคาแอลพีจีเป็น 31 บาท โดยโยนความผิดให้ประชาชนว่าใช้ผิดประเภท ใช้ฟุ่มเฟือย ทั้งที่ความจริงแล้วสาเหตุที่ดินพอกหางหมูอยู่ทุกวันนี้คือการแปรรูป ปตท. เพราะก่อนหน้านี้จ่ายเงินเข้ากองทุน รัฐก็จัดสรรมาถึงประชาชน แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ ครึ่งหนึ่งเป็นของเอกชนไปแล้ว ซึ่งมันไม่เป็นธรรม มีเพียงไม่กี่หมื่นคนที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้
นอกจากนี้ ผู้บริหารของ ปตท.เคยบอกไว้เองว่า แอลพีจีในภาคปิโตรเคมีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่าตัว ฉะนั้นให้เป็นหน้าที่ของบริษัทนำเข้าเองจากต่างประเทศได้หรือไม่ ส่วนของในประเทศให้ประชาชนใช้ อย่าลืมว่าประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากร
ด้าน นายปานเทพกล่าวว่า โฆษณาก่อนหน้านี้ที่ชื่อว่ารู้ทันก๊าซ ทราบมาว่านักวิชาการที่เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ เป็นดอกเตอร์ท่านหนึ่งไปลงทุนลงแรงทำโฆษณานี้ขึ้นมาโดยไม่เปิดเผยชื่อ แต่ตัวนี้เปิดเลยว่าเป็นของกระทรวงพลังงาน ทำขึ้นมาก็เพื่อโน้มน้าวประชาชนให้เชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องขึ้นราคา และเพื่อให้ประชาชนเชื่อจึงเอาพรีเซ็นเตอร์ 4 คนมาพูด (วิทวัส สุนทรวิเนตร์, ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา, สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ, วีระ ธีรภัทร) ซึ่งแต่ละคนก็พูดด้วยความระวัง พูดเพื่อความเป็นธรรม แต่น่าเสียดายที่มันอยู่ในโฆษณาที่ชี้ชวนให้ขึ้นราคากับคนทั้งประเทศ นี่คือเล่ห์เพทุบายของโฆษณาชิ้นนี้ แต่ทุกคนก็ยังยอมเป็นพรีเซนเตอร์ให้
เราใช้ก๊าซหุงต้มมากจริง แต่ปัญหาคือใครใช้มาก ณ วันนี้ เทียบแล้วเรานำเข้า 1.4 ล้านตัน แต่ภาคปิโตรเคมีใช้ถึง 2.1 ล้านตัน เขาใช้มากกว่าที่นำเข้าด้วยซ้ำ หมายความว่าทำให้กระทบในประเทศแล้วยังต้องไปนำเข้าอีก จากที่เราเคยเป็นประเทศส่งออก จนต้องมานำเข้านั้นก็เพราะภาคปิโตรเคมี ไม่ใช่เพราะประชาชน
ประการต่อมา อุตส่าห์อ้างราคาตลาดโลก ว่าได้แบกรับราคาที่ต่ำเกินจริงไปเยอะ แต่คนที่จ่ายเข้ากองทุนพลังงานก็คือประชาชนผู้ใช้เบนซิน ต้องจ่ายเข้ากองทุนน้ำมัน 5-6 บาทต่อลิตร โดยให้เห็นภาพว่าคนรวยคือคนใช้เบนซิน จ่ายอุดหนุนเพื่อแบกรับภาคขนส่งที่ใช้ดีเซลและประชาชนตาดำๆที่ใช้ก๊าซหุงต้มทำอาหาร แต่ไม่เคยบอกเลยว่าส่วนหนึ่งได้ไปแบกรับภาคปิโตรเคมีและอุตสาหกรรม ที่อ้างว่าช่วยคนจนที่จริงแล้วคนจนถูกจับไปเป็นข้ออ้าง ไม่พูดสักคำว่าคนรวยมหาศาลกำลังใช้ประชาชนทั้งประเทศไปแบกรับให้เขาได้ต้นทุนต่ำที่สุด จะได้รวยที่สุดเวลาส่งออก
นายปานเทพกล่าวต่อว่า ปัญหาดินพอกหางหมูสามารถแก้ไขได้เลย โดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย เพียงแค่แยกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีออกจากการอุดหนุนทั้งหมด แต่เชื่อได้เลยโฆษณานี้เป็นการขึ้นราคากับคนไทยทั้งประเทศ ตามประกาศมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว
ที่เหมาะสมนั้นภาคปิโตรเคมีและอุตสาหกรรม ไม่ควรได้ราคาเท่ากับภาคประชาชนมาตั้งแต่ต้นแล้ว ทีนี้กองทุนที่ไปอุดหนุนราคาก็เป็นหนี้ด้วย ส่วนปตท.มีแต่ได้กับได้ ไม่ต้องขาดทุนเพราะได้กองทุนนี้มาอุดหนุนในการตรึงราคา ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ได้กำไรมากมาย ก๊าซปากหลุมก็ได้ในราคาถูก ได้กำไรหลายทอด แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์เลย แถมยังชี้หน้าด่าว่าไม่ประหยัด ฟุ่มเฟือย ซึ่งมันฟังไม่ขึ้น ประชาชนคนขับรถไม่มีทางเลือกที่จะไม่ขับรถ คนที่ทำกับข้าวก็ต้องกินข้าวเท่าเดิม ไม่ใช่พอก๊าซถูกแล้วกินข้าวมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสิทธิเลือกที่จะใช้ก๊าซในประเทศให้น้อยลง แล้วเลือกใช้จากต่างประเทศในราคาตลาดโลกแทนคนอื่นเขา อย่างน้อยก็แค่รวยน้อยลง เพราะไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเหมือนภาคประชาชน
ทั้งนี้ คิดแบบตัวเลขกลมๆ ถ้าแยกภาคปิโตรเคมีออกไป จะเหลือก๊าซแอลพีจีในชาติ 7 แสนตันอย่างต่ำ เมื่อดูอุปสงค์-อุปทาน ราคาก๊าซต้องลงแน่นอน และถ้าธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันกับทั่วโลกจริง ต้องใช้ในราคาที่ทั่วโลกใช้กัน