ศูนย์ข่าวศรีราชา - กระทรวงพลังงาน เร่งชี้แจงทุกภาคส่วนผ่านสื่อ หวังเป็นกระบอกเสียงถึงการปรับราคาก๊าซ LPG แพงขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจต่อผู้ใช้ก๊าซ ชี้ในอนาคต ราคาทั้งภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง และครัวเรือนจะเป็นราคาเดียวกันหมด
นายสุชาลี สุมามาลย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ได้เดินทางมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงที่มา และเหตุผลการปรับโครงสร้างราคา LPG เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้องการให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพื่อเป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง นอกจากนั้น เพื่อให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการนำเข้า สร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ และลดการกีดกันทางการค้ากับนานาประเทศ เมื่อเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 นี้
นอกจากนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพราะที่ผ่านมา รัฐเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันประเภทอื่นๆ เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำเงินดังกล่าวมาชดเชยราคา LPG ทำให้ผู้ใช้น้ำมันต้องใช้น้ำมันในราคาที่แพงขึ้น เป็นการบิดเบือนตลาด เพราะเมื่อราคา LPG ต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาก ทำให้กำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบขาย LPG ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากราคาในประเทศไทยถูกกว่า ลาว พม่า และเขมรมาก ดังนั้น เงินกองทุนน้ำมันฯ จึงต้องนำมาชดเชยในส่วนนี้ ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท สร้างความเสียหายต่อรัฐ
นายสุชาลี กล่าวต่อไปว่า การปรับราคา LPG นั้น มีการปรับโครงสร้างราคาในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่กลางปี 2554 ที่ผ่านมา ส่วนภาคครัวเรือนนั้นรัฐตรึงราคาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงสิ้นปี 2555 นี้ สำหรับภาคอุตสาหกรรม มีการปรับอย่างต่อเนื่องไตรมาสละ 3 บาทต่อ/กก. และสุดท้ายจะให้คงราคาอยู่ที่ 30.13 บาทต่อ กก. แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 29.56 บาทต่อ กก. ส่วนภาคขนส่งนั้น ปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 21.38 บาทต่อ กก.
“ในอนาคต 1 ปีหรือ 2 ปี ขึ้นอยู่กับราคาที่จะทยอยปรับขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตาม ราคาทั้งภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง และครัวเรือนจะเป็นราคาเดียวกันหมด และหลังจากนั้นราคา LPG ทั้ง 3 ภาคส่วนจะถูกปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงในทุกๆ เดือน” นายสุชาลีกล่าว
นายสุชาลี กล่าวว่า สำหรับการปรับโครงสร้างราคา LPG นั้น จะต้องหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคครัวเรือนกลุ่มประชาชน ต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อฐานะการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย
ส่วนวิธีบริหารจัดการจะต้องมีวิธีการควบคุมให้มีการรั่วไหลน้อยที่สุด ซึ่งอาจเป็นการขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอาจจะใช้วิธีคล้ายกับการแจกเบี้ยผู้สูงอายุ หรือเงินช่วยเหลือน้ำท่วม แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อน