กกต.กลางส่อพิจารณาเรื่องร้องคัดค้าน “สุขุมพันธุ์” ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ตามมติ กกต.กทม.ไม่ทันในการประชุม กกต.กลาง 19 มี.ค.นี้
นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึง กกต.กทม.ส่งมติเกี่ยวกับคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 คำร้องรวม 3 ประเด็นให้ กกต.กลางพิจารณาว่า การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งเมื่อ กกต.กทม.เสนอก็จะเข้าสู่การดำเนินการของสำนักงาน กกต.ก่อน โดย กกต.กลางได้วางแนวปฏิบัติไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้า กกต.จังหวัดเสนอเรื่องเกี่ยวกับการคัดค้านการเลือกตั้งเข้ามาโดยเสนอไม่รับคำร้องก็ให้เป็นอำนาจของนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวน พิจารณาว่ามีความเห็นตามที่เสนอหรือไม่ ถ้านายสมชัยมีความเห็นต่างโดยเห็นควรให้รับเป็นคำร้องเพื่อพิจารณาก็จะส่งกลับไปให้ กกต.จังหวัดดำเนินการ แต่ถ้าทาง กกต.จังหวัดเสนอมาว่ารับเป็นคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยก็เป็นเรื่องที่สำนักงาน กกต.จะต้องดำเนินการต่อให้เสร็จเรียบร้อย
นางสดศรีกล่าวว่า เท่าที่ทราบที่ กกต.กทม.เสนอมายังไม่ได้มีการเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงเลย ดังนั้น เมื่อมาถึงสำนักงาน กกต.กลาง เรื่องที่มีการกล่าวหาเป็นเรื่องใหญ่ ก็คงต้องเข้าอนุกรรมการรวบรวมตรวจสอบหลักฐานต่างๆ แล้วเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆ เช่น นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการกล่าวหาว่าโพสต์ภาพมาชี้แจงก่อน ก่อนสรุปเสนอ กกต. ดังนั้นในการประชุม กกต.กลางในสัปดาห์นี้ไม่แน่ว่าเรื่องดังกล่าวจะเข้าที่ประชุมฯได้ทัน
รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นนั้น จะมีขั้นตอนปฏิบัติในเรื่องของการพิจารณาคำร้องคัดค้านต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ กกต.จังหวัดจะนำสำนวนร้องคัดค้านมาชี้แจงต่อที่ประชุม กกต.เลย โดยการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นนั้น เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเสนอมติ กกต.พร้อมความเห็นเบื้องต้นมายังสำนักงาน กกต.กลางแล้วก็จะถูกส่งไปยังสำนักสืบสวนสอบสวน ที่จะมีพนักงานสอบสวนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบทำหน้าที่สรุปและเสนอความเห็น ก่อนส่งต่อไปยังเลขาธิการ กกต. ซึ่งก็จะมีการพิจารณาว่าจะนำเรื่องดังกล่าวมอบให้อนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องคัดค้านคณะใดดำเนินการ เมื่ออนุฯ ดำเนินการแล้วเสร็จจึงสรุปสำนวนพร้อมความเห็นเสนอต่อที่ประชุม กกต. โดยขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งจะเป็นการดำเนินการของด้านบริหารงานเลือกตั้ง หากหลังการเลือกตั้งมีเรื่องร้องเรียน ทางด้านบริการงานเลือกตั้งก็จะตั้งเรื่องเสนอต่อที่ประชุม กกต.กลางพิจารณาประกาศรับรองผลหลังผ่านวันเลือกตั้งไปแล้ว 2 สัปดาห์ เพื่อให้การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งทันต่อกรอบเวลา 30 วันตามที่ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 32 กำหนดไว้ โดยจะมีการประสานกับด้านสืบสวนว่าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเรื่องร้องคัดค้านมีการดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด แล้วเสร็จสามารถพิจารณาก่อนการประกาศรับรองผลได้หรือไม่ หรือยังไม่แล้วเสร็จก็จะเสนอที่ประชุม กกต.ว่าสมคว รประกาศรับรองไปก่อนหรือไม่ซึ่งคาดว่าด้านบริหารเลือกตั้งจะเสนอเรื่องการประกาศรับรองให้บรรจุเป็นวาระการประชุมสัปดาห์นี้
แต่ทั้งนี้กรอบเวลา 30 วันจะครบวันที่ 2 เมย. ซึ่ง กกต.จะมีการประชุมในวันที่ 26-28 มี.ค. และ 2 เม.ย. ดังนั้นก็เป็นไปได้ที่ กกต.จะใช้เวลาในช่วงนี้สอบเรื่องร้องเรียนไปก่อนแล้วค่อยไปพิจารณา หากที่สุดไม่แล้วเสร็จจึงค่อยประกาศรับรองไปก่อนในสัปดาห์สุดท้ายก็ได้ ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่เหลือ กกต.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 1 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง รวมถึงให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า สำนวนคำร้องคัดค้านที่กต.กทม.มีมติและเสนอมายังกกต.กลางเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่สามารถเข้าที่ประชุมกกต.กลางได้ทันในสัปดาห์นี้ เพราะคงต้องดูความเห็นของฝ่ายสืบสวนสอบสวน ของกกต.กลางที่เสนอมา ว่า จะต้องตั้งอนุกรมการฯ ขึ้นมาสอบสวนหรือไม่ และต้องมีการเชิญใครมาให้ถ้อยคำหรือไม่ ถ้าแล้วเสร็จจึงจะเสนอเข้าที่ประชุมกกต.กลาง แต่ทั้งนี้ขั้นตอนดังกล่าวจะไม่เกี่ยวกับการประกาศรับรองผล เพราะถ้าทำไม่แล้วเสร็จก็ต้องประกาศรับรองก่อน