ปธ.กสม. ยื่น จม.“ปู” ชี้ ปชช.ทุกคนถูกละเมิดสิทธิ ย้อนจัดเวทีสิทธิผู้บริโภค ส่วนใหญ่หนุนตั้งองค์การอิสระ ซึ่งชะงักอยู่ในสภา ย้ำคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสิทธิมนุษยชนสากล บี้ นายกฯ เร่งออก พ.ร.บ.องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติ
วันนี้ (15 มี.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มี นางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธานได้มีจดหมายเปิดผนึก เสนอนายกรัฐมนตรี ให้เร่งรัดออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแก้ปัญหาผู้บริโภคที่ซับซ้อนและรุนแรง โดยระบุว่าปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มที่จะมีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ตามกระแสบริโภคนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ รวมทั้งการตลาดและการสื่อสารที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวาง สร้างผลกระทบสูง ในขณะที่ผู้บริโภค ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่ถูกต้อง ทำให้เกิดการละเมิดและการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค จนอาจกล่าวได้ว่าในทุกวันผู้บริโภคทุกคนถูกละเมิดสิทธิในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ซึ่งจากการที่ กสม.ได้จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “สิทธิผู้บริโภควันนี้... กับวันที่มีองค์การอิสระมาคุ้มครอง” เมื่อวันที่ 7 มี.ค.เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมีองค์การอิสระตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันพบว่าปัจจุบันการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ยังอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา ทั้งที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาและได้ข้อสรุปต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว แต่กระบวนการได้หยุดชะงักลง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภคเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ในหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ ทั้งยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีในนามรัฐบาล ได้ติดตามเร่งรัดให้มีการออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ต่อรัฐสภาในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินี้ ซึ่งจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 เม.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในการคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้บริโภคโดยเร็ว