xs
xsm
sm
md
lg

จี้ สคบ.เพิ่มสิทธิผู้บริโภคให้ทัดเทียมสากลเน้นรากหญ้าไม่เป็นเหยื่อโฆษณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคประชาชนเตรียมกระทุ้ง สคบ.เพิ่มสิทธิผู้บริโภคอีก 4 เรื่อง หวังทัดเทียมสากล โดยเฉพาะสิทธิการบริโภคศึกษา ชี้ช่วยให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีความรู้ ไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณา ชูญี่ปุ่นมีกองทุนชดเชยการใช้ปัญหาจากการใช้ยา พร้อมเล็งเสนอสิทธิผู้บริโภคอีก 4 ข้อแก่ยูเอ็น

วันนี้ (14 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่โรงแรมรามาการ์เดนท์ ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวระหว่างการเสวนา “แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคสากล (International Consumer Protection Guidelines)” ในงานประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 3 เรื่อง “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภค สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ว่า ขณะนี้การรับรองสิทธิผู้บริโภคระดับสากลมีอยู่ทั้งหมด 8 ข้อ แต่ประเทศไทยมีอยู่เพียง 4 ข้อเท่านั้น คือ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ และสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในสัญญา ซึ่งยังขาดในเรื่องของสิทธิการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน สิทธิการบริโภคศึกษา สิทธิที่จะดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมและจ่ายเงินชดเชย โดยภาคประชาชนพยายามกระทุ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้เพิ่มสิทธิผู้บริโภคดังกล่าว เพื่อให้คนไทยได้รับสิทธิผู้บริโภคที่ครอบคลุมมากขึ้นและทัดเทียมสากล
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า ที่สำคัญคือสิทธิการบริโภคศึกษาจำเป็นต้องมีให้เร็วที่สุด เพราะจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องของสิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาสินค้าและบริการที่เอาเปรียบหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะคนระดับล่างซึ่งมีความรู้หรือการศึกษาน้อย เช่น การโฆษณาน้ำด่าง น้ำหมัก หรือตะเกียงวิเศษ ที่โฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรคได้ การที่รัฐให้ความสำคัญกับสิทธิการบริโภคศึกษาตรงนี้จะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ และต้องทำอย่างจริงจัง โดยบรรจุเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษาระดับประเทศ ส่วนการเรียกร้องความเป็นธรรมและจ่ายเงินชดเชยนั้น ประเทศไทยมีเพียงการจ่ายเงินชดเชยสำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ แต่ก็เป็นเพียงสิทธิของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ไม่รวมผู้ใช้สิทธิข้าราชการและประกันสังคม

ที่น่าห่วงคือเรื่องการใช้ยา โดยเฉพาะสิทธิข้าราชการ เพราะมีการใช้ยานอกบัญชียาหลักจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งเป็นยาตัวใหม่ มีราคาแพง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงได้รับปัญหาจากการใช้ยาอย่างมาก แต่ทุกวันนี้เรายังไม่มีการจ่ายเงินชดเชยในเรื่องของการใช้ยา ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่มีการจัดตั้งกองทุนชดเชยที่เกิดปัญหาจากการใช้ยา ซึ่งแม้เงินนั้นมาจากบริษัทยาโดยตรง” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวและว่า ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็จะเสนอกรอบสิทธิผู้บริโภคเพิ่มเติมอีก 4 เรื่องให้แก่สหประชาชาติ ได้แก่ สิทธิการเงิน สิทธิพลังงาน สิทธิการเป็นผู้แทนองค์กรภาคประชาชน และสิทธิเรื่องที่อยู่อาศัย
กำลังโหลดความคิดเห็น