xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคสุดทน อัด ปธ.กมธ.ยื้อ ไม่นัดประชุมร่างกฎหมายดองยาว 4 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริโภคสุดทน หลังประธานกรรมาธิการร่วม ยื้อ ไม่ยอมนัดประชุมกรรมาธิการเพื่อพิจารณารายงานการประชุมเพื่อส่งร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา พร้อมเตรียมร้องกรรมาธิการกิจการสภาให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ รวมทั้งเรียกร้อง รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ให้ทันในสมัยการประชุมรัฐสภานี้

โรงแรมรามาการ์เด้นส์ วันนี้ (15 มี.ค.) รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กล่าวในการประชุมสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคครั้งที่ 3 ว่า ได้มีการนำเสนอผลงานวิชาการในการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการปัญหาสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย และพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม และมีมติให้เสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐสภาและรัฐบาล ให้เร่งดำเนินการ 4 เรื่อง คือ 1.รัฐสภาและรัฐบาล เร่งดำเนินการออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัยประชุมรัฐสภานี้ 2.คณะรัฐมนตรี สนับสนุนนโยบายสาธารณะที่พัฒนาจากสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 3 ใน 5 ประเด็น คือ อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการสุขภาพ, บริการสาธารณะ, การเงิน/ธนาคาร, สินค้าและบริการทั่วไป และสื่อสารและโทรคมนาคม 3.คณะรัฐมนตรีเร่งกำหนดนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยในประชาคมอาเซียน ภายใต้หลักการ“เมื่อประเทศหนึ่ง ห้ามใช้สินค้าใด ต้องห้ามใช้ในทุกประเทศ” (One Ban, All Ban Policy) และ 4.คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา พิจารณาเนื้อหาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี อย่างรอบคอบบนฐานวิชาการ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและนโยบายสาธารณะของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190

นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า กรรมาธิการร่วมต้องรีบนัดประชุม เพราะกรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีภายใน 1 ปี กฎหมายฉบับนี้อยู่ในกระบวนการรัฐสภานานมากกว่า 4 ปีแล้ว และที่ ส.ส.บางท่านกังวลว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ถึงแม้จะมีกฎหมายแล้ว เพราะ ส.ส.ไม่ได้มีหน้าที่ในการพิจารณาว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งนี้ ยังได้ ได้มีการจัดประกวดผลงานสปอตโฆษณา มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ชิงเงินรางวัลกว่า 100,000 บาท ซึ่งมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 84 ผลงาน โดยคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผลงานเรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชนะเลิศการประกวด ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ผลงานเรื่อง Guinness Van จากทีม SWEET KID ได้รับเงินรางวัล30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง หยุดเอาเปรียบฉัน จากทีมลูกหมาสามตัว ประชาชนทั่วไป ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท และรางวัลป๊อบปูล่าโหวตได้แก่ผลงานเรื่องการคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท

นายธานัส เกศวพิทักษ์ รองประธานศาลฎีกา กล่าวว่า อยากให้ประชาชนทุกคนช่วยกันผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหยุดยั้งการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการและนายทุนทันที “ตัวอย่างบัตรเติมเงินที่ถูกตัดวัน คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินทั้งนั้น ไม่รู้เอาสมองส่วนไหนคิด ทำไมจึงมีข้อกำหนดเช่นนี้ อีกธุรกิจนี้เอาเปรียบประชาชนคือธุรกิจธนาคาร ที่เก็บค่าธรรมเนียมอย่างเอารัดเอาเปรียบ แต่เมื่อไม่มีองค์การอิสระฯ จึงมีแต่ภาคประชาชนที่ผลักดันการแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป ทั้งที่น่าจะทำให้มีการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างจริงจัง” ทั้งนี้รองประธานศาลฎีกายังระบุว่า มีกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่จะสร้างการตรวจสอบผู้ประกอบการต่างๆ ก็ถูกขัดขวางเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น