คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
“ระบอบประชาธิปไตยจะกลายเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ
หากผู้บริโภคไม่มีอำนาจ
ไม่มีองค์กรที่อิสระปราศจากการครอบงำของทุน และนักการเมือง
เพื่อทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง”
ข้อความข้างต้นนี้เป็นบทสรุปสั้นๆ ของผมเองครับซึ่งเขียนให้แก่ “องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน” ในฐานะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสาธารณะ
อ่านมาถึงตอนนี้ ผมเชื่อว่าหลายท่านคงมีข้อสงสัยบ้างไม่มากก็น้อยว่า เอ๊ะ มันคือองค์กรอะไรกัน ไม่เคยได้ยิน เดี๋ยวผมจะค่อยๆ ลำดับเรื่องราวตั้งแต่ความเป็นมา ข้อด้อยของผู้บริโภค และข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 3G ที่การสื่อสารได้สะดวกรวดเร็วจนส่งผลให้ผู้บริโภคมีโอกาสถูกมอมเมา และโฆษณาชวนเชื่อให้ตกเป็นทาสของผู้ประกอบการที่มีโอกาสร่ำรวยได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ในยุค 3G
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.55 องค์กรที่ผมว่านี้ได้จัดเวทีสาธารณะ โดยใช้ชื่อว่า “15 ปีที่ผลักดันองค์กรอิสระ เมื่อไม่มีกฎหมาย ผู้บริโภคควรทำอย่างไร” โดยมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วม ประมาณ 100 คน
ในการนี้นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นองค์ปาฐกในหัวข้อเดียวกับที่ผมนำมาเป็นชื่อบทความนี้
คุณหมอได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงความจำเป็นของประเทศที่ต้องมีองค์กร คุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นว่า โดยปกติคนเราจะทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้บริโภคในคนเดียวกัน แต่ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเราจะศึกษาจนรู้ลึก และเชี่ยวชาญเพียงเรื่องเดียว
แต่ถ้าในฐานะที่เป็นผู้บริโภคนั้น เราจำเป็นต้องบริโภคสินค้าหลายๆ อย่าง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครคนใดคนหนึ่งจะรู้เรื่องสินค้าเหล่านั้นอย่างดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจบริโภค หรือซื้อบริการ และในบางกรณี เช่น ที่เกี่ยวกับยานั้น ยารักษาโรคเดียวกันแต่มีหลายพันชนิด จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งที่จะเอาตัวเองเข้าไปลองยา
ในขณะที่ผู้ผลิตสินค้าจะทำการตลาด รู้จิตวิทยา และนิสัยของผู้บริโภค และสังคมเป็นอย่างดี โดยการว่าจ้างนักการตลาดชั้นเยี่ยม พรีเซ็นเตอร์ชื่อดัง เป็นต้น จนทำให้ผู้บริโภคบางคนต้องซื้อไอโฟนทุกรุ่นมาใช้เพราะรู้สึกว่ามันสามารถเปล่งประกายแทนตนได้ บางคนซื้อรถเบนซ์มาใช้เพราะรู้ว่าตำรวจไม่จับแม้ได้กระทำผิดกฎจราจรแล้วก็ตาม
คุณหมอประวิทย์ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนี้ผู้ที่ติดจานดาวเทียมสามารถรับโทรทัศน์ได้มากกว่า 400 ช่อง หลายช่องจะให้ข้อมูลข่าวสารเพียงเรื่องเดียวทั้งวันทั้งคืน จึงทำให้ผู้ชมมีความสนใจ และรับรู้ข่าวสารได้เพียงเรื่องที่ตนสนใจเท่านั้น
ดังนั้น หากผู้บริโภคต้องการจะรู้เท่าทันผู้ผลิตก็จำเป็นจะต้องมีการรวมตัวกันเป็นองค์กร เพื่อทำงานศึกษารวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ประเภทของสินค้าแล้วนำผลการศึกษาเหล่านั้นมาให้แก่ผู้บริโภคได้เข้าใจรับทราบ
ขอย้ำ (ผมย้ำเอง) ว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้บริโภคจะมีความรอบรู้ และเท่าทันผู้ผลิตได้โดยลำพังตนเอง
ที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงแค่การรู้เท่าทันตัวสินค้า และเล่ห์เหลี่ยมของผู้ผลิตเท่านั้น แต่ในกรณีที่มีการร้องเรียน หรือจำเป็นต้องฟ้องร้องคดีเกิดขึ้น ผู้บริโภคมีความพร้อมที่จะกระทำหรือไม่ เพราะนอกจากจะต้องเอาชนะความกลัวจากอิทธิพลแล้ว ยังเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งเรื่องเงินทอง และเวลา บางรายใช้เวลา 15-16 ปีแล้ว คดีก็ยังไปไม่ถึงไหน สุภาษิตจีนถึงกับกล่าวว่า “เป็นความกัน กินขี้หมาดีกว่า”
ครั้นจะให้ส่วนราชการที่ดูแลเรื่องผู้บริโภคฟ้องร้องแทนก็เป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนราชการไทยมีกฎระเบียบว่าจะไม่ฟ้องร้องกันเอง
ดังนั้น จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากผู้บริโภคซึ่งก็คือ ประชาชนทุกคนต้องรวมตัวกันเป็นองค์กร
ความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 57 ว่า ต้องมีองค์กรมาทำหน้าที่ดังกล่าว และองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านผู้บริโภคทั่วประเทศก็ได้เรียกร้องให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก
ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้กำหนดไว้ในมาตรา 61 จนบัดนี้เกือบจะครบ 15 ปีเต็ม องค์กรภาคประชาชนก็ยังคงเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง แต่กฎหมายก็ยังไม่คลอดออกมาเสียที ทั้งๆ ที่บทเฉพาะกาล (มาตรา 303) ได้กำหนดว่าต้องออกกฎหมายประกอบให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง
นี่ก็เลยวันเวลานั้นมาเกือบจะ 4 ปีแล้ว
ความจริงแล้ว ร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งริเริ่มโดยการเข้าชื่อ 12,208 รายชื่อของภาคประชาชน (19 ก.พ.52) ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร (20 เม.ย.54) และวุฒิสภา (10 พ.ค.54) ไปแล้ว แต่เนื่องจากทั้งสองสภามีความเห็นไม่ตรงกันในบางประเด็น สภาผู้แทนฯ (5 ก.ย.55) จึงต้องตั้งกรรมาธิการร่วมจำนวน 22 คนมาพิจารณากันใหม่ แต่ไม่มีหลักประกันว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้ออกหรือไม่ เมื่อใด
เท่าที่ผมทราบจากกรรมาธิการบางท่านว่า แทนที่กรรมาธิการชุดนี้จะพิจารณาเฉพาะในประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันเท่านั้น แต่กลับไปพิจารณาในประเด็นสาระสำคัญอย่างอื่นที่เคยผ่านการพิจารณาของแต่ละสภาไปแล้วด้วย
ตัวอย่างประเด็นที่ทั้งสองสภาเห็นไม่ตรงกัน เช่น งบประมาณอุดหนุนองค์กรอิสระฯ สภาผู้แทนฯ เห็นว่าควรจะอุดหนุนหัวละ 3 บาทต่อปี (จากประชากรทั้งประเทศ) แต่วุฒิสภาได้ขอแก้ไขเป็น 5 บาท หลักการคิดดังกล่าวตั้งอยู่บน “เพื่อความอิสระ” ขององค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล (ซึ่งจะทำให้ไม่อิสระ) แต่แทนที่กรรมาธิการชุดนี้จะพิจารณาฟันธงไปเลยว่าจะให้กี่บาทกันแน่ กลับมีการเสนอให้แล้วแต่การจัดสรรของรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่อิสระแน่นอน เพราะรัฐบาลมักเป็นตัวแทนกลุ่มทุน
นอกจากนี้ ยังได้มีการหยิบยกประเด็นที่ทั้งสองสภาเห็นเหมือนกันแล้วกลับมาพิจารณากันใหม่ เช่น การให้อำนาจองค์กรอิสระฯ ตรวจสอบธุรกิจเอกชนที่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค การเปิดเผยชื่อสินค้า หรือบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค เป็นต้น
สิ่งที่คณะกรรมาธิการร่วม 22 คนชุดนี้กำลังกระทำอยู่ ทำให้เป็นที่กังวลว่า นอกจากความล่าช้าแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวจะบิดเบือนเจตนารมณ์ที่สำคัญของร่างเดิมด้วย คือ เน้นความเป็นอิสระจากภาครัฐ และภาคทุน รวมทั้งการมีอำนาจตรวจสอบ ถ่วงดุล รวมทั้งการขยาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายคุ้มครองผู้ บริโภคทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน จากบทเรียนที่ได้สะสมมาอย่างยาวนาน 15 ปี เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจำนวน 302 องค์กร ก็ได้จัดประชุม (12 มิ.ย.55) เพื่อจัดตั้งและคัดเลือกคณะกรรมการชุดชั่วคราว โดยใช้ชื่อว่า “องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน” และผมเองก็ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 15 คน (อ่านรายละเอียดได้ที่ www.consumerthai.org)
คณะกรรมการชุดนี้ นอกจากจะทำหน้าที่ประสานเครือข่ายแล้ว ยังร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกประเด็นมาเน้นในการรณรงค์ต่อสาธารณะ 3 ประเด็นคือ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคาร (ใครรู้สึกว่าตนเองถูกเอาเปรียบยกมือขึ้น) ประเด็นนโยบายรัฐในการจัดการพลังงานหมุนเวียน และการประกันสังคมมาตรฐานเดียว
โดยความรู้สึกของผมแล้ว ผมเห็นว่าการที่สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการประชาธิปไตย โดยเน้นไปที่กระบวนการเลือกตั้ง การแบ่งเลือกตั้ง การทุจริตในภาครัฐ การตรวจสอบ ถ่วงดุล ฯลฯ นั้น ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีครับ เป็นความก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่ผมเห็นว่า หากผู้บริโภคซึ่งเป็นประชาชนทุกคนไม่มีอำนาจในการคุ้มครองสิทธิของตนเองแล้ว กระบวนการประชาธิปไตยทั้งที่กล่าวมาแล้ว และที่ยังไม่ได้กล่าวถึงก็จะกลายเป็นสิ่งที่เหลวไหล ไร้สาระที่ผู้บริโภคถูกนักการเมือง และกลุ่มทุนหลอกให้ภูมิใจเล่นเท่านั้นเอง
ผู้บริโภคทั้งหลายจงรวมตัวกันเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป แม้ไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมารองรับก็จงอย่าท้อถอย นี่คือบทพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า นักการเมืองไม่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคซึ่งอ่อนแอ ดังนั้น ผู้บริโภคต้องพึ่งตนเอง และตนเองเท่านั้น
พันธมิตรที่ดีที่สุดของผู้บริโภคไม่มีใครอื่นอีกแล้ว นอกจากประชาชนเท่านั้น