xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชี้ ม.41 พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศขัด รธน.จำกัดสิทธิ “สมคิด” ต่อสู้คดีอัลรูไวลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ชี้บางมาตราใน พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง แต่มีมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่ามาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศขัดรัฐธรรมนูญ เหตุจำกัดสิทธิ “สมคิด” ต่อสู้คดีอัลรูไวลี เพราะไม่ได้กำหนดวิธีการสืบพยานให้จำเลย สามารถตามประเด็นไปสืบได้

วันนี้ (13 มี.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า มาตรา 36 37 38 และ 39 ของ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการขอความช่วยเหลือในเรื่องข่าวสาร หรือพยานหลักฐานทางคดีกับต่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40(2) (3) (4) และ (7) แต่มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่า มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน ที่บัญญัติให้บรรดาพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมายนั้น ขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญา เพราะเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบหรือรับทราบ และไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากทนาย อันเป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) และ (7)

สำหรับการมีคำวินิจฉัยดังกล่าวมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของศาลอาญา ที่ส่งคำโต้แย้งของจำเลยคือ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ จำเลยในคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย ที่ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 มาตรา 36 37 38 39 และ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) และ (7) หรือไม่ เนื่องจาก พล.ต.ท.สมคิด เห็นว่า บทบัญญัติตามมาตราดังกล่าวของ พ.ร.บ.นี้ไม่ได้กำหนดวิธีการสืบพยานให้จำเลย สามารถตามประเด็นไปสืบได้ ถือเป็นการขัดหรือแย้งต่อการสืบพยานต่อหน้าจำเลย และตามที่บัญญัติให้พยานหลักฐานที่ได้มา ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว สามารถรับฟังได้ มีผลให้จำเลยเสียเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.สมคิด กับพวกรวม 5 คน ตกเป็นจำเลยในคดีร่วมกันฆ่า นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งประกอบธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเจตนาและปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดทางอาญา โดยปัจจุบันศาลอาญาได้อนุญาตให้พนักงานอัยการส่งประเด็นไปสืบพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก หรือ นายเกียรติกรณ์ แก้วเพชรศรี ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ซึ่ง พล.ต.ท.สมคิด ได้ยื่นร้องคัดค้านโดยอ้างว่าทำให้ฝ่ายจำเลยไม่มีโอกาสที่จะซักค้านพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย ได้ และขอให้ส่งตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย เป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในฐานะจำเลยคดีพยายามฆ่าของศาลจังหวัดมีนบุรี รวมถึงได้ขอให้ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของตนที่เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 36 37 38 39 และ 41 ของ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น