ศาลอนุญาตส่งประเด็นไปสืบพยาน คดีฆ่า “อัลรูไวลี” นักธุรกิจซาอุฯ ที่ประเทศยูเออี ด้าน “สมคิด บุญถนอม” ระบุ “พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก” เป็นพยานที่หลบหนีคดีของศาลมีนบุรี และมี จนท.รัฐช่วยไม่ให้ถูกขังตามคำพิพากษา โดยศาลนัดคู่ความเพื่อตามความคืบหน้าอีกครั้ง 20 พ.ค.นี้
ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (4 ก.พ.) ศาลนัดฟังคำสั่งในคดีดำ อ.119/2553 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และจเรตำรวจ พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดอาญา
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 12-13 ก.พ. 2533 จำเลยทั้งห้าร่วมกันลักพาตัว นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ประกอบธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขณะเป็น ผบช.ภ.5 กับพวกเข้าใจว่า ผู้ตายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุดีอาระเบีย
โดยอัยการโจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งประเด็นไปสืบ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก หรือ นายเกียรติกรณ์ แก้วผลึก หรือแก้วเพชรศรี พยานปากสำคัญ ที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีหนังสือแจ้งให้ทางการไทยทราบว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.สุวิชชัย หรือนายเกียรติกรณ์ อยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ขณะที่ทนายความจำเลยได้ร้องคัดค้าน เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณา
อีกทั้งทนายความจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2556 ว่า พนักงานอัยการฝ่ายต่างประเทศและพนักงานสอบสวนดีเอสไอ อีก 2 นาย นำพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2555 เวลา 02.30 น.จำเลยจึงขอให้ศาลไต่สวนข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าว เพื่อจะใช้เป็นข้ออ้างในการส่งประเด็นโจทก์ไปสืบที่ต่างประเทศ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การส่งประเด็นไปสืบที่ต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด และเมื่อรับฟังได้ว่าพยานปากดังกล่าวอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จริง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจึงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 228 ให้ส่งประเด็นสืบพยานโจทก์ดังกล่าวได้ตามที่ร้องขอ โดยให้โจทก์มีหนังสือถึงสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อส่งประเด็นไปสืบโดยเร็ว
ส่วนที่ทนายความจำเลยที่ 4 ขอไต่สวนนั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะชอบหรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีนี้ เพราะเป็นคนละส่วนกัน จึงงดไต่สวน ยกคำร้อง
โดยศาลนัดพร้อมคู่ความทั้งสองฝ่ายเพื่อฟังความคืบหน้าการสืบพยานปากดังกล่าว ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม กล่าวภายหลังว่า การที่ศาลอนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบต่างประเทศ ทำให้ตน และจำเลยอื่นๆ ไม่มีโอกาสได้ซักค้านพยาน ส่วนที่ตนและทนายความอาจจะเดินทางไปติดตามการสืบพยานที่ยูเออีหรือไม่นั้น ก็ต้องหารือกันก่อน เพราะจะต้องมีการเตรียมการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่วนกรณีที่ฝ่ายจำเลย เชื่อว่า ทางอัยการ และพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ ร่วมกันพาพยานปากนี้เดินทางออกนอกประเทศ ทั้งที่ครั้งแรกถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตรวจพบแบล็กลิสต์ จนต้องมีการเปลี่ยนเที่ยวบิน จนในที่สุดก็เดินทางออกนอกประเทศได้ โดยมีการออกค่าตั๋วเครื่องบินจำนวน 115,600 บาทให้นั้น ตนมีพยานหลักฐานเป็นตั๋วเครื่องบินเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ช่วยเหลือพาพยาน ออกนอกราชอาณาจักร เพื่อให้พ้นเขตอำนาจของศาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้พยานปากนี้ยังอยู่ในประเทศไทยตลอด ก็ไม่พาตัวมาเบิกความที่ศาล แต่กลับหาวิธีการส่งประเด็นไปสืบในต่างประเทศ ซึ่งหากมีการนำพยานปากนี้มาสืบในศาลตั้งแต่แรก ตนในฐานะจำเลยจะได้มีโอกาสซักค้านและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ตามกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งพยานปากนี้เป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต และออกหมายจับไว้เมื่อปี 2552 ดังนั้น การกระทำดังกล่าว จึงน่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และภายใน 2-3 วันนี้ ตนจะร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช, สำนักงานอัยการสูงสุด ฯลฯ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ รวม 5 ราย และตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมจึงหลบหนีไปที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเป็นประเทศเดียวกับ ที่อดีตนักโทษหนีคดีรายหนึ่ง ไปพำนักอยู่เช่นเดียวกัน
ด้านนายโกวิท ศรีไพโรจน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญฝ่ายคดีพิเศษ 1 เจ้าของสำนวนคดี กล่าวยืนยันว่า อัยการไม่เคยทราบเรื่องพาพยานออกนอกประเทศมาก่อน ที่ผ่านมาในการประชุมของคณะกรรมการติดตามคดี ทราบเพียงว่าพยานจะมีการย้ายที่อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่อยู่ในประเทศไทย กระทั่งมีหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศมายืนยัน ขณะที่ศาลเคยตัดพยานปากนี้มาแล้ว เนื่องจากไม่สามารถติดตามตัวได้ กระทั่งคดีเริ่มสืบพยานจำเลยบ้างแล้ว แต่เนื่องจากทางการซาอุฯ ต้องการให้มีการดำเนินการพิจารณาในการสืบพยานอย่างเต็มที่ อัยการโจทก์จึงขอโอกาสจากศาล ส่วนที่จำเลยจะมีการร้องเรียน ตนไม่กังวล เพราะยืนยันว่าไม่เคยดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการส่งประเด็นไปสืบ หรือหากจะมีคำพิพากษา ก็ล้วนเป็นดุลพินิจของศาล อยากให้ทุกฝ่ายให้ความเคารพ