ผ่าประเด็นร้อน
เป็นไปตามความคาดหมายว่า หลังจากเสร็จศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว ทักษิณ ชินวัตร ก็จะส่งสัญญาณให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้ามาพิจารณาอีกรอบก่อนปิดสมัยประชุมสภานิติบัญญัติในปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ โดยเวลานี้ก็เริ่มดำเนินการในหลายรูปแบบในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่มีเป้าหมายเรื่องเดียวกันคือต้องการ ลบล้างความผิดให้แก่ “ทักษิณ” เป็นหลัก แต่แน่นอนว่าก็ต้องพ่วงบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงเข้าไปด้วยโดยปริยาย
ความเคลื่อนไหวแรกที่เริ่มเดินเครื่องทันทีโดยผ่านโต้โผรายใหม่ คือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร “เจริญ จรรย์โกมล” ซึ่งก่อนหน้านี่ได้เคยหยั่งกระแสแต่ละกลุ่มการเมืองไปบ้างแล้ว และตัวเองก็ได้เคยไปหารือกับ ทักษิณ ชินวัตร ถึงที่บาเรนห์มาแล้ว ซึ่งเจ้าตัวก็เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับกับสื่อ เพียงแต่อ้างว่าเป็นการไปกินข้าวเที่ยงกันธรรมดา ซึ่งก็คงมีแต่ “สุนัขโง่ๆ” เท่านั้นที่เชื่อ อย่างไรก็ดีเพื่อไม่ให้กระทบคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯของพรรคเพื่อไทยก็ต้องสั่งให้เบรกเอาไว้ชั่วคราวก่อน
เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องเดินเครื่องเต็มกำลังอีกครั้ง แค่คราวนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดก็ต้องรอบคอบรัดกุม ที่สำคัญต้อง “ตบตา” ให้แนบเนียนกว่าเดิม แต่เส้นทางที่ไปก็ยังมีหลายวิธีการเช่นเดิม
ตามกำหนดการที่เลื่อนวันนัดหมายเป็นวันที่ 11 มีนาคม รองประธานสภาฯ เจริญ จรรย์โกมล ได้นัดหารือกับตัวแทนจากสามสี่ฝ่าย เช่น พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อขอความเห็นและทราบท่าทีหากมีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสภา อ้างว่าเพื่อลดความขัดแย้ง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นหนังสือแสดงท่าทีไปยัง เจริญ จรรย์โกมล แล้วว่าขอคัดค้านการนิรโทษกรรมให้กับผู้ได้รับโทษอาญา คดีทุจริตทุกกรณี ขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่กระทำผิดฝ่าฝืนพระราชบัญญัติความมั่นคง และพระราชบัญญัติแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงความผิดลหุโทษอื่นๆ นั้นมีท่าทีไม่ขัดข้อง ขณะเดียวกันเรียกร้องให้การหารือคลุมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ด้วย เช่น ครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ค้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
และที่สำคัญเรียกร้องให้ถอนร่างพระราชบัญญัติปรองดองจำนวน 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภาออกมาให้หมด โดยย้ำว่าหากยังดึงดันเดินหน้าเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อล้างความผิดกลุ่มพันธมิตรฯ ก็จะชุมนุมใหญ่ทันที
แต่อีกด้านหนึ่ง กลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่รวมถึง ส.ส.ที่เคยเป็นแกนนำคนเสื้อแดงมาก่อนก็ได้รวบรวมรายชื่อกว่า 40 คนเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสภา
น่าจับตาก็คือ “เนื้อหา” ในร่างที่เสนอ หรือที่เตรียมเสนอเข้าสภาว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเข้ามาแบบดุ่ยๆประเภทนิรโทษลบล้างความผิดแบบ “เหมาเข่ง” หรือแม้แต่ใช้วิธี “คลุมเครือ” เพื่อตบตาให้แนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นแบบไม่ครอบคลุมถึงแกนนำหรือผู้สั่งการหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม แต่ในความหมายก็คือแล้วจะพิสูจน์อย่างไรว่าใครคือผู้สั่งการ ใครคือแกนนำ เพราะก่อนหน้านี้บรรดาแกนนำเสื้อแดงหลายคนก็ออกมาปฏิเสธแล้วว่าตัวเองไม่ใช่แกนนำ สั่งการใครไม่ได้เพราะชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมนั้นมาด้วยใจและต้องการเรียกร้องความยุติธรรมเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งหากเป็นแบบนี้ แม้แต่ ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่เข้าข่ายผู้สั่งการจะต้องพ้นความผิดไปด้วย
ที่ผ่านมาทั้ง ทักษิณ และบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงทั้งหมดก็ยังไม่เคยออกมายืนยันยันอย่างเป็นทางการเลยว่าจะไม่รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว ตรงกันข้ามมีแต่แสดงท่าทีจะเอาประโยชน์ให้ตัวเองพ้นความผิดพ่วงไปกับชาวบ้านคนเสื้อแดงไปด้วย ความหมายไม่ต่างจากการ “จับเป็นตัวประกัน” เหมือนกับต้องการเกาะชายผ้าหลุดพ้นออกไปด้วย
นาทีนี้ไม่ว่าจะพยายามตบตาอย่างไรแบบไหน เชื่อว่าในสังคมเริ่มมีความคิดตกผลึกแล้วว่าจะไม่ยอมให้ คนอย่าง ทักษิณ ชินวัตร เอาเปรียบ อยู่เหนือกฎหมายอีกต่อไป การเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ หรือว่ามาในชื่ออื่นก็ตาม แต่หากยังมีเนื้อหาคลุมเครือเพื่อให้ตีความเอื้อประโยชน์แล้วละก็เชื่อว่าสำเร็จยาก อีกทั้งยังต้องเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้นมาอีกรอบ เพราะเวลานี้สังคมส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นตรงกันแล้วว่าทุกอย่างต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม ผิดถูกว่ากันไป ซึ่งอีกทางหนึ่งมันก็เหมือนกับการ “ค้นหาความจริง” ไปในตัวอยู่แล้ว
แต่สำหรับระดับชาวบ้านธรรมดาที่เข้าร่วมการชุมนุมตามปกติ และมีความผิดตามพระราชบัญญัติแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพระราชบัญญัติความมั่นคง หรือขัดคำสั่งเจ้าพนักงานต่างๆนั้น เชื่อว่าในที่สุดแล้วทุกฝ่ายคงเห็นพ้องกัน ซึ่งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรหากไม่มีวาระซ่อนเร้น และกลายเป็นกลุ่มที่ยังปิดบังซ่อนเร้นก็คือ ทักษิณ กับพวกแกนนำเสื้อแดงที่ยังไม่ชัด ยังอ้างมั่วๆว่าต้องการ ปรองดอง ลดความขัดแย้ง ทั้งที่ต้องการลบล้างความผิดให้กับตัวเองเท่านั้นเอง
ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปก็มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวาย โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีท่าทีอย่างไร จะอ้างแบบ “ลอยตัว” ว่าเป็นเรื่องของรัฐสภาคงไม่ได้แล้ว และถ้ายังดึงดันเดินหน้าโดยไม่สนใจความรู้สึกของคนทั่วไป แน่นอนว่าจะต้องเจอกับการชุมนุมขับไล่เป็นครั้งแรก ซึ่งอนาคตของรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นสำคัญ หากต้องการสร้างกระแสความขัดแย้งจนพังในช่วงเดือนเมษายน ก็เดินหน้าร่างกฎหมายล้างผิดได้เลย!!