ส.ส.ชายแดนใต้ ประชาธิปัตย์ แถลงซัดลงนามบีอาร์เอ็นทำงานแบบนักการตลาด “ประเสริฐ” ถามรัฐหวังอะไร หลังเหตุป่วนเพิ่ม ชี้ควรผ่านสภาก่อน จี้แจงข้อเรียกร้อง ด้าน “สุรเชษฐ์” รับแปลก สมช.ขอคุยโจรปรับใช้ พ.ร.บ.มั่นคง 5 อำเภอ สับเอาชาวบ้านเป็นตัวประกัน “อันวาร์” ไล่ “เฉลิม” ลาออก “ถาวร” จ่อทำหนังสือถึงนายกฯ แนะรัฐเป็นเอกภาพผู้ปฏิบัติ ถามความพร้อมคนในพื้นที่ หนุนเก็บดีเอ็นเอเด็กในบัตรประชาชน ค้านแนวทาง “แม้ว” ชี้แค่หาเสียง เตือนลงนามส่อทำองค์กรต่างชาติจุ้น รับเป็นกรรมของชาติต้องเป่าปี่ให้ควายฟังต่อ หนุน มทภ.4 คนใหม่เข้าใจมุสลิม
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายถาวร เสนเนียม แถลงข่าว
วันนี้ 6 มี.ค. ที่รัฐสภา นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นการทำงานแบบนักการตลาดที่มีความเร่งร้อน เร่งรีบ และอยากถามว่ารัฐบาลคาดหวังอะไรต่อการลงนามความร่วมมือ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบก็ไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นสูงนับตั้งแต่ลงนามกันวันที่ 28 ก.พ.เป็นต้นมา มีเพียงวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.วันที่ 3 มี.ค.เพียงวันเดียวที่เงียบสงบ เพราะในสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีการขอให้ฝ่ายผู้ก่อการวางอาวุธ ซึ่งคาดว่าความรุนแรงยังคงจะเกิดขึ้นทุกวัน และความสงบจะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร อีกทั้งยังต้องระวังมือที่ 3 จะเข้ามาสร้างสถานการณ์ ที่อาจจะเป็นข้ออ้างให้กลุ่มผู้ก่อการอ้างได้ว่ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญา และจะกลายเป็นการเพิ่มความรุนแรงได้
นายประเสริฐกล่าวว่า รัฐบาลไปลงนามในฐานะอะไร และสัญญานั้นอยู่ในสถานะอะไร เนื่องจากการลงนามความร่วมมือมันจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เพราะถ้าหากเป็นเซ็นสัญญาเอ็มโอยูธรรมดาก็จะไม่จำเป็นที่จะต้องมีผลในทางปฏิบัติจริง รัฐบาลน่าจะนำเรื่องดังกล่าวผ่านสภาตามมาตรา 190 ก่อนที่จะไปทำการเจรจา เพื่อที่จะหวังผลให้ความร่วมมือดังกล่าวนั้นมีประสิทธิภาพสามารถปฏิบัติได้จริง แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องทำการชี้แจงข้อมูลระหว่างการเจรจาว่าผู้ก่อการเรียกร้องอะไร และรัฐบาลเรียกร้องอะไร เพื่อให้สภาฯ และประชาชนได้รับทราบ ว่าความร่วมมือดังกล่าวนั้นจะกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจหรือไม่
“รัฐบาลต้องมีความจริงใจ อย่าทำการตลาด หากหวังว่าจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา 3จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยให้มีผลในทางปฏิบัติจริงก็จะต้องมาชี้แจงต่อสภาฯ มิเช่นนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวของรัฐบาลก็เป็นเพียงการปาหี่” นายประเสริฐกล่าว
ด้านนายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่าอาจจะมีการพิจารณาปรับใช้จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี, อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.แว้ง อ.สุคีริน จ.นราธิวาส หลังจากเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า แปลกใจมาก ตอนแรกรัฐบาลบอกว่าจะปรับมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่เลขาฯ สมช.กลับต้องรอคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบก่อน ทั้งที่ 5 อำเภอดังกล่าวนั้นก็ได้รับการสนุบสนุนจาก ศอ.บต. และยังมีความพร้อมทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่จะต้องดูแลปัญหาด้วยตัวเอง
นายสุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า สมช.กำลังนำพี่น้องใน 5 อำเภอมาเป็นตัวประกันในการเจรจากลับกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งทำให้มองได้ว่ารัฐบาลนี้ขาดความชัดเจนในการแก้ปัญหา จึงอยากขอความชัดเจนในภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตัดสินใจอย่างเป็นธรรม โดยคิดถึงประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด
ส่วนนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สัญญาณทางบวกในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่มีเลย ครั้งแรกมอบอำนาจให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงดูแล ก็บอกว่าจะลงพื้นที่หลังเสร็จการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ชีวิตของคนในพื้นที่มีค่าน้อยกว่าการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่ตอนนี้เป็น สมช.ที่มาดู
“หาก ร.ต.อ.เฉลิมคิดว่าอยู่เฉยๆ ไม่ทำงาน ไม่ต้องลงพื้นที่ และจะเกิดความสงบขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ขอให้ลาออกไปเลย” นายอันวาร์กล่าว
ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะทำหนังสือเสนอแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม หลังลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการปรับปรุงทิศทางการทำงานดังนี้ คือ สร้างความเป็นเอกภาพในระดับปฏิบัติ รับฟังบุคลากรในพื้นที่แทนที่จะเอานโยบายของรัฐบาลไปครอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การลงนามแล้วจะเปิดโอกาสให้พูดคุยสันติภาพ ใช้กฎหมายความมั่นคงมาตรา 21 และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน อ.กะพ้อ แต่นายอำเภอก็ออกมาบอกว่าไม่พร้อม รัฐบาลจึงควรสอบถามบุคลากรในพื้นที่ก่อนว่ามีความพร้อมหรือไม่ และให้การสนับสนุนการทำงานในพื้นที่อย่างเต็มที่ ต้องมีการเตรียมกระบวนการรองรับเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจหลังมีการมอบตัวตามมาตรา 21 รวมทั้งต้องมีกระบวนการเยียวยาทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันด้วยโดยเฉพาะในส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของกลุ่มผุ้ก่อเหตุไม่สงบด้วย
นายถาวรกล่าวด้วยว่า การทำบัตรประจำตัวประชาชนตั้งแต่อายุ 7 ขวบควรมีการเก็บดีเอ็นเอ แม้ว่าจะมีการอ้างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่น่าจะมีข้อยกเว้นเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง ส่วนกรณีซีซีทีวีที่ สตง.มีการชี้มูลความผิดแต่อยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. ทราบว่ากระทรวงไอซีทีจะรวมศูนย์การจัดซื้อจัดจ้างเพียงฝ่ายเดียว ขอให้ทำอย่างระมัดระวังและทำด้วยความรวดเร็ว และเห็นว่าการเดินหน้าเจรจาตามแนวทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการทำร้ายประเทศไทยอีกครั้ง เพราะการลงนามดังกล่าวต้องถามว่าผู้มาลงนามมีอำนาจจริงในการสั่งการหรือไม่ เนื่องจากหมึกยังไม่ทันแห้งก็เกิดเหตุร้ายขึ้นทุกวัน จึงเห็นว่าเป็นเพียงแค่การหาเสียงทางการเมืองเฉพาะหน้า จึงอยากให้ยกเลิกการลงนาม แต่ขอให้ไปพูดคุยกับทุกกลุ่มในระดับเจ้าหน้าที่แทน
“รัฐบาลต้องระมัดระวังว่าการลงนามเป็นการยอมรับสถานภาพขององค์การก่อการร้ายจะกระทบต่อการเข้ามาแทรกแซงของโอไอซี หรือสหประชาชาติหรือไม่ และรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้กำปั้นเหล็กผิดครั้งที่หนึ่ง ไปเจรจาผิดตัวเกิดระเบิดยะลาผิดครั้งที่ 2 ผิดครั้งที่ 3 ให้น้องสาวไฟเขียวให้มีการลงนามสันติภาพ จึงขอฝากไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าอย่าทำร้ายประเทศไทยด้วยการหาเสียงทางการเมืองที่ไม่ยั่งยืน ไม่ว่าจะไปลงนามอีกกี่กลุ่มเป็นที่หัวเราะของคนในวงการความมั่นคง ที่สำคัญคือทำให้ชีวิตประชาชนและเจ้าหน้าที่ตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเชื่อว่าจะเกิดปฏิกิริยาก่อเหตุรุนแรงตามมาอีก ไฟใต้ที่ลุกโชนขึ้นมาอีกเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณอยู่เบื้องหลัง และความไม่รู้เรื่องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งคงจะเรียกหาความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะคงจะพูดแต่ว่าหนูไม่รู้ หรือจะบูรณาการในการแก้ปัญหา แต่ในฐานะ ส.ส.แม้จะรู้ว่าข้อเสนอของพรรคอาจไม่ได้รับการตอบสนองก็ยังจำเป็นต้องเป่าปี่ให้ควายฟังต่อไป เพราะคนเหล่านี้คงไม่ยอมลาออก ก็ต้องถือว่าเป็นกรรมของประเทศไทย” นายถาวรกล่าว
นายถาวรกล่าวด้วยว่า จะทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อยืนยันว่าพรรคยินดีที่จะเสนอแนะเพื่อบ้านเมืองโดยไม่เล่นการเมืองด้วยการเอาความเป็นความตาของประชาชนและข้าราชการมาเป็นเกมการเมือง และแสดงความเป็นห่วงกรณีที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 จะเกษียณอายุราชการ จึงขอให้การแต่งตั้งคนที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนคัดเลือกคนที่ดี มีความเข้าใจ เข้าถึง และรู้จักการพัฒนาตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามวิถีชีวิตของชาวมุสลิม