หน.ประชาธิปัตย์ไม่ขัดตั้งวาดะห์กุนซือ “เฉลิม” แต่แนะฟังให้รอบด้าน อย่าดึงเรื่องการเมืองจุ้น หนุนใช้ ม.21 บางจุด จวกรองนายกฯ อ้างลงพื้นที่หลังเลือกผู้ว่าฯ กทม.ไม่เหมาะ แหย่น่าโชว์เพาฯ หลังโดน “ปู” ดุ บอกนายกฯ ไม่เปลี่ยนคนคุมเหตุมองไม่เห็นคนอื่น หยันแก้ไฟใต้ถดถอย จี้ทำงานให้หนัก เตือนต้องระวังปูทางโจรเจรจา วอนคิดนโยบายให้สอดคล้อง
วันนี้ (19 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ลงนามตั้งกลุ่มวาดะห์ 9 คนมาเป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ว่า การตั้งที่ปรึกษาที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ให้ข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง แต่อยากให้ฟังรอบด้าน เพราะคนเหล่านี้ก็เคยเป็น ส.ส.ที่ให้ความเห็นได้ และไม่ควรนำเอาเรื่องการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง เพราะปัญหาอย่างหนึ่งคือคนที่รับผิดชอบด้านนี้บางส่วนมีการเล่นการเมือง หรือทำงานโดยมีเป้าหมายทางการเมือง ทำให้เป็นอุปสรรคอยู่ สิ่งสำคัญคือต้องตั้งหลักในเรื่องของนโยบายให้ถูกต้องและเดินอย่างมั่นคง ซึ่งตนเตือนเสมอว่าอย่าเอาการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง แต่ฝ่ายการเมืองก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพียงแต่อย่าแก้ปัญหาโดยหวังผลในเรื่องของการเมือง หรือปฏิบัติผลักดันมาตรการต่างๆ เพียงแค่หวังผลทางการเมืองเท่านั้่น ทั้งนี้ตนไม่ได้คิดว่ากลุ่มวาดะห์จะฟื้นตัวจากการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาภาคใต้หรือไม่ เพราะไม่เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ แต่ความสำคัญอยู่ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ดีแค่ไหนอย่างไร
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลจะใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงจริงก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้เริ่มต้นเอาไว้ แต่หยุดชะงักไปเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายดังกล่าวไม่ควรทำพร้อมกันทุกพื้นที่ ควรใช้ระบบการประเมินว่าพื้นที่ไหนที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งรัฐบาลที่แล้วเริ่มจาก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา และที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี นอกจากนี้จะต้องดูความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายด้วย เพราะว่าที่เขียนในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่ หากไปในทิศทางนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่การลงไปประเมินก็ต้องมีคนที่เอาใจใส่ ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ถูก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีดุไปแล้ว แต่ก็ยังบ่ายเบี่ยงว่าต้องไปหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
“ผมไม่คิดว่าจะเป็นเหตุผลที่เหมาะสม เพราะการลงพื้นที่ก็ไปในเวลาราชการอยู่แล้ว หากว่างจากราชการจะไปหาเสียงก็ทำได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ ร.ต.อ.เฉลิมคงพยายามที่จะบ่ายเบี่ยงไป จริงๆ แล้วถูกดุแล้วก็น่าจะแสดงท่าทีที่เต็มใจและเข้มแข็งหน่อย” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่เปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบดูแลปัญหาภาคใต้จาก ร.ต.อ.เฉลิมเป็นคนอื่น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อาจเป็นเพราะมองไม่เห็นว่าจะมีคนอื่นหรือเปล่าตนไม่ทราบ การจะแก้ปัญหาได้หรือไม่จึงต้องดูที่ ร.ต.อ.เฉลิมว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน เพราะปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องการลงพื้นที่เท่านั้น แต่ถ้า ร.ต.อ.เฉลิมยังมีความเชื่อพื้นฐาานว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากน้ำมันเถื่อน ขายของเถื่อนก็คงแก้ไม่ได้ ทั้งนี้ ตนอยากให้นโยบายนิ่งเมื่อกำหนดว่าจะไปในแนวทางที่จะใช้กฎหมายความมั่นคงมาเป็นประโยชน์ก็ควรนิ่งอยู่ในแนวทางนี้ และต้องใช้เวลาพอสมควรในการเตรียมการในแง่ข้อกฎหมาย บุคลากร ซักซ้อมกับในพื้นที่และต้องลงไปติดตามเอาใจใส่ แต่ถ้าพูดมาแล้วอีกหนึ่งเดือนเปลี่ยนแนวอีก หรือพูดแล้วไม่มีความเอาใจใส่ในพื้นที่อย่างจริงจังก็จะไม่สำเร็จ
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ตลอดระยะเวลาปีครึ่งที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้การแก้ปัญหาภาคใต้ถดถอยลง เพราะการทำงานด้านนี้ต้องอาศัยความต่อเนื่อง เนื่องจากต้องอาศัยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่เมื่อเดินไปแล้วหยุดจึงกลายเป็นการถอยหลัง ไม่ใช่แค่หยุดอยู่กับที่ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องทำงานหนักขึ้นหากจะมาในแนวทางนี้ จึงอยากให้รัฐบาลประกาศแนวทางให้ชัดและอย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อีกทั้งต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายในพื้นที่ด้วย ซึ่งตนได้เคยอธิบายไปแล้วว่าต้องมีความต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่ทุกครั้งเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นรัฐบาลจะส่งคนไปเจรจากับทางมาเลเซีย โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรีก็เตรียมที่จะเดินทางไปมาเลเซียด้วยตัวเอง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อันนี้เป็นอีกเรื่องที่อยากให้ทบทวน เพราะตนเตือนไปแล้วว่ามีความละเอียดอ่อนอยู่จึงอยากให้ระมัดระวัง แม้ว่าเราจะต้องอาศัยความร่วมมือจากมาเลเซียในบางเรื่อง แต่การที่ไปพูดคุยในลักษณะซึ่งเหมือนกับจะปูทางไปสู่การให้เขามามีบทบาทในการเจรจาต้องระวัง ซึ่งปัญหานี้เริ่มต้นมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นต้นคิดและคิดว่ามีความสัมพันธ์ที่จะไปดึงคนโน้นคนนี้เข้ามา จึงทำให้รัฐบาลไปเชื่อตรงนั้นมาก เป็นเหตุให้รัฐบาลยังเดินในแนวทางนี้ ตนจึงอยากให้กำหนดนโยบายการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกันทั้งในและต่างประเทศ