ดุสิตโพลมีมติงดทำ Exit Pool ระบุความขัดแย้งทางการเมืองที่มีสูง อาจไม่ได้คำตอบที่แท้จริง เหตุไม่มั่นใจในตัวผู้ถามว่ามาจากไหน แต่หันทำ Entry Poll แทน
นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานการสำรวจความนิยมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของสวนดุสิตโพล เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการทำ Exit Poll ในวันเลือกตั้งและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าสวนดุสิตโพล จะไม่ทำ Exit Poll ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่สำคัญดังนี้ คือ 1. ในสถานการณ์ที่มีความขัดเย้งทางการเมืองและการแข่งขันที่สูง อาจสร้างความลำบากใจให้กับผู้ตอบเกิดความระแวงในการให้คำตอบและแสดงความคิดเห็นเพราะไม่มั่นใจในตัวผู้ถามว่ามาจากพรรคการเมืองหรือหัวคะแนนหรือไม่ ข้อมูลที่ได้อาจเอนเอียงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง 2. เป็นห่วงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่อาจถูกยัดเยียดหรือหลอกลวงให้หลงกลที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง 3. เกิดความไม่คุ้มค่าเพราะหลังเลือกตั้งใช้เวลาเพียงแค่ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก็สามารถรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งไม่ห่างจากการนำเสนอผล Exit Poll มากนัก และที่สำคัญทางทีวีพูลยังได้มีการทำ Exit Poll แล้วและรายงานผลการนับคะแนนที่เป็นปัจจุบันหรือ Real time อีกด้วย
4. พบหลักฐานชัดเจนว่าสวนดุสิตโพลถูกแอบอ้างโดยมีการนำชื่อไปใช้ในการเก็บข้อมูลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของสวนดุสิตโพล และมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะการทำ Exit Poll ที่จะนำผลไปใช้ประโยชน์เพื่อผู้สมัครของตนเองในลักษณะส่อไปในทางทุจริต 5. เวลานี้สวนดุสิตโพลถูกจับตาอย่างเข้มงวด ประหนึ่งเป็นการจ้องจับผิดการทำงานในทุกย่างก้าว แม้จะเป็นไปตามหลักวิชาการก็ตาม ก็อาจพลาดพลั้งหรือสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาจนนำไปสู่การผิดกฎหมายเลือกตั้ง 6. การแข่งขันสูง จากสถานการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่เริ่มแข่งขันกันอย่างสูงในช่วง 7 วันสุดท้าย โดยผลของโพลเองถูกมองว่าไม่เป็นกลาง อาจมีผลต่อการตัดสินใจเลือก หรือไม่เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง
7. การเข้าถึงประชาชน ณ หน่วยเลือกตั้งเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะถูกกำหนดให้อยู่ห่างจากหน่วยเลือกตั้ง 100 เมตร 8. สวนดุสิตโพลมีข้อมูลที่เพียงพอ เพราะได้รวบรวมมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วง 7 วันก่อนเลือกตั้ง แต่ยังไม่สามารถเผยแพร่ได้ต้องรอหลังจากปิดหีบการเลือกตั้งเวลา 15.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2556 ก่อนจึงไม่จำเป็นต้องทำ Exit Poll
นายสุขุมกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวคณะที่ปรึกษาสวนดุสิตโพลต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการงดทำ Exit Poll ครั้งนี้เป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งเพราะจะทำให้สถานะของสวนดุสิตโพลมั่นคงและสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน ในภาวะการแข่งขันทางการเมืองที่รุนแรง รวมทั้งจะไม่เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยโดยรวมอีกด้วย แต่คณะที่ปรึกษาเห็นชอบให้สวนดุสิตโพลทำ Entry Poll แทน ซึ่งจะเป็นการเก็บข้อมูล 2 วันก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง
ส่วนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอตรวจสอบการทำโพลของสวนดุสิตโพลนั้น ได้รวบรวมและจัดส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ได้แก่ การออกแบบ การสุ่มตัวอย่าง จำนวนกลุ่มตัวอย่าง และสำเนาแบบสำรวจทั้งหมดที่เป็นไปตามหลักวิชาการทำโพลไปให้ กกต.ตรวจสอบแล้ว
การที่สวนดุสิตโพล หรือสำนักโพลอื่นๆ ณ วันนี้ แสดงจุดยืนในการไม่ทำ Exit Poll นั้น ไม่ได้เป็นการแสดงถึงความไม่เข้มแข็งของวงการคนทำโพล แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการนำชื่อเสียง ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อสำนักโพลไปใช้ในทางที่ผิด แอบอ้างแสวงหาผลประโยชน์ เนื่องจากในปัจจุบันความแตกแยกในสังคมไทยมีค่อนข้างเด่นชัด ดังนั้นโพลจึงต้องรักษาบทบาทของการสมานฉันท์ ความปรองดองโดยการแสดงจุดยืนดังกล่าว เพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืนในการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในอนาคตต่อไป