ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนมองศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถูกโพลชี้นำมากกว่าเจาะลึกนโยบาย ยกโพลเลือกตั้งสนามใหญ่ และเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี 52 คะแนนกลับตรงกันข้าม ชี้แทบทุกสำนักมักง่าย คลาดเคลื่อนสูง แนะหากตั้งคำถามเชิงลึกจะช่วยการเลือกตั้งมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อผู้สมัครมากขึ้น
วันนี้ (3 ก.พ.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวถึงกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเห็นว่า การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนี้กำลังถูกชี้นำด้วยผลโพลมากเกินไป แม้จะปฏิเสธโพลไม่ได้ก็ตามแต่หลายครั้งโพลก็ผิดพลาดมาแล้ว เช่น กรณีการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 สำนักโพลทั้ง 4 แห่ง คือ เอแบคโพลล์ สวนดุสิตโพล ศรีปทุมโพล และนิด้าโพล ได้ทำเอ็กซิตโพล (Exit Poll) หรือการสำรวจผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหน้าคูหาเลือกตั้ง ปรากฏว่าผลเอ็กซิตโพลทั้ง 4 แห่งสวนทางกับผลการเลือกตั้งจริง โดยเฉพาะใน กทม.นั้นเอ็กซิตโพลระบุว่าเพื่อไทยจะได้ ส.ส.มากกว่า 20 ที่นั่ง แต่ผลจริงๆ ได้แค่ 10 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีความคลาดเคลื่อนสูงมาก
หรือแม้แต่ผลโพลที่มีการสำรวจคะแนนนิยมโค้งแรกในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมื่อ 11 มกราคม 2552 โพลบางสำนักระบุว่าหม่อมปลื้ม หรือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครอิสระคะแนนนำผู้สมัครคนอื่นในช่วงแรกๆ ซึ่งอาจเพราะการทำการตลาดเก่ง ตอนนั้นเอแบคโพลล์สำรวจพบว่าหม่อมปลื้มคะแนนนิยม 37% ในขณะที่คุณชายได้ 36.4% แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็สวนทางอย่างสิ้นเชิง ที่น่าสนใจโพลทุกสำนักตอนนั้นระบุว่าหม่อมปลื้มคะแนนนิยมนำนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่โค้งแรกจนโค้งสุดท้ายอยู่เกือบเท่าตัว แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งกลับตาลปัตรอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ ในสังคมประชาธิปไตยโพลเข้ามามีบทบาทสูงมากในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ซึ่งโพลต้องพัฒนาตัวเองด้วย โดยเฉพาะความเป็นวิชาการ ในหลายประเทศโพลมีบทบาทมากกว่าสำรวจความนิยม แต่ถ้าดูบทบาทของโพลแทบทุกสำนักในบ้านเรายังเน้นการสำรวจความนิยมทั่วๆ ไป ซึ่งทำง่ายและคลาดเคลื่อนสูง ยังไม่เจาะลึกไปในระดับนโยบาย ซึ่งแต่ละนโยบายมีฐานคะแนนหรือกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิเลือกตั้งต่างกัน เช่น นโยบายปราบแผงลอยบนทางเท้า คนชั้นกลางไปถึงระดับสูงอาจชอบ แต่คนจนระดับล่างจะไม่ชอบ หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ คนด้อยโอกาส โพลน่าจะเป็นเครื่องมือให้คนด้อยโอกาสสะท้อนว่าพวกเขาอยากได้นโยบายแบบไหน ซึ่งคนในชุมชนหาเช้ากินค่ำกับคนบ้านมีรั้วหรือบ้านจัดสรรมีพฤติกรรมการเลือกตั้งคนละแบบกัน
“ถ้าโพลตั้งคำถามเชิงลึก จำแนกนโยบายและกลุ่มเป้าหมายและปริมาณผู้มาใช้สิทธิในแต่ละฐานนโยบาย เชื่อว่าจะทำให้การเลือกตั้งมีคุณภาพมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้สมัครที่จะเห็นปัญหามากขึ้น กำหนดนโยบายสอดคล้องปัญหา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายไปในตัว” นายสุริยะใสกล่าว