xs
xsm
sm
md
lg

สอนมวยโพลสำรวจ เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เน้นนโยบายเลิกปั่นกระแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอแบคโพลล์ สำรวจโค้ง 2 การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "จูดี้" นำ "ชายหมู" 10 จุด คาดมาจากความชัดเจนเรื่องทีมรองผู้ว่าฯและข่าวที่ "พงศพัศ" ถูกหน่วยราชการกีดกันไม่ให้เข้าไปหาเสียง ด้าน"ดุสิต"โพลชี้ คนกรุงไม่ชอบ การเสนอข่าวเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ไม่เป็นกลาง ลำเอียง เลือกข้าง "ยะใส" สอนมวยสำนักโพล ควรถามเจาะลึกไปถึงนโยบาย มากกว่าดูแค่กระแสความนิยม เตือนจะหน้าแตกเหมือนเอ็กซิทโพล และเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่แล้ว

วานนี้ (3 ก.พ.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ต้นเหตุการเมืองระดับชาติ กับ การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ใครนำใครตามในโค้งที่ 2 จากตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร 1,673 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 2 ก.พ. พบว่า

ความนิยมของสาธารณชนคนกรุงเทพฯต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือจากร้อยละ 32.1 ก่อนวันรับสมัคร มาอยู่ที่ร้อยละ 41.8 ในโค้งที่ 1 และร้อยละ 43.1 ในโค้งที่ 2 ในขณะที่ความนิยมของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 37.6 ในโค้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 33.1 ในโค้งที่ 2 ทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ทิ้งห่าง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ออกไปอีก 10 จุด เมื่อสอบถามถึงข่าวสารความขัดแย้งภายในระหว่าง นปช. กับ รัฐบาล เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรื่องพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในครั้งนี้หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.8 ระบุ ไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในขณะที่ร้อยละ 40.2 ระบุว่า ส่งผล

เมื่อถามถึงข่าวสารประเด็นการเมืองระดับชาติในปัจจุบัน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และเขาพระวิหาร ส่งผลต่อการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ในครั้งนี้หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 64.5 ระบุ ไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในขณะที่ร้อยละ 35.5 ระบุว่า ส่งผล
สำหรับข่าวการที่ข้าราชการ กทม. ไม่ยอมให้ พล.ต.อ.พงศพัศ เข้าไปหาเสียง แต่อนุญาตให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เข้าไปหาเสียงได้ ส่งผลต่อความรู้สึกอย่างไรต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พบว่า เกินครึ่ง หรือร้อยละ 53.9 ระบุ ส่งผลดีต่อพล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 46.1 ระบุไม่ส่งผลอะไร

เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ที่จะมาถึงนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 63.4 ตั้งใจจะไป ในขณะที่ร้อยละ 36.6 จะไม่ไป

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวถึงผลการสำรวจที่พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนิยมเหนือกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อาจเป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทย กำลังมีปัจจัยบวกเข้ามาเพิ่มความลงตัว จากฐานเสียงของ ส.ก.- ส.ข. และการสนับสนุนจาก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รวมถึงการเปิดตัวรองผู้ว่าฯ กทม.ของ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เช่น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ และนางปวีณา หงสกุล เป็นต้น และยังมีเรื่องข่าวที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ถูกปฏิเสธจากหน่วยราชการไม่ให้เข้าไปหาเสียง

ในขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ยังไม่มีอะไรโดดเด่นขึ้นมาในช่วงเวลาของการทำสำรวจ ส่งผลให้คะแนนนิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ เริ่มทิ้งห่างออกไปอีกในโค้งที่ 2 นี้

**คนกรุงไม่ชอบการเสนอข่าวลำเอียง

ด้านสวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 50 เขต จำนวน 1,250 คน ระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-2 ก.พ. เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้สมัคร และสื่อมวลชนในการที่จะตอบสนองผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตรงกับความต้องการ สรุปผลได้ ดังนี้

1. ปัจจัยใดบ้าง? ที่มีผลทำให้คนกรุงเทพฯ เปลี่ยนใจเลือกผู้สมัครคนใหม่ จากเดิมที่ตั้งใจไว้
อันดับ 1 ผู้สมัครคนอื่นมีนโยบายที่น่าสนใจกว่า เมื่อฟังแล้วรู้สึกถูกใจและคิดว่าน่าจะเป็นไปได้จริง 61.04% อันดับ 2 ดูจากกระแสหรือการตอบรับของคนส่วนใหญ่ /ผู้สมัครมีผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ 17.60% อันดับ 3 ดูจากบุคลิกลักษณะ ความน่าเชื่อถือ /ผู้ที่มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในสังคมรับประกัน 12.35% อันดับ 4 มีประวัติเสื่อมเสีย ด่างพร้อย พัวพันการทุจริตคอรัปชั่นหรือยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 5.24% อันดับ 5 การพูดใส่ร้ายคนอื่น คอยแต่หาเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง 3.77%
2. การหาเสียงผู้ว่าฯกทม. “ครั้งก่อน” กับ “ครั้งนี้” ต่างกันหรือไม่ ?

อันดับ 1 ไม่ต่างกัน 59.54% เพราะ ยังคงเป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ ,เน้นการลงพื้นที่และชูนโยบายที่เอาใจคนกรุงเทพฯเหมือนเดิม ฯลฯ อันดับ 2 ต่างกัน 40.46% เพราะ ผู้สมัครครั้งนี้ต่างเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มาจากหลากหลายอาชีพ เป็นคนคุณภาพที่อาสาเข้ามาทำงาน ,รูปแบบการหาเสียงเน้นผ่านสังคมออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ

3. การนำเสนอข่าวเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ของสื่อมวลชนทั้งทีวี วิทยุ นสพ. ที่คนกรุงเทพฯ ชื่นชอบ คือ
อันดับ 1 การสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้สมัครเบอร์ต่างๆ เปิดโอกาสให้นำเสนอนโยบายแสดงวิสัยทัศน์ได้อย่างอิสระ 53.81% อันดับ 2 เกาะติดสถานการณ์ นำเสนอข่าวรวดเร็ว /รายงานความเคลื่อนไหวหรือมีข่าวให้ติดตามตลอดทั้งวัน 27.94% อันดับ 3 การนำเสนอผลหรือข้อมูลที่เป็นตัวเลข จัดอันดับเปรียบเทียบที่ดูเข้าใจง่าย มีภาพหรือกราฟฟิคประกอบ 18.25%

4. การนำเสนอข่าวเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ของสื่อมวลชนทั้งทีวี วิทยุ นสพ.ที่คนกรุงเทพฯไม่ชอบ/เบื่อหน่าย คือ

อันดับ 1 นำเสนอข่าวไม่เป็นกลาง ลำเอียง เลือกข้าง เลือกนำเสนอเฉพาะบางคน 38.36 % อันดับ 2 นำเสนอข่าวเกินความเป็นจริง ตีไข่ใส่สีให้ทะเลาะกัน / ขุดคุ้ยเรื่องเก่ามาโจมตี ใส่ร้ายผู้สมัคร 31.48% อันดับ 3 นำเสนอข่าวเพียงด้านเดียว ไม่ได้นำเสนอทั้งหมด / เลือกเฉพาะประเด็นที่คิดว่าขายได้เท่านั้น 30.16%

** แนะโพลควรสำรวจลึกถึงนโยบาย

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics)กล่าวว่า การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนี้กำลังถูกชี้นำด้วยผลโพลมากเกินไป แม้จะปฏิเสธโพลไม่ได้ก็ตาม แต่หลายครั้งโพลก็ผิดพลาดมาแล้ว เช่น กรณีการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 สำนักโพลทั้ง 4 แห่ง คือ เอแบค์โพล สวนดุสิตโพล ศรีปทุมโพล และนิด้าโพล ได้ทำ “เอ็กซิทโพล (Exit Poll) ” หรือการสำรวจผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหน้าคูหาเลือกตั้ง ปรากฏว่าผลเอ็กซิทโพลทั้ง 4 แห่ง สวนทางกับผลการเลือกตั้งจริง

โดยเฉพาะในกทม.นั้น เอ็กซิทโพลระบุว่า เพื่อไทยจะได้ ส.ส.มากกว่า 20 ที่ แต่ผลจริงๆ ได้แค่ 10 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีความคลาดเคลื่อนสูงมาก

หรือแม้แต่ผลโพล ที่มีการสำรวจคะแนนนิยมโค้งแรกในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมื่อ 11 ม.ค. 52 โพลบางสำนักระบุว่า หม่อมปลื้ม หรือ มล.ณัฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครอิสระ คะแนนนำผู้สมัครคนอื่นในช่วงแรกๆ ซึ่งอาจเพราะการทำการตลาดเก่ง ตอนนั้นเอแบคโพลสำรวจพบว่า หม่อมปลื้ม คะแนนนิยม 37 % ในขณะที่คุณชายได้ 36.4 % แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็สวนทางอย่างสิ้นเชิง

ที่น่าสนใจโพลทุกสำนักตอนนั้นระบุว่า หม่อมปลื้ม คะแนนนิยมนำ นายยุรนันท์ ภรมนตรี ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่โค้งแรกจนโค้งสุดท้ายอยู่เกือบเท่าตัว แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งกลับตาลปัตรอย่างสิ้นเชิง

ในสังคมประชาธิปไตยโพลเข้ามามีบทบาทสูงมากในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ซึ่งโพลต้องพัฒนาตัวเองด้วย โดยเฉพาะความเป็นวิชาการ ในหลายประเทศ โพลมีบทบาทมากกว่าสำรวจความนิยม แต่ถ้าดูบทบาทของโพลแทบทุกสำนักในบ้านเรา ยังเน้นการสำรวจความนิยมทั่วๆไป ซึ่งทำง่ายและคลาดเคลื่อนสูง ยังไม่เจาะลึกไปในระดับนโยบาย ซึ่งแต่ละนโยบายมีฐานคะแนน หรือกลุ่มเป้าหมายที่มีมีสิทธิ์เลือกตั้งต่างกัน เช่น นโยบายปราบแผงลอยบนทางเท้า คนชั้นกลางไปถึงระดับสูงอาจชอบ แต่คนจนระดับล่าง จะไม่ชอบ

หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ คนด้อยโอกาส โพลน่าจะเป็นเครื่องมือให้คนด้อยโอกาสสะท้อนว่าพวกเขาอยากได้นโยบายแบบไหน ซึ่งคนในชุมชนหาเช้ากินค่ำ กับคนบ้านมีรั้ว หรือบ้านจัดสรร มีพฤติกรรมการเลือกตั้งคนละแบบกัน

ถ้าโพลตั้งคำถามเชิงลึก จำแนกนโยบายและกลุ่มเป้าหมายและปริมาณผู้มาใช้สิทธิในแต่ละฐานนโยบาย เชื่อว่าจะทำให้การเลือกตั้งมีคุณภาพมากขึ้น และเป็นประโยชน์กับผู้สมัครที่จะเห็นปัญหามากขึ้น กำหนดนโยบายสอดคล้องปัญหา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายไปในตัว

** ปชป.เปิด 7 นโยบายเพื่อคนกรุง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการรณรงค์หาเสียงให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ของพรรค ว่า หลังจากได้นำเสนอคุณสมบัติตัวผู้สมัคร ความตั้งใจในการทำงานไปแล้ว หลังจากนี้เป็นต้นไปจะเน้นเรื่องนโยบาย 7 เรื่องสำคัญนำเสนอต่อประชาชน คือ

1. กรุงเทพฯสีเขียวสะอาดสวยงาม 2. เมื่อป่วยเราดูแล ไม่ป่วยเรามีรางวัล 3. เด็ก กทม.อิ่มท้อง สมองดี มีวินัยเก่งภาษาอังกฤษ 4. กรุงเทพฯ มหานครอาเซียน 5 . เดินทางรวดเร็ว สะดวกประหยัด 6. กรุงเทพฯปลอดภัย เฝ้าระวังภัยยาเสพติด 7. ทุกชีวิตปลอดภัยจากภัยพิบัติ โดยทุกนโยบายทำได้จริง ไม่เพ้อฝัน มีงบประมาณทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาจากส่วนอื่นที่ไม่มีความแน่นอน ว่าจะทำได้หรือไม่
นายองอาจ ยังกล่าวตอบโต้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่ออกมาระบุว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองใดยื่นเรื่องขอหาเสียงในสถานที่ของทหาร ว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือไปยังเหล่าทัพต่างๆ แล้วประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แค่รอคำตอบจากผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า จะอนุญาตให้ไปหาเสียงได้เมื่อไร จะได้ประสานงานเพืิ่อหาเสียงในที่ตั้งหน่วยทหาร ซึ่งคิดว่าไม่นาจะมีปัญหา เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการให้สัมภาษณ์ไฟเขียวไว้แล้วว่าสามารถหาเสียงได้ แต่วันจันทร์นี้ จะติดตามอีกครั้งว่าจะอนุญาตหรือไม่ เพื่อจะได้เดินหน้าหาเสียงกับกำลังพลในกทม. ซึ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากในกทม.

นอกจากนี้พรรคจะเร่งทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ผู้สมัครของพรรคมีความเหมาะสมเป็นผู้ว่าฯกทม. เดินหน้าทำงานต่อได้ทันที

ดังนั้นเมื่อผลสำรวจความนิยมออกมาว่า พรรคมีคะแนนเป็นรอง ก็อยากให้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนโยบายด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญของประชาชน และการที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนนั้น ต้องมีนโยบายที่ทำได้จริง ไม่เพ้อฝัน ซึ่งเชื่อว่าหากมีการสอบถามเรื่องนี้ จะเป็นการดีสำหรับคนกทม. เพราะจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นในการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้งไม่เป็นห่วงที่พรรคเพื่อไทย มีการเปิดเวที 150 จุด เพราะพรรคมุ่งเน้นในเรื่องการเจาะลึกเข้าถึงชุมชน ตลาดนัด การปราศรัยย่อย ซึ่งดำเนินไปแล้วเกือบ 100 จุด กว่าจะถึงวันเลือกตั้งเชื่อว่าไม่ต่ำกว่า 300 จุดขึ้นไป เพราะกระจายเป็นจุดย่อยๆ โดยใช้รถแห่ประชาสัมพันธ์ของพรรค และเปิดคำปราศรัยที่ลานคนเมือง ของหัวหน้าพรรคด้วย

ด้านกลุ่มส.ส.และคนหนุ่มคนสาวในพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายพุฒิพงศ์ ปุณณกันต์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวช่วยกันรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกับเยาวชนกลุ่มวัยรุ่นในนาม “แก๊งก่อโหวต รักกรุงเทพโคตรๆ เลือกเบอร์ 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” โดยมุ่งเน้นหาเสียงในสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ควมสนใจ เช่น การเพิ่มเส้นทางจักรยาน 30 เส้นทาง และจักรยานบริการฟรี 1 หมื่นคัน เพิ่มพื้นที่สีเขียว 5 พันไร่ พร้อม 10 สวนสาธารณะขนาดใหญ่ เพิ่มพื้นที่ให้เพื่อนแสนดี สวนสุนัข หรือ DOG PARK 4 มุมเมือง และติดตั้ง WIFI ความเร็วสูง 4 MB 5 พันจุดฟรีด้วย โดยในวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะนำทีมแก๊งก่อโหวต หาเสียงกับกลุ่มวัยรุ่นที่ศูนย์หนังสือจุฬา และสยาม แสควร์ด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น