รายงานการเมือง
หน้าแหกต้องเอาปี๊บคลุมหัวกันเลยทีเดียว สำหรับสำนักทำโพลทั้งหลาย ทั้ง “เอแบคโพลล์-สวนดุสิตโพล-บ้านสมเด็จโพล-กรุงเทพเทพโพลล์” ในการสำรวจคะแนนนิยมผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีการสำรวจคะแนนนิยมกันมาหลายรอบก่อนหน้าวันเลือกตั้ง 3 มีนาคม 2556
ทุกสำนักฟันธงให้คะแนน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมนำมาตลอด จนถูกสร้างกระแสว่าจะได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
โดยเฉพาะหลายสำนักอย่าง “เอแบคโพลล์” - “สวนดุสิตโพล” ที่มีการเผยผลสำรวจ 2-3 ครั้งก่อนหน้าวันเลือกตั้งว่าคะแนน พล.ต.อ.พงศพัศ เหนือกว่าและมีโอกาสชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน คงมีเพียง “บ้านสมเด็จโพล” แห่งเดียวที่มีการเผยผลสำรวจก่อนหน้านี้ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีคะแนนนำ แต่ในการเปิดเผยผลสำรวจรอบสุดท้าย “บ้านสมเด็จโพล” กลับบอกว่า พล.ต.อ.พงศพัศ คะแนนนิยมนำสุขุมพันธุ์
ยิ่งผลสำรวจ Exit Poll และ Entry Poll ของหลายสำนักเช่น “สวนดุสิตโพล” - “บ้านสมเด็จโพล” ที่ร่วมกับทีวีพลูและมหาวิทยาลัยเนชั่นที่ประกาศหลังปิดหีบเลือกตั้ง ผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกแห่งว่า พล.ต.อ.พงศพัศ จะได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. รวมถึง “เอแบคโพลล์” ที่ใช้การทำแบบ Pre-Election Poll คือการสำรวจจากประชาชนก่อนหน้าวันเลือกตั้งหนึ่งวันคือ 2 มีนาคม ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเช่นเดียวกันหลังปิดหีบเลือกตั้ง เอแบคโพลก็บอกว่า พล.ต.อ.พงศพัศจะชนะการเลือกตั้งเหนือสุขุมพันธุ์
คงมีเพียง “นิด้าโพล” แห่งเดียวที่บอก่วาสุขุมพันธุ์มีคะแนนนำในการทำ Exit Poll
สิ่งที่เกิดขึ้นคงทำให้หลายสำนักโพลต้องทบทวนตัวเองได้แล้วกับการทำสำรวจความคิดเห็นประชาชนในลักษณะการทำโพลเลือกตั้งแบบนี้ว่า
ทำไมจึงเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้บ่อยครั้งเช่นนี้
โดยเฉพาะโพลบางสำนักที่การเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 ก็หน้าแหกกับการทำโพลแบบนี้โดยเฉพาะ Exit Poll ที่ผิดพลาดขนาดหนักจนทำให้แทบสิ้นชื่อกับการทำนายผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขตกรุงเทพมหานครที่ตอนนั้นบอกว่าเพื่อไทยจะชนะประชาธิปัตย์แต่ผลกลับออกมาตรงกันข้ามกลายเป็นประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตทิ้งห่างเพื่อไทยแทบไม่เห็นฝุ่น
แทนที่สำนักโพลที่ทำผิดพลาดในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอย่าง “สวนดุสิตโพล” จะกอบกู้ชื่อเสียงตัวเองให้ได้ในการทำโพลเลือกตั้งครั้งนี้ หรือ Exit Poll และ Entry Poll แต่ก็กลับเป็นการสร้างความผิดพลาดครั้งใหญ่ตามมาอีก
จริงอยู่ว่า ความคลาดเคลื่อนในการทำโพลนั้นย่อมเกิดขึ้นตามหลักสถิติและกระบวนการวิจัยเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพราะการทำโพลเป็นการทำกับ “พฤติกรรมมนุษย์” ซึ่งไม่สามารถวัดค่าความแน่นอนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ย่อมมีความคลาดเคลื่อนได้
ยิ่งกับคนกรุงเทพมหานคร ที่ต้องยอมรับความจริงว่ายังคงมีความเคลือบแคลงต่อการทำโพลอยู่ เวลามีการสอบถามหน้าคูหาเลือกตั้งหรือในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ก็อาจให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงได้
อย่างไรก็ตาม ตัวสำนักโพลทุกแห่งก็มักออกตัวก่อนว่าการทำโพลมีสิทธิ์คลาดเคลื่อนได้ ในระดับไม่เกินร้อยละ 7 โดยอ้างสาเหตุต่างๆ เช่น การเก็บตัวอย่างอาจไปเก็บจากคนที่ต้องการจะเลือกผู้สมัครพรรคนั้นหรือผู้สมัคคนนั้นอยู่แล้ว เวลาเอาผลมาประมวลก็เลยทำให้ค่าของโพลคลาดเคลื่อนออกมากับข้อเท็จจริง
แต่ข้อแก้ตัวเรื่องดังกล่าว ว่าไปแล้วก็ฟังไม่ขึ้น เพราะการทำโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้มีการทำโพลหลายรอบและมีการวิจารณ์กันมาตลอด แต่สำนักโพลก็มักอ้างว่ามีความแน่นอน น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะบางสำนักถึงกับประกาศก่อนหน้าวันที่ 3 มีนาคมว่าผล Exit Poll และ Entry Poll จะมีค่าความคลาดเคลื่อนน้อยมากไม่เกินร้อยละ 7
เช่น “บ้านสมเด็จโพล” ที่ร่วมกับทีวีพูล และม.เนชั่นที่บอกว่ามีการจะเก็บตัวอย่าง Exit Poll ครั้งนี้ทำกันค่อนข้างเยอะ คือ 1 เขตจะเก็บประมาณ 400 ตัวอย่าง โดยแต่ละเขตจะมีคนไปทำ Exit poll ประมาณ 40 คน คนละ 40 ตัวอย่าง ก็จะได้เขตละ 400 ตัวอย่าง เท่ากับทั้งกรุงเทพฯ ตัว Exit Poll ก็จะสำรวจออกมา 20,000 ตัวอย่าง ตามหลักวิชาการก็จะได้ค่าความเชื่อมั่น 99 เปอร์เซ็นต์ ค่าความคลาดเคลื่อนจะแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ และมีการประกาศผลออกมาหลัง 15.00 น.ว่า พล.ต.อ.พงศพัศจะชนะแต่แล้วก็ปรากฏว่าโพลเจ๊งยับ!
จึงเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่สำนักโพลทั้งหลายต้องทบทวนตัวเองได้แล้วในเรื่องกระบวนการทำงาน การเก็บข้อมูล การสุ่มตัวอย่าง การตั้งคำถาม และการเผยแพร่ผลโพล เพื่อให้ผลโพลที่ออกมามีความน่าเชื่อถือมากที่สุดไม่ใช่ผิดพลาดบ่อยครั้งเช่นนี้
และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำให้สัมภาษณ์ของนพดล กรรณิกา แห่งเอแบคโพลล์ ที่บอกว่า หลังจากนี้เป็นต้นไปเอแบคโพลล์จะทำการสำรวจโพลเลือกตั้งเพื่อสำรวจคะแนนนิยมของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทุกครั้งแต่จะไม่เปิดเผยอีกต่อไปแล้ว
เพราะหลังการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว ผลโพลเลือกตั้งไม่ว่าของสำนักไหนคงถูกตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถืออย่างมาก จนถึงขั้นเสื่อมไปเลยก็ว่าได้