xs
xsm
sm
md
lg

“นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (11)

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง,สุวินัย ภรณวลัย

“ไร้รอยต่อ” ที่พ่ายแพ้อย่างยับเยิน
ก็เพราะต้องการ “ต้ม” คน กทม.ไม่จริงใจแต่อย่างใด
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ปรากฏให้เห็นว่า คุณชายสุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะถล่มทลาย “เอาเสาไฟฟ้าฝังลงดิน” ด้วยคะแนนเกินล้านหรือห่างจากคู่แข่งเกือบ 2 แสนเสียงหรือประมาณร้อยละ 20

มีประเด็นที่ควรจะทำความเข้าใจจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลายประเด็นเพื่อให้ คนกทม.และคนชั้นกลางล่าง “ตาสว่าง” ไม่ถูกหลอกถูกต้มอีกต่อไป

1. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ (2556) ผู้ชนะจาก ปชป.ได้คะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในขณะที่ผู้สมัครจาก พท.ดูเหมือนว่าจะได้คะแนนเพิ่มมากขึ้น แต่โดยข้อเท็จจริงก็คือการเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ผู้สมัครอันดับ 2 และ 3 ในปี 2552 และอันดับ 2 และ 4 ในปี 2551 ก็มาจากฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นหากรวมเอาคะแนนที่ได้จากกลุ่มฐานเสียงเดียวกัน เช่น (29.72+16.27=45.99) ในปี 2552 และ (25.19+12.05=37.24) ในปี 2551 มาเปรียบเทียบจะเห็นได้ชัดว่ามีคะแนนที่ลดลงมิได้เพิ่มขึ้นอย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

นี่อาจจะเป็นที่มาของยุทธวิธีในการส่งคนลงมาตัดคะแนนในครั้งนี้เนื่องจากเห็นได้ชัดจากการเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนว่าหากมีผู้สมัครที่เป็นตัวแทนเพียงคนเดียวก็อาจมีทางชนะได้เพราะคะแนนเสียงไม่แตก ดังจะเห็นได้จากเบอร์ 10 และ 11 ต่างก็เป็นเสมือนแนวร่วมมุมกลับให้กับเบอร์ 9 เนื่องจากมีฐานเสียงเดียวกับเบอร์ 16 ขณะที่เบอร์ 17 แม้มิได้เป็นแนวร่วมฯ แต่ก็เป็นตัวแบ่งคะแนนจากเบอร์ 16 ด้วยฐานเสียงเดียวกัน

2. คนกทม.เลือกเพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทักษิณที่จะส่งคนรับใช้คนใหม่มาครอง กทม.หรือเลือกเพราะความกลัวที่จะได้แกนนำ นปช. เช่น นายจุตพรหรือธิดา “นกแสก” มาเป็นรองผู้ว่าฯ ประเด็นนี้อาจตีความไปถึงการหาเสียงที่อ้างถึงการเผาบ้านเผาเมืองของแกนนำ นปช. ที่ลูกทักษิณหรือเปล่าก็ไม่รู้เขียนในเว็บส่วนตัวว่าเป็นการหาเสียงแบบ “ไม่สร้างสรรค์” และหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนอ้างเสมอว่าเป็น “มุกเก่า”

ข้อเท็จจริงจากผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่าในคราวนี้ผู้ชนะได้คะแนนเพิ่มขึ้นและเสียงไม่แตกไปหากลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สมัครอิสระ ซึ่งแตกต่างกับ 2 ครั้งก่อนโดยสิ้นเชิง คน กทม.ได้แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการลงคะแนนว่า “กูไม่กลัวมึง” อย่างชัดเจน เหตุก็เพราะผู้ว่าฯ กทม.นั้นมีอำนาจหน้าที่สำคัญประการหนึ่งตาม มาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ก็คือ บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การบริหารแบบ “ไร้รอยต่อ” ที่คนรับใช้คนใหม่ของทักษิณได้หาเสียงเอาไว้

กรณีรถเมล์ฟรีให้คน กทม.ที่หาเสียงเอาไว้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สนับสนุนเพราะ มีแต่รัฐบาลเท่านั้นที่จะดลบันดาลให้เกิดได้ ลำพังผู้ว่าฯ กทม.จะทำได้อย่างไร ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ดังนั้น การปฏิเสธไม่เอาผู้ว่าฯ กทม.คนรับใช้ทักษิณคนใหม่ที่คน กทม.จะได้ประโยชน์และไปเลือกอีกข้างที่อยู่ต่างพรรคต่างพวกอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนและอาจไม่ได้ประโยชน์ดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

ส่วนจะเลือกเพราะความกลัวหรือไม่นั้นคงหาคำตอบได้ยากและคงไม่ใช่เรื่อง “มุกเก่า” เพราะเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่สำหรับคน กทม.ว่าใครเป็นคนสั่งให้เผาบ้านเผาเมืองเพียงแต่รอเวลาที่จะพิสูจน์ในทางกฎหมายเท่านั้นเองที่สำคัญมันผิดด้วยหรือที่เขาจะกลัว

3. ผลการสำรวจความนิยมหรือโพลนั้น ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนผลการสำรวจในเรื่องอันดับความนิยมเป็นตัวชี้วัดที่ดีถึงผลการเลือกตั้งไม่มีข้อผิดพลาดเหมือนในครั้งนี้แต่อย่างใด กล่าวคือผู้ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งไม่ว่าจะโดยสำนักสำรวจใดก็จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งไม่ว่าจะก่อนการเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้ง (Exit Poll) ก็ตาม

นี่อาจจะเป็นนัยสำคัญที่ซ่อนอยู่และนำมาเป็นยุทธวิธีในการเลือกตั้ง นั่นก็คือการ “ซื้อ” โพลเพื่อ “ชี้นำ” ผู้ชนะหรือประเด็นที่ต้องการอันเป็นวิธีการของพวกคอมมิวนิสต์นิยมใช้กับมวลชนตนเอง อย่าลืมว่ากุนซือเขาเป็นคอมฯ มาก่อนแทบทั้งนั้น

เป็นเรื่องน่าแปลกด้วยวิธีการที่ทำนายถูกมาถึง 2 ครั้งแต่มาผิดพลาดกลับดำเป็นขาวในครั้งนี้ หากคิดเป็นร้อยละของความผิดพลาดก็ทำนายผิดพลาดไปมากกว่าร้อยละ 20 (สุขุมพันธุ์มีคะแนนชนะมากกว่าคู่แข่งประมาณร้อยละ 20) ซึ่งหากค่าผิดพลาดสูงเช่นนี้จะใช้วิธีเดาหรือโยนหัวก้อยก็มีโอกาสถูกผิดพอๆ กันไม่ต้องไปทำโพลอะไรให้ยุ่งยาก หากทำตามหลักวิชาการจริงก็ไม่ควรมีข้อผิดพลาดในทางเดียวกันเช่นนี้ กล่าวคือเอาผู้แพ้มาทำนายว่าเป็นผู้ชนะในทุกครั้งที่ทำโพล หากเป็นการสำรวจตลาดเพื่อหาความนิยมในสินค้าก็เจ๊งเป็นแน่แท้ใครจะไปจ้าง

สิ่งที่สังคมควรเรียกร้องให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทราบก็คือ ผู้ที่ทำโพลส่วนใหญ่อาศัยชื่อสถาบันการศึกษา แต่การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อให้ผู้อื่นนำไปอ้างอิงสมควรหรือไม่ที่สถาบันการศึกษาจะเข้าไปมีส่วน โรงเรียนสาธิตโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่างเป็นแหล่งฝึกงานในสาขาที่เปิดสอน แต่สถาบันที่ทำสำรวจฯ จะเอาประสบการณ์เหล่านี้ไปสอนในวิชาใดเพราะเท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้นักศึกษาของสถาบันเหล่านั้นก็หาได้มีความรู้ในเรื่องสถิติหรือการสำรวจฯ ในระดับที่น่าพึงพอใจแต่อย่างใดไม่ พูดได้เลยไม่เป็นโล้เป็นพาย หากไม่อยากถูกกล่าวหาว่าอยากดังหรือทำโพลเพื่อขายก็เลิกเสียเถิด ไปทำวิจัยอย่างอื่นที่มีองค์ความรู้ต่อสังคมจะดีกว่าหรือไม่

4. ความไม่จริงใจคือที่มาของความพ่ายแพ้ การไม่ออกมาปฏิเสธอย่างเด็ดขาดล่วงหน้าของแกนนำ นปช.หรือพรรคว่าจะไม่รับตำแหน่ง หรือการพยายามปฏิเสธข้อเท็จจริงเรื่องการมีส่วนบงการเผาบ้านเผาเมือง อาจเป็นประเด็นที่อ้างถึง แต่ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมและทำให้พ่ายแพ้ก็คือ การบริหารแบบ “ไร้รอยต่อ”

ผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจในขอบเขตที่จำกัด ท้องถิ่นจะได้ประโยชน์มหาศาลหากรัฐบาลมอบภาระงานและอำนาจไปให้ท้องถิ่นดูแล จะเก็บไว้กับตัวทำไม?

ตำรวจนครบาล การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง รถไฟฟ้ามหานคร (ใต้ดิน) หรือ ขสมก. เป็นหน่วยงานตัวอย่างที่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับคน กทม.ได้มากกว่านโยบายทั้งหมดที่เสนอมาและตรงจุดมากที่สุดหากจะ บริหารแบบ “ไร้รอยต่อ” อย่าบอกว่าทำไม่ได้เพราะ ส.ส.ก็มีพอที่จะผ่านกฎหมายได้อย่างสะดวก เลือก “เสาไฟฟ้า” ของผมวันนี้พรุ่งนี้เปิดสภาฯ โอนตำรวจ ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ให้ กทม.ไปเลย เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านหาเสียงได้แต่ทำยาก แต่ฝ่ายตนเองทำง่าย ทำไมไม่ทำ?

เหตุที่ไม่ทำ มองได้อย่างเดียวคือไม่จริงใจไม่อยากให้อำนาจไปให้คนอื่นถ้าไม่ใช่ตนเองหรือพวก มิพักจะกล่าวถึง “เสาไฟฟ้า” ว่าเสียใจที่ไม่ได้ชนะเป็นผู้ว่าฯ กทม.หรือดีใจที่แพ้เพื่อจะได้เป็น ผบ.ตร.กันแน่ คนชั้นกลางล่างเห็นแล้วหรือยังว่าทักษิณและรัฐบาลของเขาเป็นอย่างไร หวัง “ต้ม” อย่างเดียวใช่หรือไม่?

กำลังโหลดความคิดเห็น