xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านกังขาเวนคืน “ราชปรารภ” สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำศูนย์การค้าส่อเอื้อประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
ส.ส.ปชป.ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องเวนคืนที่ดินย่านราชปรารภสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้บางแห่งโกยพื้นที่เกินความจำเป็น ทำประชาชนเดือดร้อน กังขาผู้ว่าฯ รฟม.บอกส่วนหนึ่งทำศูนย์การค้า ส่อขัดรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ ด้าน รมช.คมนาคมแจงอ้างมีแนวท่อระบายน้ำ กทม. อีกทั้งต้องมีแผนทำพื้นที่สำหรับรับ-ส่งผู้โดยสาร ยืนยันไม่เอื้อประโยชน์ผู้ใด

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กระทู้สดถามเรื่องการเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า จากการตรวจสอบพบมีการเวนคืนพื้นที่ของประชาชนเพื่อใช้ในการก่อสร้างมากกว่าปกติ บางพื้นที่มีการเวนคืนกว้างถึง 5 ไร่ ซึ่งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และยังมีข้อครหาว่ารัฐบาลจ้องหารายได้เตรียมนำพื้นที่ไปสร้างศูนย์การค้า เช่น สถานีประตูน้ำ พันธุ์ทิพย์พลาซา แพลทินัม เวนคืน 2-3 ไร่ ทั้งที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ออกแบบไว้เดิมใช้พื้นที่น้อย ซึ่งผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็รับว่าส่วนหนึ่งจะทำเป็นศูนย์การค้า แต่ไม่รู้กี่ชั้น ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ หากมีคนร้องศาลปกครอง และหากมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โครงการต้องล่าช้าไป จะกระทบต่อเศรษฐกิจและการจราจร และยังมีเสียงครหาว่าเอื้อประโยชน์เจ้าของที่ดินใกล้เคียง หากมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ กรณีดังกล่าวเป็นฝ่ามือใครปิดตาผู้ว่าฯ รฟม.ที่มาจากบริษัทไทยคมหรือไม่ อยากทราบว่ามีคนใกล้ชิดของฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

นายประเสริญ จันทรรวงทอง รมช.คมนาคม ชี้แจงเหตุผลว่า ต้องยอมรับว่าถนนราชปรารภช่วงที่จะก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีความกว้างเพียง 21 เมตร แต่ตัวโครงสร้างสถานีรถไฟใต้ดิน และทางขึ้นลงต้องใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 28 เมตร และบริเวณก่อสร้างยังมีแนวท่อระบายน้ำของ กทม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.50 เมตรวางทับอยู่ จึงต้องก่อสร้างโดยยังคงรักษาไว้ให้อยู่รวมกันได้ นอกจากนี้ สถานีรถไฟฟ้าทั่วไปจะมีผลกระทบตามมา คือการจราจรหนาแน่น เพราะไม่ได้เตรียมรองรับความหนาแน่นของจราจรในอนาคต เพราะคาดว่าการจราจรจะหนาแน่นมากขึ้น ไม่น้อยกว่าวันละ 5 แสนคน จึงจำเป็นต้องมีแผนรองรับ ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อโครงการแล้วเสร็จ โดยต้องมีพื้นที่เพื่อใช้สำหรับให้รถรับส่งผู้โดยสาร และมีการทำทางขึ้นลงให้สะดวก อำนวยความสะดวกหลายอย่าง

นายสามารถถามต่อว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเวณคืนพื้นที่ถึง 5-6 ไร่ เช่น สถานีประตูน้ำ สามารถเวณคืนพื้นที่ประมาณ 2-3 ไร่ แต่รัฐมนตรีไม่รู้ปัญหาจริง รับรู้แต่จากข้อมูลที่หน่วยงานป้อนส่งให้เท่านั้น ซึ่งปัญหาเทคนิคการก่อสร้างสามารถทำให้แคบลงได้ ไม่จำเป็นต้องเวนคืน และไม่มีปัญหาเรื่องท่อระบายน้ำ กทม. เพราะสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งได้ออกแบบให้ใช้พื้นที่น้อยที่สุด แต่รัฐบาลกลับใช้พื้นที่มากกว่าเดิมถึง 8 เท่า ไม่ทราบว่าเอาไปทำอะไร ซึ่งจากที่ได้เชิญหน่วยงานมาสอบถาม ทางผู้ว่าฯ รฟม.ตอบว่าจะใช้ทำเป็นศูนย์การค้า ถือเป็นการหมิ่นแหม่ต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญ อยากถามว่าถ้ามีคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ได้ครอบครองที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียง จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจ แล้วบอกเป็นอาคารร้าง แต่ข้อเท็จจริงมีคนอยู่นับร้อยครัวเรือน

ด้านนายประเสริฐชี้แจงโดยยืนยันว่ารัฐบาลได้คำนึงถึงองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งที่ผ่านมาหลายที่มีปัญหา โดยหลักการที่ รฟม.ต้องคำนึงถึงสิ่งแรก คือ ด้านเทคนิควิศวกรรม จากนั้นเป็นเรื่องผลประโชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และผลกระทบที่เกิดจากโครงการน้อยที่สุด ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างสำรวจและออกแบบศึกษารายละเอียด ยังไม่มีการเวนคืน จะจัดสำรวจและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในเดือน ก.พ. 2557 แต่จะจัดสำรวจความเห็นประชาชนต้นเดือน มี.ค. 2556 ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใด และยินดีรับฟังความเห็นของประชาชน ทำงานนี้ออกมาให้ดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น