xs
xsm
sm
md
lg

สงคราม “รัฐบาล-แบงก์ชาติ” เดิมพันด้วยเศรษฐกิจประเทศ

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด


ข่าวปนคน คนปนข่าว

ในขณะที่สถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง เพราะรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งแบ่งหน้าที่กันทำ เดินกันคนละช่อง เหมือนที่มีคำพูดว่า “กฐินคนละกอง”

แต่ที่พูดไม่หมดคือ คำต่อท้ายที่ว่า “กฐินคนละกอง แต่จองไปวัดทักษิณ” ให้นักโทษหนีคดีได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นด้วยเป็นเป้าหมายหลักที่ตรงกันของกฐินทุกกอง

แน่นอนว่า หากเดินต่ออาจไม่ได้เข้าวัด แต่ต้องขึ้นเมรุส่งไปเผาแทน เพราะจะเกิดกระแสต่อต้านที่รุนแรงตามมาอย่างแน่นอน หากมีการหักดิบทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ ย่อมทำให้ผู้ที่รักความถูกต้องออกมาคัดค้าน ไม่ยอมให้อันธพาลที่ครองเมืองอยู่ ลุแก่อำนาจ ทำตามอำเภอใจอย่างที่คิดเอาไว้

ความอึมครึมที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังไม่หยุดความพยายามที่จะทำเพื่อพี่ชายนักโทษของตัวเอง อาจทำให้คนไทยถูกชักจูงให้สนใจอยู่กับประเด็นนี้ จนลืมเรื่องทางเศรษฐกิจที่กำลังส่งสัญญาณอันตรายอย่างมากอยู่ในขณะนี้

หลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในยุคที่ ทักษิณ ผู้เป็นพี่ชายของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี คุมเศรษฐกิจมาแล้ว ผู้เป็นน้องสาวก็ไม่น้อยหน้า กำลังนำพาประเทศไทยเข้าสู่ปากทางของ “วิกฤตต้มยำปู” ที่อาจทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจกับประเทศไทย อีกระลอกหนึ่ง

มีอะไรบ้างที่เป็นสัญญาณอันตรายที่จะนำไปสู่วิกฤตต้มยำปู เป็นเรื่องที่คนไทยต้องติดตาม แม้ว่าบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องยาก หรือผู้คนในสังคมอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรานิดเดียว เพราะหากเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะพังพาบ คนไทยก็คงหายใจรวยรินไม่แตกต่างกัน
ยุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีเป็นรองนายกรัฐมนตรี คุมเศรษฐกิจนั้นเกิดปัญหากับสถาบันการเงินของเอกชนจนล้มกันระเนระนาด จนเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตต้มยำกุ้ง

ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็กำลังประสบกับปัญหาสถาบันการเงินมีปัญหาไม่แตกต่างกัน เพียงแต่เป็นสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ใช่สถาบันการเงินของเอกชน ซึ่งเริ่มส่งกลิ่นเหม็นเน่าออกมาให้เห็นจะๆ แล้ว 2 แห่ง คือ

เอสเอ็มอี แบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ที่มียอดหนี้เน่าใกล้เคียงกันคือ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จนอาจทำให้รัฐต้องเข้าไปอุ้มด้วยเงินภาษีของประชาชน ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นั่นอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับโอกาสที่ ธกส.จะล้มครืนลงด้วยเช่นเดียวกัน จากโครงการรับจำนำข้าว ที่ทำให้ธนาคารต้องแบกรับภาระขาดทุนแทนรัฐบาล ปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท โดยที่รัฐบาลยังไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาคืนให้กับ ธกส.

จนปีที่แล้ว ธกส.ขาดสภาพคล่อง กระทั่งต้องมีการเพิ่มทุนไปแล้ว 1 หมื่นล้านบาท ล่าสุดเริ่มมีเสียงเล็ดลอดออกมาว่า ถ้าจะไปไม่รอด และต้องเพิ่มทุนกันอีกรอบราว 6 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

จากสภาพการณ์ข้างต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สื่อมวลชนต่างชาติหลายสำนักจะจับตามองเศรษฐกิจไทย ว่ากำลังเข้าใกล้ภาวะล่มสลาย และมีสิทธิล้มละลายได้ หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังไม่กลับลำทบทวนนโยบายประชานิยม ที่ทำให้ชาติล่มจมดังที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าว
ลำพังแค่ปัญหาสถาบันการเงินรัฐกับนโยบายประชานิยมทำลายประเทศว่าแย่แล้ว ไทยยังเจอปัญหาที่เลวร้ายกว่านั้น ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั่นคือ ความพยายามของฝ่ายการเมืองที่จะแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ในหลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศใหม่ ๆ

แต่โชคดีที่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยึดถือประโยชน์ชาติเป็นหลัก ไม่ลู่ไปตามแรงลมการเมือง แต่หาญกล้าหยัดยืนต่อสู้กับมรสุมการเมืองที่ถาโถมเข้ามาอย่างกล้าหาญ และเคราะห์ดีที่ในยุคที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎหมายคุ้มครองความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเอาไว้อย่างรอบคอบ ทำให้การปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนในอดีต

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลที่ไร้ธรรมาภิบาลชุดนี้จะไม่กล้าทำ

เพราะในขณะนี้ก็พยายามบีบให้ผู้ว่าแบงก์ชาติหน้าเขียวอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยล่าสุด กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ถึงกับร่อนหนังสือถึง วีรพงษ์ รามางกูร ประธานแบงก์ชาติ บีบให้บอร์ดพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ยตามนโยบายของรัฐบาล บนข้ออ้างที่จะสกัดเงินทุนไหลเข้า และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

อีกทั้งยังมีความพยายามโยนบาป ว่าแบงก์ชาติบริหารจนขาดทุนสะสมถึง 5.3 แสนล้านบาท มาสร้างความชอบธรรมบังหน้าให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูก แทรกแซงแบงก์ชาติ ซึ่งสุดท้ายอาจจบลงตรงที่การดึงเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้สุรุ่ยสุร่าย สนองประชานิยมบ้าคลังของรัฐบาลไร้สติ

สงครามทางความคิดที่มีเศรษฐกิจของชาติเป็นเดิมพัน ระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นหนังม้วนยาว ที่มีหลายภาคไม่ได้จบในม้วนเดียวจากศึกดอกเบี้ยเท่านั้น เพียงแต่ยกแรกเริ่มต้นไปแล้วจากการวางคนของตัวเองเข้าไปอยู่ในแบงก์ชาติ คือ วีรพงษ์ รามางกูร นั่งแท่นเป็นประธานแบงก์ชาติ และอีกหลายคนในบอร์ด แบงก์ชาติ ดังนั้นการจะผลักดันอะไรตามที่ฝ่ายการเมืองปรารถนา ย่อมเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าในอดีต เพราะมีการกรุยทางเบื้องต้นเอาไว้แล้ว

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 20 ก.พ.56 นี้ จึงเป็นการประชุมที่หลายฝ่ายจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นตัวบ่งชี้ให้สาธารณะประเมินได้ว่า แบงก์ชาติ จะยังคงความเป็นอิสระได้ต่อไปหรือไม่

การตัดสินของ กนง. ระหว่าง ลดดอกเบี้ย กับ ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่จะพิสูจน์ความเข้มแข็งของผู้บริหารแบงก์ชาติด้วยเช่นเดียวกัน

จะว่าไปแล้วก็ใช่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะไร้เหตุผลเลยซะทีเดียว เพียงแต่ว่าเหตุผลที่หยิบยกมานั้น อาจจะมองไม่รอบด้าน ขณะเดียวกันก็ถูกมองด้วยความไม่ไว้วางใจ ว่ามีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ อีกทั้งรัฐบาลยังมิได้แสดงเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะแลกเปลี่ยนกับแบงก์ชาติบนฐานของวิชาการ และผลประโยชน์ของบ้านเมือง แต่กลับใช้วิธีทุบเอาด้วยการบีบทุกทางแทน

ไม่เว้นแม้กระทั่งการทำในสิ่งที่ผิดมารยาทยิ่ง ด้วยการร่อนจดหมายถึงแบงก์ชาติ ดังที่ กิตติรัตน์ ดำเนินการไป

การดูแลประคับประคองเศรษฐกิจของชาติ ไม่ใช่เรื่องที่จะสั่งซ้ายหันขวาหัน แต่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพราะมีความละเอียดอ่อนอยู่มาก หากตัดสินใจพลาด ย่อมหมายถึงหายนะที่ยากจะเยียวยา ไม่ต่างจากในยุควิกฤตต้มยำกุ้งที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบหมดกระเป๋ามาแล้ว

ข้ออ้างที่ว่า การลดดอกเบี้ยจะช่วยสกัดทุนนอกไหลเข้า และช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงนั้น อาจมีความจริงอยู่บางส่วน แต่ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจด้วยว่า ในยุคที่สหรัฐอเมริกาออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ (คิวอี) รอบสองนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย อยู่ที่ประมาณ 1.75 % เท่านั้น แต่ปรากฏว่า เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นถึง 6 % หากรัฐบาลมีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองจริง ก็ไม่ควรมองข้ามประเด็นนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจริง ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงคือ ปัญหาฟองสบู่ และหนี้ครัวเรือน เพราจะเกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ก็อาจมีความฟุ่มเฟือยมากขึ้น จนเกิดปัญหาหนี้เสียตามมา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจด้านอื่นเป็นลูกโซ่ด้วย

รัฐบาลจึงควรเข้าใจว่า การดูแลเศรษฐกิจนั้นมีเครื่องมืออยู่หลายชนิด ไม่ใช่คิดแต่จะใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า “ดอกเบี้ย” เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการใช้เครื่องมือการคลังที่ยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับชาติมากที่สุดไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ที่อาจกำลังหวังสูงไปถึงขั้นว่า การกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท จะเป็นการล้วงเงินแบงก์ชาติ ออกมาเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการไร้ปัญญาในการใช้หนี้ ซึ่งจะนับว่าเป็นอันตรายกับบ้านเมืองอย่างยิ่ง

วิกฤตต้มยำปู จะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงอยู่ที่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะดึงดันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง หรือทบทวนแล้วเดินหน้าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย แทนที่จะนำชาติไปเสี่ยงอย่างที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังทำ โดยไม่ยี่หระต่อความหายนะของบ้านเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น