xs
xsm
sm
md
lg

ใครดันก้น “อุกฤษ” เร่งออกกม.นิรโทษฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุกฤษ มงคลนาวิน
สะเก็ดไฟ

ความพยายาม ในการเข้ามามีบทบาทการเมืองอีกครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิต ของ “อุกฤษ มงคลนาวิน” ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และอดีตประธานรัฐสภา คนคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร มีนัยที่น่าติดตามไม่น้อย 

การเปิดแถลงข่าวของอุกฤษเมื่อ 5 ก.พ. 2556 บอกว่าได้ยื่นเรื่องการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโดยตรงไปแล้ว พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ คอ.นธ.ที่เคยเสนอไว้เมื่อช่วงมกราคม 2556 ที่มีการส่งถึงสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.-ส.ว.ทุกคน แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา

ต่อมายิ่งลักษณ์ก็เปิดเผยเมื่อ 6 ก.พ.ว่า ได้ส่งเรื่องที่ได้รับจาก คอ.นธ.ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้พิจารณาแล้ว

มีการวิเคราะห์การเมืองกันไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเคลื่อนไหวของคอ.นธ.ในการเรียกร้องให้มีการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ระหว่าง 19 ก.ย. 49 - 10 พ.ค. 54 เป็นการสร้างบันไดที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อปลดปล่อยนักโทษคดีการเมืองโดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังอยู่ในเวลานี้

เพราะเป็นหนทางที่เสี่ยงน้อยที่สุด ดีกว่าจะไปใช้ข้อเรียกร้องของ นปช.-คนเสื้อแดงที่ให้ออกเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมที่สุ่มเสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน รวมถึงเร็วกว่าการไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มหมวดว่าด้วยการนิรโทษกรรมและการปรองดองตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ใช้เวลานานกว่าจะได้ผล

จนมีการพูดกันว่า ข้อเสนอของ คอ.นธ.ที่ยิ่งลักษณ์ตั้งมากับมือ เป็นการโยนลูกรับลูกกันของ “อุกฤษ-ยิ่งลักษณ์” เพราะหากรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยจะทำเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นแนวทางการออก พ.ร.บ.ที่อาจเสนอในนามคณะรัฐมนตรีและในนาม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด

เพียงแต่หลายคนเดาเกมต่อไปกันไม่ออกก็คือ แล้วยิ่งลักษณ์จะซื้อเวลาเรื่องนี้นานที่สุดแค่ไหน หากสุดท้ายกฤษฎีกาส่งเรื่องกลับคืนมาหลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มีแค่ 6 มาตรากลับมายังรัฐบาล  ตรงนี้แหละที่คนมองกันว่าแม้ข้อเสนอของ คอ.นธ.จะเป็นบันไดทางออกที่ดีให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ก็เชื่อว่ายิ่งลักษณ์ ก็คงไม่รีบเร่ง คงถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ

แล้วจู่ๆ อุกฤษดันออกมาเสนอเงื่อนไข ให้เร่งพิจารณาออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถึงขั้นเสนอให้เมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ไปที่สภาฯแล้ว ให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ในวาระ 2 ของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยกรรมาธิการเต็มสภา หรือให้พิจารณา 3 วาระรวดไปเลย

หากเป็นไปตามนี้  คาดว่าจะใช้เวลาแค่ 30-45 วัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามโมเดลของ คอ.นธ.ก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ภายในสมัยประชุมสภานิติบัญญัติที่จะสิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย.

ตรงนี้แหละที่ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองชักเริ่มเปลี่ยนความคิดกันไป จากเดิมที่ก่อนหน้านี้คิดว่า อุกฤษใช้ คอ.นธ.มาช่วยหาบันไดลงให้ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย จึงออกข้อเสนอให้ออกเป็น พ.ร.บ.มาเพื่อให้รัฐบาลและ ส.ส.เพื่อไทย เอามาใช้เป็นเครื่องถ่วงเวลาให้ได้ว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ติดคุกและถูกดำเนินคดีอยู่แต่ต้องขอเวลาศึกษาก่อน เพื่อจะได้ไม่ขัดใจกับพวก ส.ส.นปช.และเสื้อแดง และไม่ทำให้พวกแดงอิสระทั้งหลายที่เคลื่อนไหวในชื่อกลุ่ม 29 มกราฯ ที่เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ผิดหวังในรัฐบาลเพื่อไทย

เมื่อรูปการณ์เปลี่ยนไป กลายเป็นว่าอุกฤษไม่ยอมหยุดนิ่ง ไม่ยอมให้ข้อเสนอตัวเองกลายเป็นเรื่องชวนหัวดูขบขัน เหมือนกับหลายข้อเสนอที่ คอ.นธ.เคยเสนอไปแต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์

 รอบนี้เล่นมาแถลงข่าวทวงถามความชัดเจน และความคืบหน้าเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมกับฝ่ายรัฐบาล เลยทำให้น่าคิดว่าอุกฤษจะเอาจริง หรือว่ามีการเขียนบทอะไรกันอยู่ข้างหลัง

ทั้งที่ขนาดพวกเสื้อแดงที่ไปรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 29 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา ยังขีดเส้นรอคำตอบจากรัฐบาลหลังปิดสภาฯเดือนเมษายนเลย แล้วทำไม อุกฤษถึงร้อนใจหนักหนาอยากให้ออกกฎหมายเร็วๆ?

มันมีอะไรผิดคิวกันหรือไม่ หรือว่ามีตัวเร่งไปรนก้นอุกฤษให้ออกมาทวงถามเรื่องนี้ คิดแล้วมันน่าสงสัยจริงๆ

หรือเพราะมีคนบางกลุ่มที่อาจไม่ใช่แค่คนเสื้อแดง ต้องการให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ แต่พูดกับนายกฯไม่ได้ หรือพูดแล้วยิ่งลักษณ์ไม่รับฟัง ก็เลยหันมาใช้บริการ คอ.นธ.ที่ก่อนหน้านี้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อสังคมมาแล้วร่วมสามสัปดาห์แต่ก็เงียบ ออกมาปลุกเรื่องนี้อีกรอบ

ทั้งที่หลายข้อเสนอของ คอ.นธ.ที่เสนอผ่านสังคมเมื่อย้อนกลับไปสำรวจ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ เช่นเรื่องแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ไม่ให้ราคากับอุกฤษและคอ.นธ.เลยแม้แต่กระพี้เดียว

ดูได้จากข้อเสนอของ คอ.นธ.ที่เสนอให้มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขามายกร่าง รธน.แล้วก็ส่งไปให้รัฐสภาพิจารณาลงมติเห็นชอบ โดยไม่เห็นด้วยกับการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ ครม.และพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีใครเอาด้วยกับแนวทางนี้

จนเมื่อมีปัญหาว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะเดินหน้าอย่างไรต่อไปกับการแก้ไข รธน.หลัง ส.ส.รัฐบาลไม่กล้าโหวตวาระ 3 และเตรียมทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3

 ก็มีข้อเสนอจาก คอ.นธ.ที่เสนอให้มีการทำประชามติสองครั้ง คือ ก่อนโหวตวาระ 3 จากนั้นก็ให้มีคณะกรรมการยกร่างรธน.แล้วพอยกร่างเสร็จก็ส่งไปให้รัฐสภาพิจารณาโดยไม่ให้มีสภาร่าง รธน. เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็ส่งกลับไปทำประชามติอีกครั้ง ซึ่ง คอ.นธ.อ้างว่าหากใช้แนวทางนี้จะใช้งบแค่ 4 พันล้านบาท แต่หากรัฐบาลจะทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 แล้วตั้งสภาร่างรธน.แล้วมาทำประชามติอีกครั้งก่อนประกาศใช้ จะใช้งบร่วม 7 พันล้านบาท

ก็ปรากฏว่าไม่มีเสียงขานรับใดๆ จากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ในการเอาด้วยกับข้อเสนอ คอ.นธ. แต่ไม่เห็น คอ.นธ.ออกมาแสดงท่าทีใดๆ

ถ้าภายในสมัยประชุมสภาฯ นี้ที่จะมีไปถึงเดือนเมษายน หากรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ขานรับอะไรกับข้อเสนอของ คอ.นธ.ในการออก กม.นิรโทษกรรม ที่ คอ.นธ.ต้องการให้เห็นผลก่อนปิดสภาฯ มันจะบ่งบอกถึงการให้ราคาของรัฐบาลเพื่อไทยกับ คอ.นธ.ได้เป็นอย่างดี

สมมติว่าเป็นเช่นนั้นจริง ก็ถึงเวลาแล้วที่ “อุกฤษ-คอ.นธ.” ควรต้องพิจารณาตัวเองที่เสนออะไรไปรัฐบาลก็ไม่แยแสให้ราคา  อุกฤษจึงควรเสนอนายกฯ ให้ยุบ คอ.นธ.แล้วจากนั้นก็กลับบ้านเลี้ยงหลานอย่างเดียวดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น