xs
xsm
sm
md
lg

“จรัส” ชี้ยังไม่วิกฤตต้องแก้ รธน.“วรเจตน์” โวยศาลตัวปัญหา แนะลุยวาระ 3 เดิมพันยุบสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ (ภาพจากแฟ้ม)
“เดอะอ๋อย” ดึงนักวิชาการ 2 ขั้ว เปิดเวทีถกชำเรา รธน.50 อ้างให้สังคมเข้าใจถูกต้อง “ลิขิต” เสนอตัด ม.309 ทิ้ง แต่เชื่อยิ่งแก้ยิ่งขัดแย้ง “จรัส” ชี้ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แนะแก้ไขในส่วนบกพร่อง ปรับจำนวน ส.ส.ห้ามเอา ส.ส.ป่วยเข้าทำงาน เสียศักยภาพ “วรเจตน์” เย้ยยังไงก็ต้องแก้ ร้อนวิชาซัดศาล รธน.ตัวปัญหา แนะรัฐไม่สนลุยโหวตวาระ 3 ไม่ผ่านยุบสภา ส่วน “ไพบูลย์” แนะต้องฟังทุกฝ่าย

วันนี้ (10 ก.พ.) ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล (สยามซิตี เดิม) ถนนศรีอยุธยา เมื่อเวลา 10.00 น. สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ร่วมกับ มูลนิธิคอนราด ประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญ 2550 ถึงเวลาต้องตัดสินใจ” โดยมี นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ นายจรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา

ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานสถาบันการศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวเปิดงานว่า ขณะนี้ความเห็นในสังคมไทยยังคงเกิดความแตกต่าง ว่า สมควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งประเด็นลักษณะนี้สังคมไทยต้องรีบหาคำตอบ เพื่อให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง หากสามารถหาทางออกที่ดีเพื่อให้บ้านเมืองพ้นวิกฤต ก็จะทำให้ประเทศก้าวไปและพัฒนาไป โดยระบบโครงสร้างสภาพการเมืองที่ไม่เป็นอุปสรรค

นายลิขิต กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งหลายส่วนดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็บางประเด็นที่จำเป็นต้องแก้ไข โดยเฉพาะที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาจากการรัฐประหาร ส่วนประเด็นเรื่องการประชุมไม่ครบองค์ ที่ต้องควรปรับเปลี่ยน เพราะเมื่อหากสมาชิกไม่ครบองค์ประชุมก็ควรจะยุติการประชุม ไม่ใช่ดึงดันที่จะประชุมต่อไป

ส่วนการลงประชามติ ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่น่าสนใจ หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรจัดทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะขอแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ทั้งนี้ มองว่า รัฐธรรมนูญมาตราที่จำเป็นต้องแก้ไขเด็ดขาด คือ มาตรา 309 เพราะรับไม่ได้ มีไว้ไม่ได้ เพราะการใส่มาตรา 309 เท่ากับเป็นการนำสิ่งซึ่งผิดหลักนิติธรรมและขัดต่อหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้กลายมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกฎหมายรองรับ

“ขณะนี้เรากำลังมองรัฐธรรมนูญว่าเป็นเหมือนยาหม้อ หากดำเนินการแก้ไขทุกอย่างก็จะจบ แต่แท้จริงแล้วเชื่อว่ายิ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดความขัดแย้งมากขึ้น เพราะคนในสังคมมีความแตกต่างกัน” นายลิขิต กล่าว

นายลิขิต กล่าวว่า ก่อนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรถามก่อนว่าเห็นด้วยให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นด้วยให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรหารือกันก่อน ว่า เราจะอยู่ร่วมกันหรือไม่ และอยู่ร่วมกันอย่างไร ถอยมาคนละก้าวหรือไม่ ต้องการให้บ้านเมืองแตกแยกเช่นนี้หรือไม่ หลักสำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญต้องมีความเป็นประชาชน โดยขอเรียกร้องประเด็นสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาพ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ฉะนั้น ความเสมอภาพต้องมาก่อนภราดรภาพ ตราบใดที่ไม่เป็นเช่นนั้นความปรองดองย่อมไม่เกิดแน่นอน กฎของการปรองดอง ต้องเอาหลักการเรื่องการการยอมรับมาก่อนถึงจะปรองดองได้

ด้าน นายจรัส กล่าวว่า ถ้าจะพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มาเป็นระยะเวลา 5 ปี เกิดการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้ง แต่ส่วนตัวก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีประเด็นที่เกิดข้อบกพร่องและจำเป็นต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่ว่าหากไม่แก้จะเกิดวิกฤติ เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ยังไม่ได้เป็นเหตุของปัญหาเท่าใด ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีความชอบธรรม สถาบันการเมืองอื่นๆ ก็ทำงานไปตามไปปกติ ไม่เกิดอุปสรรค อาจมีทำงานขัดข้องบ้าง คอร์รัปชั่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ นั่นเป็นปัญหาของการตรวจสอบ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ส่วนที่บกพร่องก็ควรแก้ไขเป็นรายมาตรา แต่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการปฏิวัติ ส่งผลให้เกิดการไม่ยอมรับ ถ้าอยากจะลบทิ้งก็ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ถ้าจะยกร่างใหม่ก็ต้องทำประชามติ ถามประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ ซึ่งมองว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ไม่ใช่เรื่องแปลก สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง และที่สำคัญ ควรทำความเข้าใจให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะทำประชามติ การทำประชามติควรให้เวลาที่มากพอสมควร ไม่ควรรีบทำตั้งเป้าให้รีบจบเร็ว

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 มีข้อบกพร่องหลายอยาง โดยเฉพาะบทบัญญัติเรื่องแนวนโยบายบนพื้นฐานแห่งรัฐ หากตัดออกไปก็จะกระชับมากขึ้น ส่วนที่หลายๆ ครั้งก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ มีการพูดถึงกันว่าควรมีสภาเดียวได้หรือไม่ ไม่มีวุฒิสภา แต่หากให้เหลือเพียงสภาเดียวก็ต้องทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นอิสระจากรัฐบาล ต้องไม่มีการผูกขาดจากพรรคการเมือง แต่ส่วนตัวคิดว่าวุฒิสภาทำงานได้ดีกว่าสภาผู้แทนราษฎร และต้องทำให้ ส.ส.ไม่ได้ทำหน้าที่ในสภาแค่เพียงการยกมือ ปริมาณมากแต่คุณภาพไม่ได้ดีขึ้น ก็ควรปรับ ส.ส.ให้เหลือ 1 คน ต่อประชากร 5 แสนคน ซึ่งก็จะมี ส.ส.ประมาณ 125 คน ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อควรเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง และไม่ควรเอา ส.ส.ที่ป่วยเข้ามาทำงาน เพราะเสียศักยภาพ

ส่วน นายวรเจตน์ กล่าวว่า ถึงที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไข แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับความเป็นจริง หากดูตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่มาตราแรก จนถึงมาตรา 309 ก็จะพบว่ามีหลายมาตราไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม รวมทั้งระบบศาล ตุลาการขาดความชอบธรรมในประชาธิปไตย ศาลที่อยู่ในปัจจุบันไม่ชอบธรรมในแง่ของความชอบธรรมของการใช้อำนาจ อีกทั้งประเทศไทยเกิดการไม่เคารพและไม่ยอมรับ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรก็แก้ไขไม่ได้

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้มา 5 ปี เห็นได้ว่า พอเวลารัฐบาลใดแตะจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถทำได้ เกิดปัญหาขึ้นตลอด และจากการที่ได้พูดคุยกับนักวิชาการเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การที่องค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง เราจะต้องฟังอีกหรือไม่ หากต้องฟังก็จะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้เอง ขณะนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญพ้นวาระ 2 มาแล้วกำลังอยู่ในวาระ 3 ซึ่งรัฐบาลสูญเสียอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไปยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชัดเจน เพราะแทนที่คำวินิจฉัยจะช่วยแก้ไขปัญหากลับยิ่งสร้างปมปัญหา

อย่างไรก็ตาม มองว่า รัฐบาลปล่อยค้างการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไป ผ่านหรือไม่ผ่านก็ค่อยว่ากัน หากไม่ผ่านรัฐบาลก็ยุบสภาแล้วมาเลือกตั้งใหม่ จากนั้นก็มาเดินหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป หรือไม่อีกแนวทางหนึ่งก็คือ ค้างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ไว้แล้วไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบศาล หากไม่ใช้หลักการเช่นนี้เราไม่สามารถหากทางออกในเรื่องนี้ได้ สุดท้ายผลเสียหายจะตกอยู่กับประเทศชาติ ไม่เป็นผลดีกับประเทศในอนาคต

ขณะที่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ปัญหาจริงๆ แล้วอยู่ที่คนเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะเขียนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ต้องเป็นเสียงข้างมากและใช้เพียงสภาเดียว ขณะที่กฎหมายทั่วไปยังใช้ 2 สภาเลย การที่ไปเขียนเช่นนี้เป็นที่มาให้เกิดความฟุ้งซ่าน หากต้องใช้เสียงข้างมากแบบพิเศษ จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น