xs
xsm
sm
md
lg

“นิคม” หนุนรัฐบาลประชามติแก้ รธน. แนะใช้สื่อประโคม ฟันธงขนคนกากบาทไม่ผิด กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา (ภาพจากแฟ้ม)
ประธานวุฒิฯ เผยเห็นด้วยแนวทางทำประชามติแก้ รธน.อ้างลดขัดแย้ง ลั่นแก้รายมาตราทำได้แต่ยาก หวั่นถูกแปรญัตติยืดเยื้อ มองข้อดีให้ผู้แทนในพื้นที่รณรงค์ทำขัดแย้งน้อยลง เหน็บ “ไพบูลย์” ถอนร่างแก้ รธน.ไม่มีเหตุผล เสนอใช้สื่อประโคมแก้ ม.291 โว 2 พันล้านคุ้มค่า ยันไม่กระทบเสถียรภาพรัฐบาล หนุนขนคนออกไปใช้สิทธิอ้างไม่ผิด กม. ไม่เช่นนั้นตำแหน่งระดับผู้ว่าฯ อยู่ไม่ได้

วันนี้ (20 ธ.ค.) นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่าด้วยการทำประชามติ ต้องมีการปรึกษาหารือประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภาว่า หากมีการถามความเห็น ตนเห็นด้วยต่อแนวทางการทำประชามติ เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะลดความขัดแย้งได้ ถ้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะมีพรรคการเมืองหรือบางกลุ่มบุคคลออกมาคัดค้านและยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อีก ส่วนที่จะให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา ดูง่ายแต่ที่จริงมันยาก เพราะถ้าแก้ 1 มาตราพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือ ส.ว.บางกลุ่มไม่เห็นด้วย หากรวมกันมี 180 คน แปรญัตติทุกคน ก็ใช้เวลายาวนานมาก ทางเดินมีแต่ขวากหนามทั้งนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ว่าทางไหนก็ยากทั้งหมด นายนิคม กล่าวว่า ยากหมด เพียงแต่ว่าแนวทางที่ข้อขัดแย้งน้อยสุด คือ โยนอำนาจคืนให้กับประชาชน แม้จะไม่ผ่านการทำประชามติ แต่ก็ทำให้ได้รู้ ทั้งนี้รัฐบาลมีกลไก และเครื่องมือเยอะ มีสื่อต่างๆ เยอะรวมถึงกลไกในพื้นที่ คือ ราชการ และจังหวัด รวมถึงผู้แทนฯ ในพื้นที่คิดว่าน่าจะรณรงค์ อาจจะเป็นโอกาสดีว่าการรณรงค์ครั้งนี้ นอกจากให้ข้อมูล ให้ความรู้ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่ามีสาระอะไรบ้างที่หลายคนเข้าใจผิด ว่าจะไปล้มอะไร มีจริงหรือไม่ ดีไม่ดี ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงทำให้ความขัดแย้งลดลงได้ด้วย

ถามต่อว่า เห็นด้วยกับหลายฝ่ายที่วิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำประชามติให้ผ่าน นายนิคมกล่าวว่า ตนเห็นว่าไม่ยาก เพราะปี 2540 ช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตสาทร ก็ช่วยทำในเรื่องของการทำประชามติ ประชาพิจารณ์ที่เขตทำให้ แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ขอร้องประชาชน บอกให้มาลงประชามติให้ผ่านไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขทีหลัง

เมื่อถามถึงประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านรณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิ นายนิคมกล่าวว่า เป็นดาบสองคม คือ การรณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิ์ หรือนอนหลับทับสิทธิ์ ไม่ใช่วิธีของประชาธิปไตย

ถามต่อว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เสนอให้ถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากระเบียบวาระ เพื่อลดความขัดแย้ง นายนิคมกล่าวว่า หมายความว่าไม่ประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงให้ถอนร่างออกจากระเบียบวาระหรือไม่ มันไม่มีเหตุผล

เมื่อถามต่อถึงประเด็นที่กระทรวงมหาดไทยทำเวทีประชาเสวนา 108 เวที คู่ขนานกับการทำประชามติของรัฐบาล จะเสี่ยงต่อการชี้นำประเด็นที่นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลหรือไม่ นายนิคมกล่าวว่า ที่จริงแล้วเป็นการชี้นำ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องให้ข้อมูล ว่าจะทำเรื่องอะไร ให้ข่าวสารประชาชน ถึงให้เวลาทำประชามติถึง 90-120 วัน เวลาดังกล่าวต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เช่นเดียวกับการทำประชาเสวนา คือให้ความรู้กับประชาชน เพียงแต่ไม่นับรวมการทำประชามติ ที่ต้องออกพระราชกฤษฎีกาลงประชามติ ทำแบบนี้ก่อนเพื่อทอดเวลา

ถามต่อว่ากรอบการทำประชาเสวนาของกระทรวงมหาดไทย มีการกำหนดตัวบุคคลที่เข้าร่วม ถือเป็นการล็อกสเปกไว้หรือไม่ นายนิคมกล่าวว่า ไม่ เป็นแค่เฉพาะกลุ่ม แต่จริงๆ แล้วเฉพาะกลุ่มเป็นวิธีการหนึ่ง แต่ทางที่ดีคือให้ความรู้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยใช้สื่อต่างๆ ทำหนังสือ คู่มือ และให้ความรู้เผยแพร่ พูดจนคนเข้าใจว่าสาระมาตรา 291 ที่แก้ไขมีอะไรบ้าง

เมื่อถามถึงงบประมาณที่ใช้ทำประชามติ จำนวน 2,000 ล้านบาท คุ้มค่าหรือไม่ หากท้ายสุดแล้วทำประชามติไม่ผ่าน นายนิคมกล่าวว่า งบประมาณที่ใช้นั้นไม่ผ่านหรือไม่นั้น ตนมองว่ามันคุ้มค่า หากเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของคนในชาติ ซึ่งกระทบต่อธุรกิจการลงทุน ท่องเที่ยวต่างๆ ที่อาจเสียหายนับแสนล้านบาท ดังนั้นการลงทุนเพียง 2,000 ล้านบาทน่าจะคุ้ม

ถามต่อว่าท้ายสุดประชามติไม่ผ่านจริงๆ จะกระทบเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ นายนิคม กล่าวว่า ไม่ เพราะการทำประชามติ เนื่องจากประชาชนบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบแต่ไม่ถึงขั้นจะลาออก แต่อาจเป็นความรับผิดชอบด้านนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณา เช่น เปลี่ยนเป็นการหารือกับที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อหารือว่ามาตราไหนที่จะแก้ไข ซึ่งเป็นมาตราที่เห็นตรงกัน

ถามต่อว่าในประเด็นทีรัฐบาลกังวลเรื่องคนออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กังวลว่าจะมีการขนคนออกมาใช้สิทธิ์ จนทำให้ผลการทำประชามติไม่เป็นไปโดยอิสระ นายนิคมกล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะกฎหมายประชามติ ไม่เหมือนกับกฎหมายเลือกตั้งที่ห้ามให้มีการขนคนออกมาเลือกตั้ง และระบุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมายประชามติไม่ได้กำหนดความผิดไว้ ถ้าผมเป็นผู้บริหาร เช่น เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ผมรับผิดชอบแล้วคนมาไม่ถึง 50% ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกันนะ คือ อาจใช้อำนาจทางบริหาร มันไม่ผิด แต่เป็นการบอกศักยภาพตัวเองว่าใช้ความรู้ความสามารถเต็มที่หรือไม่ในการเชิญชวนคนให้ออกมา

เมื่อถามย้ำว่า การทำประชามติครั้งนี้อาจเป็นการเดิมพันเรื่องของตำแหน่งของฝ่ายปกครอง นายนิคมกล่าวว่า มันเกี่ยวข้องกัน โอกาสที่เกิดขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะการออกมาลงคะแนนประชามติ กับการลงคะแนนเลือก ส.ส.และ ส.ว.แตกต่างกัน เพราะเลือก ส.ส., ส.ว.มีแรงจูงใจ มีคน มีหัวคะแนนไปช่วยกันดึงคนออกมาใช้สิทธิ แต่การทำประชามติ เป็นเรื่องส่วนรวม ประชาชนอาจเห็นว่าแก้ไปก็เท่านั้น ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับตนเอง ดังนั้นแรงจูงใจอาจน้อยลง ดังนั้นโอกาสที่ออกมา อาจไม่ถึงเกณฑ์ แต่การออกมาไม่ถึงส่งผลกระทบว่า คุณเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แสดงว่าทำความเข้าใจ โน้มน้าวให้ประชาชนเห็นความสำคัญไม่ได้

“รัฐบาลจำเป็นเหลือเกิน ผลักดันคนออกมาใช้สิทธิมากที่สุด เพราะเป็นนโยบาย รวมถึงเป็นประกาศของคณะรัฐมนตรีว่าจะใช้ประชามติในการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องเดินหน้าทุกวิถีทาง ในการให้ความรู้ประชาชน ให้ประชาชนเข้าใจและมาใช้สิทธิ ในกฎหมายประชามติไปดูก็ได้ ไม่ได้ระบุไว้” นายนิคมกล่าว

ถามต่อว่า แบบนี้รัฐบาลที่กังวลเรื่องคนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงเกณฑ์ก็ยิ้มได้แล้ว นายนิคมกล่าวว่า มันควรจะยิ้มได้ อย่าไปคิดอะไร มันเครียดมาก เครียดมากแล้วตายเอง ปีใหม่แล้วต้องยิ้ม ควรจะยิ้ม ไปกลัวอะไรรัฐบาลตอนนี้คุมได้หมดแล้ว


ปชป.ซัด มท.1 ดูถูก ปชช.โง่ เย้ยรอนายใหญ่สั่งถึงลุยประชามติ หวั่นใช้อำนาจรัฐชี้นำ
ปชป.ซัด มท.1 ดูถูก ปชช.โง่ เย้ยรอนายใหญ่สั่งถึงลุยประชามติ หวั่นใช้อำนาจรัฐชี้นำ
“องอาจ” ยันพรรคค้านประชามติตามกรอบ ไม่ป่วนนอกรอบ จวก “จารุพงศ์” เห็นต่าง รบ.ไม่แปลว่าโง่ ไล่ไปศึกษาระบอบ ปชต. ยันไม่ไปประชามติเป็นสิทธิ เหตุกฎไม่เหมือนเลือกตั้ง ย้อน พท.ตีกิน รธน.50 มาจากรัฐประหาร ทั้งที่ ปชช.มีส่วนร่วมลงเสียง ย้ำต้องแก้รายมาตรา ไม่เอายกทั้งฉบับเพื่อ “นช.แม้ว” ซัดเลิกอ้างว่าทำตามนโยบาย เหตุบิดพลิ้วเพื่อ ปชช.หลายเรื่อง รับหวั่น รบ.ลุแก่อำนาจชี้นำ ปชช. “ชวนนทอ แจงแก้ รธน.เพื่อความเหลื่อมล้ำไม่มีปัญหา แต่ รบ.จ้องล้ม รธน.เพื่อนายใหญ่รับประโยชน์ ดึงประเทศเป็นตัวประกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น