xs
xsm
sm
md
lg

“วราเทพ” แจง ชะลอประชามติกันวุ่นวาย แย้มไม่แก้ กม.นับคะแนน มั่นใจ ปชช.ใช้สิทธิเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รมต.สำนักนายกฯ เผย ครม.หวั่น ปชช.ไม่เข้าใจ จึงชะลอประชามติ แจง มท.รวมข้อมูลจัดพิมพ์ให้ ปชช. พร้อมศึกษาทำประชาเสวนาควบคู่ประชามติ กลัวขัด กม.ทำสับสน ส่อไม่จุ้น กม.นับคะแนนประชามติ เหตุไม่อยากถูกครหา เชื่อ ปชช.มาใช้สิทธิเกินครึ่ง ยันฟัง “เหลิม” เตือน ย้อน ปชป.หวังดึงเสียงพวกทับสิทธิเป็นพวก ชี้เร็วไปกล่าวหาแก้ รธน.เพื่อ “แม้ว” แนะดูหัวข้อประชามติก่อน อ้าง ปชป.เห็นชอบใช้ กม.ลูก ไม่หวั่นถูกยื่นตีความ เหตุศาล รธน.รับรอง

วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชะลอการประกาศให้ทำประชามติออกไปก่อนว่า เนื่องจาก ครม.ต้องการให้ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงได้ทราบถึงเรื่องที่จะให้ไปใช้สิทธิ ซึ่งการทำความเข้าใจกฎหมายกำหนดว่าจะต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอ ฉะนั้นการที่ ครม.จะเริ่มมีมติอย่างน้อยจะต้องมีความพร้อมของหน่วยงานที่จะจัดทำประชามติ ซึ่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มีหลายกระทรวงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องจึงต้องเข้าไปเตรียมการให้พร้อมก่อนที่จะเสนอให้ความเห็นชอบก่อนออกประกาศ

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า หากออกประกาศแล้วจะต้องดำเนินการลงประชามติภายใน 120 วัน เราคิดในแง่ที่ว่าหากรีบร้อนดำเนินการไปโดยยังไม่รอบคอบและไม่พร้อมจะสร้างความสับสน และจะทำให้การประชามติไม่ราบรื่น เพราะอาจจะมีการแก้ไขและถกเถียงกันอีกวุ่นวาย ดังนั้น การตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อทำให้ทุกอย่างมีความพร้อมในเรื่องขั้นตอนตามกฎหมายและการปฏิบัติที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การพิมพ์เอกสารข้อมูลให้ประชาชนทั้งประเทศ ที่จะต้องเข้าไปดูว่าหน่วยงานที่จะพิมพ์มีความพร้อมแค่ไหน โดยกระทรวงมหาดไทยจะเข้าไปรวบรวมข้อมูล คาดว่าคณะทำงานสามารถทำทุกอย่างครบทุกขั้นตอน แล้วสรุปให้ ครม.ดำเนินการออกประกาศภายใน 1 เดือน หรืออาจจะเกิน 1 เดือนไปไม่มาก จากนั้นนับไป 4 เดือน ก็จะมีวันลงประชามติ

นายวราเทพกล่าวว่า นอกจากนี้เรื่องการทำประชาเสวนาจะไปดูควบคู่กันไปว่าท้ายที่สุดที่ครม.จะ เดินหน้าทำประชามติแล้วประเด็นเรื่องประชาเสวนาจะมีผลเข้ามาเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน เช่น สามารถดำเนินการควบคู่ไปด้วยได้หรือไม่ หรือจะทำดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะวัตถุประสงค์ของประชาเสวนากว้าง เช่น ลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง สร้างความสมานฉันท์ เป็นต้น ดังนั้นการที่เราจะเอาเรื่องประชาเสวนาทำพร้อมกับประชามตินั้นเราต้องดูว่าจะมีข้อบกพร่องเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่ เพราะข้อกฎหมายระบุว่า ผู้ที่ให้ข้อมูลหรือหน่วยงานของรัฐจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นกลาง ไม่เป็นการชี้นำในเรื่องของการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากจัดเวทีประชาเสวนาก็จะเกิดประเด็นปัญหาในการระมัดระวัง อีกทั้งจะทำให้ประชาชนจะสับสนการลงประชามติกับประชาเสวนาอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางฝ่ายเสนอให้แก้กฎหมายประชามติ นายวราเทพกล่าวว่า เราไม่นึกว่าต้องแก้กฎหมาย เพราะบางฝ่ายเป็นห่วงว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิไม่เกินกว่ากึ่งหนึ่งแล้วต้องไปแก้กฎหมาย ตนคิดว่ายิ่งจะทำให้เกิดการต่อต้านเรื่องการทำประชามติ เพราะจะถูกมองว่าไม่ดำเนินการตรงไปตรงมา เหมือนกับไปลดเงื่อนไขเพื่อให้ผ่านประชามติ ดังนั้นควรที่จะยึดดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะทำงานทั้งหมดด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อถามว่า มองว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งผู้มีสิทธิใช้เสียงทั้งหมดหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า วันนี้ความขัดแย้งทางสังคมในเรื่องรัฐธรรมนูญและการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ถ้าเราเทียบเคียงกับผู้มาใช้สิทธิการเลือกตั้งก็มีอัตราสูงส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการที่จะให้ประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศออกมาใช้สิทธิ ตนคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เพราะความตื่นตัวทางการเมือง และความต้องการที่จะให้เกิดความชัดเจนในปัญหาข้อโต้แย้งหรือความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่หมดไป

เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี มองว่าค่อนข้างยากที่จะให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง นายวราเทพกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ตนคิดว่าควรรับฟัง เพราะว่าสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิมประเมินก็ประเมินในพื้นฐานที่มีนัยที่รับฟังได้เพราะมีฝ่ายที่รณรงค์ไม่ให้มาใช้สิทธิ อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ให้มาแล้วจะเลือกไม่เห็นด้วยตรงนี้คิดว่าไม่มีปัญหา แต่ขณะนี้มีฝ่ายที่ต้องการที่จะคว่ำประชามติด้วยการไม่มาลงคะแนนเสียง เพื่อหวังว่าจำนวนที่ผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิออกเสียงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นฐานต้นทุนที่จะรวมกับคะแนนที่เขาพยายามรณรงค์

เมื่อถามว่าจะดูข้อกฎหมายที่จะเอาผิดฝั่งที่จะคว่ำประชามติขณะนี้มีความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง นายวราเทพกล่าวว่า ถ้าเขาเดินหน้ารณรงค์จะมีกฎหมายคือถ้าหากชี้นำให้ผู้ออกเสียงเกณฑ์กฎหมายมีความคล้ายคลึงกัน คือ 1. ถ้าเป็นเรื่องการกระทำความผิดในลักษณะสัญญาว่าจะให้ เสนอให้ อันนี้ผิดแน่นอน 2. เรื่องการดำเนินการที่มีลักษณะการข่มขู่ บังคับ หลอกลวง กล่าวเท็จ ในเรื่องการให้ข้อมูลเพื่อที่จะจูงใจให้คนที่ไปลงประชามติ ไม่ออกมาออกเสียงประชามติ หรือลงประชามติในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ฉะนั้นก็อยู่ที่พฤติกรรมของผู้กระทำความผิด หากพรรคฝ่ายค้านไปดำเนินการเปิดเวทีปราศรัยแล้วไปใส่ร้าย ไปหลอกลลวง ไปกล่าวเท็จแล้วจูงใจไม่ให้คนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือมาใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงประชามติ ก็เข้าข่ายกระทำผิดตามกฎหมายแล้ว

เมื่อถามว่า ข้ออ้างที่ระบุว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นการกระทำความผิดหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ตรงนี้ต้องมีผู้ร้อง แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการสอบสวน ก็ดูเนื้อหาการขยายความว่าพูดมากน้อยแค่ไหน พูดในลักษณะที่เป็นการจูงใจหรือไม่ พูดในลักษณะที่เป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือไม่ คือเราจะมาคาดการล่วงหน้ายังเร็วเกินไป ตนอยากเรียนว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติอยากให้รอผล การศึกษาการดำเนินการทำประชามติให้ชัดเจนเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มีการกำหนดชื่อเรื่องหรือหัวข้อที่จะถามประชามติ
เมื่อถามว่า หัวข้อที่จะเขียนให้ประชาชนออกมาลงประชามติจะเป็นอย่างไร นายวราเทพกล่าวว่า ตนคิดว่าเราต้องถามว่าวัตถุประสงค์เราต้องการอะไร ซึ่งเราต้องการอยากรู้ว่าประชาชนคิดอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเฉพาะเรื่องที่ค้างอยู่ในสภา ฉะนั้นก็น่าจะถามในแนวที่ว่าคือ ไม่ชอบหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ยกร่าง เป็นต้น ซึ่งในความเห็นตนคงต้องถามข้อเดียว เพราะถ้าหลายข้อจะทำให้เกิดการโต้เถียงไม่จบสิ้น

เมื่อถามว่า ในส่วนของการทำประชาติ ตกลงจะยึดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 หรือยึดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นายวราเทพกล่าวว่า แน่นอน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ตนพบกับพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็ยืนยันว่าเขาเห็นเหมือนกันแล้ว ซึ่งอย่างน้อยพรรคฝ่ายค้านก็เห็นเหมือนว่าคะแนนที่จะใช้ ให้ใช้ตามกฎหมายลูก เมื่อถามว่าอาจเสี่ยงที่จะถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า จะตีความหรือไม่ ตนว่าเนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 141 เขียนว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะประกาศใช้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นความเห็นชอบของมาตรา 9 เรื่องคะแนนเสียงใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความเห็นชอบมาแล้ว ฉะนั้นไม่น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น