ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มเข้าใจกันแล้วว่า การทำประชามติของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับนั้น เอาเข้าจริงแล้วมันไม่หมู ไม่ง่ายอย่างที่คิด ขณะเดียวกัน ถ้าพิจารณากันอย่างรู้ทันก็ต้องบอกว่าอันที่จริงแล้วคนพวกนี้ก็ไม่ต้องการให้มีการทำแบบนี้หรอก เพราะมันเสี่ยง ยุ่งยาก และที่สำคัญมันช้าไม่ทันใจ
ถ้าถามว่าสิ่งที่ ทักษิณ ชินวัตร ต้องการจริงๆ เวลานี้ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาได้พ้นผิด กลับมามีอำนาจได้อย่างเปิดเผย และได้เงินที่ถูกยึดไป 4.6 หมื่นล้านบาทกลับมาเท่านั้น อาจจะออกมาในแบบพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ จากนั้นก็ตามมาด้วยพระราชบัญญัติล้างมลทิน ตามที่เคยเคลื่อนไหวดำเนินการผ่านทาง “ขี้ข้า” อย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่อาสาทำงานดังกล่าวมาแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จเพราะมีกระแสต่อต้านรุนแรง
อีกทั้งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องถอยเปลี่ยนวิธีเล่นใหม่ก็คือ เป็นเพราะผลงานของรัฐบาลนอมินี ที่นำโดยน้องสาวของเขาคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นมันห่วยแตกผิดคาด ผิดไปจากความคาดหมายทุกเรื่อง โดยเฉพาะปัญหา “ของแพง” ที่ในที่สุดจะกลายเป็นแรงกดดันมากขึ้นทุกวัน เพราะขนาดผลสำรวจของรัฐที่รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ปรากฏว่าชาวบ้านต้องการให้แก้ไขเรื่องดังกล่าวเป็นหลัก มันก็สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านเริ่มบ่นกันเสียงดังขึ้น รวมไปถึงผลงานอื่นๆ ที่ไม่ได้เรื่อง ไม่ต้องไปพูดถึงการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รุนแรง-ตายจนชินแล้ว ด้วยกลไกที่พร้อมทุกอย่าง แต่ผลงานออกมาอย่างที่เห็นทั้งหัวหน้ารัฐบาลและ “คนที่คิดให้ทำ” น่าจะรู้สึกละอายบ้าง
ด้วยเหตุนี้แหละทำให้บรรยากาศในการปกป้องรัฐบาลและทักษิณ เริ่มเฉื่อยชาลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันด้วยระบบการถ่วงดุลโดยศาลรัฐธรรมนูญทำให้ขยับลำบาก
เอาเป็นว่ายิ่งเวลาทอดนานออกไปเท่าใดยิ่งทำให้หนทางของ ทักษิณ ชินวัตร ที่จะเอาเปรียบคนอื่นทำได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะชาวบ้านรู้ทัน กลายเป็นว่ามีแต่คนที่ได้ประโยชน์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ให้การสนับสนุนสุดตัว
กรณีการหันกลับมาทำประชามติก็เช่นเดียวกัน แม้จะฝืนความรู้สึกแค่ไหนก็ตามก็ไม่มีทางเลือก ต้องใช้หนทางนี้ เพราะอย่างน้อยก็ยังทำให้รัฐบาลนอมินีของตัวเองซื้อเวลาไปได้อีกพักใหญ่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป อภิมหาโปรเจ็กต์กำลังทยอยออกมาให้เก็บเกี่ยว มองอีกมุมหนึ่งมันก็มีแต่ได้กับได้เหมือนกัน
แต่ถ้าพิจารณากันเฉพาะการทำประชามติ แน่นอนว่าคนอย่าง ทักษิณ ย่อมเล็งผลเลิศอีกรอบเหมือนกัน หวังว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ นำไปสู่เป้าหมายของตัวเองให้ได้ แต่เมื่อสำรวจเห็นกระแสต่อต้านที่นับวันมีสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องรอบคอบจะพลาดอีกไม่ได้เป็นอันขาด เพราะถ้าพลาดเที่ยวนี้พลาดแล้วพลาดเลย
และแม้ว่าในแง่มุมของกูรูด้านกฎหมายบางคนจะมีความเห็นว่าการทำประชามติแม้จะผ่านไปได้ แต่การจะไปโหวตต่อวาระ 3 โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วยการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การยกร่างใหม่ เหมือนกับ “ลูกฆ่าแม่” นั้นทำไม่ได้ ถือว่าจบไปแล้ว รวมไปถึงความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าหากจะแก้ไขก็ต้องทำประชามติเพื่อแก้ไขรายมาตรา ไม่ใช่ยกร่างใหม่ทั้งฉบับอันขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตาเป็นอย่างยิ่งก็คือ แง่มุมอีกด้านหนึ่ง การทำประชามติคราวนี้มีเป้าหมายเฉพาะหน้าเพื่อนำไปอ้างอิงว่ามีเสียงของประชาชน “ต้องการให้แก้ไข” รัฐธรรมนูญมากกว่าเสียงที่ไม่ต้องการให้แก้ไข โดยที่รู้อยู่แล้วว่าหากพิจารณากันแบบการลงประชามติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญปี 2552 ที่อาจติดขัดในเรื่องเสียงของผู้มาสิทธิ์ออกเสียงรวมกันไม่ถึง 23 ล้านเสียงตามตัวเลขพื้นฐานที่วัดจากจำนวนฐานคะแนนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
สรุปง่ายๆ แบบไม่ต้องคิดตามให้เวียนหัวก็คือ การทำประชามติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญปี 2552 ก็คือหากไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเชื่อว่าทำเพื่อทักษิณ และนักการเมืองขี้ฉ้อได้ประโยชน์แล้วต้องไม่ให้ได้เสียงรวมกันเกิน 23 ล้านเสียง โดยความหมายในที่นี้ก็คือ “ไม่ไปใช้สิทธิลงประชามติ” แต่ถ้าไปโหวตไม่ให้แก้ไข แม้ว่าดูเผินเป็นการต่อต้าน แต่นั่นก็เท่ากับว่าไปเพิ่มจำนวนเสียงให้เกิน 23 ล้านเสียงนั่นเอง
และนี่คือสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลและทักษิณเริ่มกังวล เพราะการไม่ไปใช้สิทธิ์ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ไม่เหมือนกับกรณีไม่ไปเลือกตั้งที่ถือว่าเป็นหน้าที่ จะต้องเสียสิทธิ์ตามมาบางอย่าง
สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการจริงๆ แล้วอาจเป็นไปได้ว่า การลงประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นเพียงเพื่อต้องการถามความเห็นว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อผูกมัด และเชื่อมั่นว่าด้วยข้ออ้างที่มา “รัฐธรรมนูญเผด็จการ” ตามที่จะมีการ “ประชาเสวนา” ทั่วประเทศ ชี้นำโดยกระทรวงมหาดไทย และแกนนำคนเสื้อแดง และเครือข่ายรัฐบาลที่เตรียมเอาไว้แล้ว มั่นใจว่าเสียงจะออกมาชนะ โดยไม่ต้องไปคำนึงว่าคนจะออกมาออกเสียงรวมกันถึง 23 ล้านเสียงหรือไม่ก็ตาม จากนั้นก็นำเสียงข้างมากไปอ้างแก้ไขตามใจชอบ โอกาสแบบนี้มันก็เป็นไปได้สูง!!