“เกษียร” ยัวะ “สมศักดิ์ เจียมฯ” วิจารณ์จุดยืนทางการเมือง หลังเลิกเขียนบทความลงมติชน แฉกลับสร้างภาพทำเป็นกล้าหาญแต่แอบร้องไห้กับนักข่าวต่างชาติหลังโดนคดีหมิ่นฯ เจ้าตัวปรี๊ดแตกด่าคืนเป็นชุด “ขี้ขลาดตาขาว-ไม่มีกระดูกสันหลัง-หน้าด้าน-ต่ำ” พร้อมท้าเผยชื่อนักข่าวมาเลย ลั่นชีวิตนี้ไม่เคยร้องไห้เพราะกลัวมาตรา 112
“สมศักดิ์” วิจารณ์ “เกษียร”
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 56 จากกรณีที่ นายเกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประกาศผ่านทางหน้าเฟซบุ๊ก “Kasian Tejapira” ว่า ได้เลิกเขียนบทความในหนังสือพิมพ์มติชนแล้ว ทั้งที่เขียนมาต่อเนื่องถึง 14 ปี โดยบทความชื่อว่า “บรรหารบุรีใต้ร่มพระบารมี” เป็นบทความสุดท้ายที่เขียนไว้ แต่ไม่ได้ลง
จากกรณีนี้ทำให้ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” โดยยกบทความของผู้จัดการออนไลน์ (http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000016510) ถึงการคาดเดาเหตุผลที่ยุติการเขียนในครั้งนี้ ว่าเป็นเพราะมติชนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นายบรรหารกุมอำนาจอยู่
โดยนายสมศักดิ์ระบุว่า “เมื่อเช้าผมดูมติชน ไม่มีบทความเกษียร ยังงงว่าเพราะอะไร (มีบทความ คณิณ บุณสุวรรณ แทน)
ก็หวังว่าเกษียรจะอธิบายให้ชัดกว่านี้ว่า ทำไมจึงงดเขียนให้มติชน โดยเฉพาะการที่ ผู้จัดการ ออกมา “เดา” แบบนี้ เพราะการที่เลิกโดยบทความไม่จบ (และเป็นบทความที่เกี่ยวกับวงการรัฐบาล) แบบนี้จะว่าเป็นเรื่องส่วนตัวอะไรคงไม่ได้ มันเป็นประเด็นสาธารณะไป (และคงจะไม่ใช่ประเภท “เป็นเรื่องระหว่างผมกับพระเจ้าของผม” อีก)
รู้สึกพิลึกเหมือนกัน ถ้าการเดาของผู้จัดการ กลายมามีส่วนจริง (และนี่เป็นเหตุสำคัญเหมือนกันวา ทำไมจึงควรทำความชัดเจนมากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องกระทบถึง มติชน ด้วย ถ้ามติชน มีปัญหาเพราะเรื่องที่ว่าจริงๆ ก็เป็นเรื่องใหญ ไมใช่เฉพาะกับเกษียรแน่ๆ แต่สำหรับวงการสื่อด้วย)
บทความที่ว่า จริงๆ แทบไม่มีอะไรเท่าไร ไม่ใช่บทความที่ดีนัก ในบรรทัดฐานงานเกษียรเองด้วย (การวิเคราะห์ การขึ้นสู่อำนาจของบรรหาร ผมว่าอ่อน ตัวอย่างที่ยกมา เป็นเรื่องช่วงทศวรรษ 2510 เสียเยอะ ขณะที่บรรหารเป็นนายกฯ หลัง 2535)
และอดนึก irony ไม่ได้เหมือนกันว่า สมัยเขียนแบบ “network monarchy” (นี่เป็นการวิเคราะห์ของเขาเองต่องานของเขา ก่อน รปห. 19 กันยา) ถ้าเลิกไปเสียตอนนั้น อาจจะดีต่อสังคมวงกว้างกว่านี้
อย่างที่ผมเคยเขียนไปเร็วๆ นี้ ตราบใดที่เกษียรไม่แสดงความกล้าหาญทางคุณธรรมของการเป็นปัญญาชน ที่จะวิพากษ์งานเขียนในช่วงดังกล่าวของตัวเอง “มรดก” หรือ “ความจำ” ของงานเกษียร ใน นสพ. ก็จะคือ ไอเดียประเภท “ระบอบทักษิณ” “เลือกตั้งธิปไตย” “นักเลือกตั้ง”
นายสมศักดิ์โพสต์อีกว่า “ผมว่า ถ้ามติชน มีปัญหากับบทความ บรรหาร ตอน 2 ของเกษียร จริงๆ (อย่างที่ ผู้จัดการ และล่าสุด สุวินัย เดา) ผมว่า มติชน มีปัญหานะ และนี่เป็นเรื่องไม่เล็กแน่ ก็หวังว่า ทั้ง มติชน และเกษียร จะออกมาอธิบายให้ชัดกว่านี้ว่า มันเรื่องอะไรกันแน่”
“เกษียร” แฉ “สมศักดิ์” แอบร้องไห้หลังโดนคดีหมิ่นฯ
หลังจากนั้นไม่นาน นายเกษียรได้โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้นายสมศักดิ์ว่า “ความริษยาของปัญญาชน....มีคนเคยเตือนผมว่า ปัญญาชนริษยากันเนี่ย รุนแรงร้ายกาจยิ่งนัก ผมก็รับฟังไว้นะครับ หลังจากที่งงๆ ว่าทำไมการที่บทความของผมได้ลงพิมพ์ในวารสารบางฉบับ ทำให้บางคนลุกขึ้นมาเดือดร้อนตีโพยตีพายว่า “การเมือง” ของผมใช้ไม่ได้ ไม่ควรที่จะมีบทความตีพิมพ์ในวารสารนั้นๆ
น่าสนใจว่าเป็นเกณฑ์การประเมินบทความวิชาการที่เอาการเมือง (ของตัวเอง) นำแบบประธานเหมา+แก๊งสี่คนเด๊ะทีเดียว หลังจากนั้นมาผมก็ตัดหางปัญญาชนบางคนปล่อยวัดทางความคิดครับ
คืออย่างนี้ คนบางคนชีวิตยาวขึ้นอีกหนึ่งวัน ผมก็ไม่ดีใจ, คนบางคนชีวิตสั้นลงหนึ่งวัน ผมก็ไม่เสียใจ แบบว่ารู้สึกเฉยๆ
คนที่เขาชื่นชมความกล้าหาญเย้ยฟ้าท้าดินกันทั้งเมือง จะแอบร้องไห้ด้วยความกลัวกับนักข่าวต่างชาติสองต่อสองเพราะโดนข้อกล่าวหาหมิ่นฯ ผมก็ได้แต่ขำนะครับ
นี่คือความรู้สึกจากใจจริงครับ แหะๆ”
ยิ่งไปกว่านั้น นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ประสานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Puangthong R. Pawakapan ได้มาคอมเม้นท์ด้วยว่า “คนที่เขาชื่นชมความกล้าหาญเย้ยฟ้าท้าดินกันทั้งเมือง จะแอบร้องไห้ด้วยความกลัวกับนักข่าวต่างชาติสองต่อสองเพราะโดนข้อกล่าวหาหมิ่นฯ ผมก็ได้แต่ขำนะครับ ... เอาไว้เจออาจารย์เมื่อไร จะเล่าประสบการณ์ทำนองเดียวกันนี้ให้ฟังนะคะ”
“สมศักดิ์” ฉุนจัด ซัดกลับเป็นชุด
หลังจากนั้นไม่นาน นายสมศักดิ์ได้แสดงถึงความไม่พอใจอย่างหนัก โดยเผยผ่านเฟซบุ๊กเพื่อตอบโต้ว่า “มีคน copy มาให้ดูว่า เกษียร เขียนถึงผมแบบนี้ ผมอ่านแล้วก็เหลือเชื่อว่า คนเรา แม่มจะต่ำได้ขนาดนี้ เป็นปัญญาชน แท้ๆ
มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ผมได้ยินการบอกเล่ามาสักระยะ ว่าเขาพูดถึงลับหลังแบบนี้ แต่ไม่เห็นเอง ดีแล้วที่วันนี้เขาเขียนออกมา ผมจะได้ถือโอกาส โต้ ท้า ไปถึงเขาเสียเลย (คือก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่ได้ยินเอง ก็เลยไม่อยากพูดถึง)
เรืองที่ว่าผมวิจารณ์เขา เพราะ “อิจฉา” นี่ ผมไม่โต้นะครับ เพราะต่ำเกินไป แต่เรื่องที่ เกษียร พูดให้ใครต่อใครฟัง (อย่างที่บอกว่า ผมเคยได้ยินคนมาเล่ามาก่อน) ว่า ผม “แอบร้องไห้ด้วยความกลัวกับนักข่าวต่างชาติสองต่อสองเพราะโดนข้อกล่าวหาหมิ่นฯ”
ผมขอท้าไปถึงเกษียรว่า กล้าพิสูจน์คำโกหกนี้ไหม? ระบุมาเลยครับว่า “นักข่าวต่างชาติ” ที่ผม “แอบร้องไห้สองต่อสอง” คือใคร
ผมท้าเลย เอาชีวิตการทำงาน เป็นเดิมพันไหม? ถ้าเกษียรบอกออกมาไม่ได้ ให้เลิกเขียนหนังสือตั้งแต่บัดนี้ (ไม่ต้องขอโทษด้วยซ้ำ) แต่ถ้าพิสูจน์ได้ ผมยินดี ไม่เพียงขอโทษอย่างหนักต่อเกษียร ในที่สาธารณะเลย ยินดี เลิกเขียนหนังสือโดยสิ้นเชิงแต่บัดนี้ กล้าไหมครับ?
ปล. ตอนผมโดนข้อหา 112 นั้น ผมเจอนักข่าวต่างชาติเพียง 3-4 คน (จริงๆ มีนักข่าวต่างชาติขอเจอมากกว่านี้เยอะ แต่ผมเลือก เพราะเหนื่อย ไม่ชอบเจอนักข่าวด้วย โดยกระจายกันไป อเมริกัน (คุณ Thomas Fuller นิวยอร์กไทมส์ ที่เพิ่งเขียนเรืองทักษิณสไกป์ รบ.ยิ่งลักษณ์ นั่นแหละ) อาซาฮี ชิมบุน, เยอรมัน, ฝรังเศส และอังกฤษ คือ คุณเฟอร์เกิน คีน ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์กลางแจ้ง สารคดี “Justice Under Fire”
ทุกครั้งมีคนร่วมอยู่ด้วยเสมอ อย่างน้อย 1 คน (เช่น ฝรั่งเศส อ.ปิยบุตร อยู่ด้วย เยอรมัน มีเพื่อนชาวต่างชาติที่พูดเยอรมันได้อยู่ด้วย คุณ Muller เอาผู้ช่วยมาด้วย ฯลฯ)
ไม่เคยอยู่ “สองต่อสอง” ต่อนักข่าวเลย และที่สำคัญในชีวิตนี้ไม่เคยร้องไห้ด้วยความกลัวเรื่อง คดี 112 เลย ไม่เคยเลย
คนขี้ขลาดตาขาว ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างเกษียร ยังหน้าด้านมาปล่อยข่าวแบบนี้ต่อผม มันต่ำจนเหลือเชื่อจริงๆ”
นายสมศักดิ์โพสต์ต่อในส่วนของคอมเมนต์ว่า “เหลือเชื่อนะ ในวงการปัญญาชน เพิ่งมีคนส่งมาบอกว่า ดร.พวงทอง ก็อุตส่าห์ไปเขียนอ้างในกระทู้เกษียร ทำนองว่า “เจอประสบการณ์ทำนองเดียวกัน” ผมท้าไปถึง ดร.พวงทอง ด้วยเลยครับ กล้ามาพูดกันเปิดเผยเลยไหมครับเรื่องนี้ และถ้าพิสูจน์ไมได้ ยินดีจะขอโทษผมไหมครับ?”
“ยิ่งพูดแล้วยิ่งเศร้ามากกว่าอื่นนะ ปัญญาชนไทยตลอดหลายปีมานี้ ขี้ขลาดตาขาว ไม่มีกระดูกสันหลังเรื่องเจ้า พอผมมากระตุ้นเรืองนี้เข้า เถียงไม่ได้ ก็ใช้วิธีนี้
ถ้าผมเป็นพวก “หน้าไหว้หลังหลอก” แบบที่ว่า ป่านนี้ทำไมไม่กล้าระบุมาเลยล่ะครับ? ทำไมต้องใช้วิธีไปแอบนินทาลับหลังกันแบบนี้?
ระบุ “เปิดโปง” มาเลยครับ หรือแม้แต่เรื่องนี้ ก็ขี้ขลาดกัน จนต้องใช้วิธีไปนินทาลับหลัง ที่ไม่ยอมเปิดโอกาสให้คนที่ถูกนินทา ตอบโต้?”
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 24.30 น. นายสมศักดิ์ โพสต์เพิ่มเติมอีกว่า “ผมแปลกใจ ที่บางคนเขียนทำนองว่า เรืองที่ผม “ทะเลาะ” กับเกษียร เป็นเรื่องทำนองส่วนตัว หรือทำนองผมมีเรื่องส่วนตัว อะไรกับเกษียร
จริงๆ ใครที่รู้จักผม หรือตามอ่านผมมาสักระยะหนึ่ง ควรจะรู้ว่า ผมไม่เคยมีปัญหาส่วนตัวกับใคร ที่จริง ไม่เคยสนใจนักวิชาการ ในแง่ “ส่วนตัว” ด้วยซ้ำ
ประเด็นที่ผมมีเรื่องกับเกษียร มาเป็นสิบปี และได้เขียนสาธารณะมาโดยตลอด (ไม่เคยใช้วิธีนินทา หรือพูดในที่ลับ แบบที่เกษียร ใช้) คือข้อเขียนของเกษียร เป็นข้อเขียน เชียร์เจ้า (เขาเองเคยยอมรับว่างานของเขาอยู่ในประเภท Network Monarchy)
และเป็นข้อเขียนที่ (นี่เป็นอีกด้านของเรื่องเดียวกัน) อัด “นักการเมือง” ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเจ้า
คำว่า “ระบอบทักษิณ” “นักเลือกตั้ง” “เลือกตั้งธิปไตย” ล้วนเป็นคำที่เกษียรคิดขึ้นมา หรือทำให้แพร่หลายท้ังนั้น
นี่คือ “ปัญหา” ที่ผมมีกับเกษียร ไมมีเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น งานของเกษียรในลักษณะนี้มีอิทธิพลทางความคิดในหมู่ “เอ็นจีโอ” หรือนักกิจกรรม อย่างมหาศาล
แม้แต่ไอเดีย เรื่อง “เป็นอิสระจากรัฐ และทุน” ที่เป็นเหมือน “คำขวัญ” ของสิ่งที่เรียกว่า “ภาคประชาชน” ก็มาจากเกษียร ฯลฯ
ไอเดียพวกนี้แหละ คือสิ่งที่ผมวิพากษ์ และ “มีปัญหา” ไม่เคยมีปัญหาเรื่องที่มีลักษณะส่วนตัวใดๆ เลย
ในทางตรงข้าม ตลอดหลายปีมานี้ เกษียรไม่เคยโต้แย้งประเด็นเหล่านี้ที่ผมวิพากษ์ได้ ก็ใช้วิธี “เล่น” เรื่องไร้สาระ เรื่องที่มีลักษณะ “ส่วนตัว” เสมอ
จนถึงกรณีล่าสุดนี้แหละ เรียกว่า โกหก ในที่สาธารณะซึ่งๆ หน้าเลย
(ปล. นับว่า เกษียร “โชคดี” ที่คนอ่านจำนวนมากเพิ่งมาเคยได้ยินเขาพูด หรือเขียนในระยะ 2 ปีนี้ โดยไม่ได้ตามมาโดยตลอดว่า เป็นเวลา 10 ปี เกษียรเขียนโปรเจ้าอย่างไร และ “อัด” นักการเมืองอย่างไร แม้จนกระทั่งหลัง รปห. 19 กันยา เป็นเวลา ถึง 3-4 ปี เกษียรก็ยังชูธงอัดนักการเมือง อัด “ระบอบทักษิณ” ชูเรื่อง “ไม่เอาทั้งสองขั้ว” และกระทั่งจนถึงปี 2552 ก็ยังเขียนในลักษณะ “สมน้ำหน้า” คนที่ติดคุกคดี 112 .... ที่เพิ่งมาเห็นเหมือนกับเขาจะ “เปลี่ยน” นั้น เพิ่งหลัง 2553 เท่านั้น และก็เป็นการ “เปลี่ยน” ที่มีลักษณะจำกัดมาก ... ตัวอย่างง่ายๆ เลย คือ (ก) เกษียร ไม่เคย retract หรือ “ถอน” ข้อเสนอเรื่อง “ระบอบทักษิณ” “เลือกตั้งธิปไตย” ของตัวเอง และ (ข) เกษียร ไม่เคยวิพากษ์สถานะของเจ้าโดยแท้จริง เทียบกับสมัยก่อนที่วิพากษ์นักการเมืองรายวันแล้ว ห่างกันลิบลับ)