จุฬาฯ จัดเสวนาปมถกแก้ รธน. “พีรพันธุ์” ยัน 50 ไร้ ปชต. ยกสรรหา ส.ว.ไม่เหมาะ “ถาวร” หนุนนักการเมืองใช้ 2 ศาล แนะ ป.ป.ช.ปรับปรุง หลังคดีอัลไพน์หมดอายุความ ติงสบายเกินจี้ลดวาระ ตั้งเวลาทำหน้าที่ให้เสร็จ พร้อมลดอำนาจ กันกลั่นแกล้ง คณะบดีนิติฯ นิด้า ร้องดูสภาพสังคมก่อนแก้ รธน. ยกทุนผูกขาดยุคนี้ สังคมนิยมอาจดีกว่าให้ ปชช.มีส่วนร่วม อ.นิติฯ จุฬาฯ ไม่รับรัฐประหาร-ยุบพรรค ชี้มีสถาบันแค่พรรคเดียว
วันนี้ (8 ก.พ.) ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ “ประเด็นพึงพิจารณา หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยมีวิทยากร อาทิ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะบดีนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตคณะกรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นายณรงค์เดช สุรโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายพีรพันธุ์ได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มีความบกพร่อง ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยของคนทั้งประเทศ เพราะเกิดจากการรัฐประหาร และที่เห็นชัดเจนคือการแต่งตั้ง ส.ว.สรรหา พอหมดวาระ 3 ปี คนเก่าก็เข้ามา 30 กว่าคน และได้ยินจากประธานองค์กรอิสระว่าเขาสามารถเลือก ส.ว. ซึ่งเป็นคนในเครือข่ายของตัวเองเข้ามาได้ถึง 10 กว่าคน
นายถาวรกล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้การตัดสินคดีความทุจริตของนักการเมืองให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ศาล และเพื่อไม่ให้มีการมาอ้างว่าไม่ได้รับความยุติธรรมและโดนกลั่นแกล้งว่าถูกรัฐประหาร เป็นต้น นอกจากนี้ตนยังเห็นว่า ควรมีการปรับปรุงองค์กรอิสระ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพราะมีความบกพร่องในการทำหน้าที่ อย่างเช่นคดีที่ดินอัลไพน์ ที่ปล่อยให้หมดอายุความ อาจเป็นเพราะอยู่ในอำนาจมากเกินไปเปรียบเสมือนกินข้าวร้อนนอนตื่นสาย ดังนั้น ควรตัดอายุการดำรงตำแหน่งให้เหลือ 5 ปี จากเดิม 9 ปี รวมทั้งควรกำหนดเวลาพิจารณาคดีเมื่อรับเรื่องแล้วต้องไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับเรื่องพิจารณา 4 เดือน และเมื่อส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการตัดสินภายใน 1 ปี อีกทั้งยังหามาตราการกำหนดดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. บางครั้งที่กว้างขวางที่เป็นอันตรายมาก หากเป็นพวกเดียวก็ไม่เป็นไร แต่หากต่างพวกก็ถูกดำเนินการเต็มที่
นอกจากนี้ ไม่ควรให้ประธานรัฐสภา และผู้นำฝ่ายค้านฯ เป็นผู้สรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เพราะถือว่านักการเมืองมีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องถูกองค์กรดังกล่าวมาตรวจสอบ
นายบรรเจิดกล่าวว่า ก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการกำหนดโจทย์ก่อน เพราะหากกำหนดโจทย์ผิด กระบวนการก็ผิดตามไปด้วย การที่ประเทศไทยนำรัฐธรรมนูญของต่างชาติมาใช้โดยไม่ดูบริบททางสังคม และไม่ปรับใช้ให้สอดคล้องกับประเทศ เป็นผลเสียมาถึงปัจจุบัน ต้องอย่าลืมว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญต้องวางให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย โดยมีประชาธิปไตยเป็นหลักการกลาง และอย่านำไปเทียบกับอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา เพราะประเทศเหล่านี้มีวิวัฒนาการมายาวนานกว่า 700 ปีก่อนการมีรัฐสภาและการใช้รัฐธรรมนูญ การนำระบบรัฐสภามาใช้จึงต้องคำนึงถึงบริบทแวดล้อมสังคมด้วย
นายบรรเจิดกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการปฏิรูปประเทศ ตนมองว่าต้องกำหนดโจทย์ให้ชัดเจนว่า ตัวแทนผลประโยชน์ของแต่ละพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง ไม่ใช่ผูกขาดอำนาจอำนาจอยู่ที่พรรคการเมือง และปัญหาที่แท้จริงที่ต้องแก้ไขคืออะไร อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เห็นชัดว่าอำนาจการเมืองถูกผูกขาดจากคนกลุ่มต่างๆ ได้แก่ พ.ศ. 2475-2500 ผูกขาดโดยคณะราษฎร, พ.ศ. 2500-2516 ผูกขาดโดยขุนศึก, พ.ศ. 2517-2535 ผูกขาดโดยขุนศึกและทุน และ พ.ศ. 2535 ถึงปัจจุบัน อำนาจผูกขาดอยู่ที่ทุน ทำให้เห็นว่าพื้นที่ประชาชน หรือตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่มี ดังนั้นเป็นประชาธิปไตยไทยคงไม่ถูกเรียกว่าถูกปกครองโดยรีโมตฯ
“ผมมองว่าระบบของสังคมนิยมอาจจะดีกว่าของประเทศไทย เพราะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเข้ามาอยู่ในสภา เช่น ประเทศจีน มีตัวแทนประโยชน์เชิงพื้นที่ เช่น จังหวัดจัดการตัวเอง เขตปกครอง สะท้อนว่าตัวแทนผลประโยชน์หลากหลายเข้าไปกำหนดทิศทางของชาติ ถามว่าระบบพรรคการเมืองไทยเป็นแบบไหน ผมไม่แน่ใจว่าเป็นกลุ่มที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ประชาชน หรือประโยชน์ของกลุ่มทุน” นายบรรเจิดกล่าว
นายบรรเจิดกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ถูกระบุถึงหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การยุบ หรือยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ดังนั้น ตนมองโมเดลที่มาของคณะตุลาการ ว่า ต้องให้คณะกรรมการสรรหาที่มีภาคประชาชนสาธารณะไปร่วมพิจารณาจึงจะเป็นทางออก ส่วนที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น ตนมองว่าอนาคตต้องยกเลิกที่มาจากการเลือกตั้งหรือสรรหา แต่ควรให้มีที่มาจากการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของพื้นที่ เพื่อให้เข้ามาต่อรองนำประโยชน์กลับไปสู่พื้นที่ แต่กระบวนการนี้ต้องสร้างกลไกระดับจังหวัดให้ดี
นายณรงค์กล่าวว่า ในส่วนของประชาธิปไตย ไม่สามารถเลียนแบบของชาติตะวันตกได้ทั้งหมด แต่ก็มีหลักการบางอย่างที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ เพราะไม่เช่นนั้นหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐจะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรา 309 ซึ่งเป็นการรับรองอำนาจรัฐประหาร ซึ่งขัดกับหลักการที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับมาตรา 237 ที่ให้มีการยุบพรรค เพราะตนมองว่าจะเป็นการใช้กฎหมายดังกล่าวนี้กำจัดศัตรูทางการเมืองและให้ยุบพรรคกันหมด แทนที่จะได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งขันกัน ซึ่งตามหลักประชาธิปไตยเขาไม่ทำกัน ตนไปดูกฎหมายพรรคการเมืองกว่า 70 ประเทศ และมี 3 ประเทศที่มีการยุบพรรค คือ ไทย เคนยา กัวเตมาลา
“ขณะที่ไทยสถาบันการเมืองก็อ่อนแออยู่แล้ว โดยขณะนี้ก็มีแค่พรรคการเมืองเดียวที่อยู่เป็นสถาบันได้ ส่วนพรรคการเมืองอื่นก็ถูกกดรีโมทได้หมด หากให้มีการยุบพรรคอีกก็จะย้อนกลับไปตามแนวคิดสังคมโบราณที่คนไม่รู้เห็นแต่ก็มีความผิดด้วย เปรียบเสมือนการประหารชีวิตยกบ้าน” นายณรงค์กล่าว