นิติศาสตร์ มธ.จัดเวทีปราสาทพระวิหาร “ทูตวีรชัย” ชี้ศาลโลกมีอำนาจตัดสินคดี แม้จะหมดความผูกพัน แต่จำกัดสิทธิตีความเฉพาะคำพิพากษา ปี 2505 เท่านั้น ด้านนักวิชาการเชื่อไม่ก้าวล่วงถึงเรื่องเขตแดน หวั่นกระทบเออีซี อีกทั้งมีคำวินิจฉัยส่วนตนของประธานศาลโลกเป็นเครื่องการันตี
วันนี้ (3 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “50 ปีคดีประสาทพระวิหาร-ไขปริศนาคดีตีความ” เพื่อให้ประชาชนเข้าใจข้อเท็จจริงสถานการณ์ประสาทพระวิหาร โดยมีวิทยากรที่น่าสนใจ คือ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก หัวหน้าคณะต่อสู้คดีประสาทเขาพระวิหาร, นายจตุรนต์ ถิระวัฒน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายวีรชัยกล่าวว่า การไขปริศนาของกฎหมายระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร ต้องพูดเรื่องของอำนาจศาลโลกในการพิจารณาคดีดังกล่าว และขอยืนยันว่าไม่ได้ผูกพันพื้นที่ภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่าง ศาลในประเทศไทยมีอำนาจไปพิจารณาคดีคนไทยที่ทำผิดอาญาระหว่างประเทศด้วย แสดงให้เห็นว่า อำนาจของศาลไทยออกไปนอกดินแดนได้ เช่นเดียวกับอำนาจศาลโลกก็มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ แต่ไม่ใช่ของเรื่องความยินยอมตามหลักกฎหมายทั่วไป แต่ของศาลโลกสามารถทำได้ เพราะตามคำแถลงในข้อ 36 ของธรรมนูญศาลโลก โดยไทยได้รับอำนาจของโลกไว้ถึง พ.ศ. 2502 แต่ไม่ได้ต่อสัญญา ขณะที่ประเทศกัมพูชาได้ฟ้องคดีเขาพระวิหารก่อนหน้านั้น ในครั้งที่ไทยยังอยู่ในสัญญากับศาลโลก ดังนั้นจึงสามารถตัดสินออกมาใน พ.ศ. 2505 แม้ภายหลังศาลโลกจะไม่ผูกพันกับไทยแล้วก็ตาม
นายวีรชัยกล่าวว่า กรณีที่กัมพูชาร้องต่อศาลโลกในปี 2554 จึงสามารถทำได้ประการเดียว คือ ตีความคำพิพากษาของศาลโลกในปี 2505 โดยเฉพาะคำตัดสินเท่านั้น อาทิ ปราสาทพระวิหารอยู่ในอธิปไตยกัมพูชา ไทยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่หรือไม่ และไม่มีอายุความมากำหนด เป็นไปตามอำนาจธรรมนูญของศาลโลกข้อ 60 และความเห็นดังกล่าวนี้ยังไม่มีนักกฎหมายคนใดเห็นค้าน ส่วนเรื่อง MOU ปี 2543 ที่ไทยทำไว้กับกัมพูชา ได้ยอมรับเอาไว้ว่าเรื่องเขตแดนไทยกัมพูชายังไม่มีข้อสิ้นสุด และขอยืนยันว่าคดีดังกล่าวนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ MOU ปี 2543 เพราะการตีความของศาลโลกนี้เป็นคดีเก่าในปี 2505 จึงไม่สามารถเอาเรื่องใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับคำพิพากษามาตัดสินได้
ด้านนายประสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องประสาทพระวิหารอยู่ในเขตอำนาจศาลโลกตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลกนั้น เป็นเขตอำนาจของข้อพิพาทคดีดังเดิม ซึ่งเป็นเขตอำนาจพิเศษ ไม่ต้องอาศัยความยินยอมจากฝ่ายไทย แม้จะผ่านไปแล้ว 50 ปีแล้วก็ตาม จึงเป็นอำนาจของกัมพูชาจะขอให้ศาลตีความคำพิพากษาดังกล่าว ส่วนศาลโลกจะพิจารณาหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็น เพราะอำนาจศาลโลกตีความได้เฉพาะบทปฏิบัติการ และจำกัดอยู่ในคดีดั้งเดิมที่มีการพิพากษาไปแล้วเท่านั้น
ส่วนท่าทีเรื่องกัมพูชาที่ให้พิจารณาเรื่องเขตแดนและแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนตารางกิโลเมตร ตนมองในแง่ดีว่าศาลโลกน่าจะไม่รับคำขอ เพราะตนเคยศึกษาความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษาในช่วงที่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในประเด็นที่กัมพูชาขอให้ทหารไทยออกจากพื้นที่ประสาทพระวิหาร ยกตัวอย่างความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษาชาวอเมริกัน ระบุชัดเจนว่า การตีความไม่ใช่เรื่องเขตแดน และเอาประเด็นดังกล่าวออกไป รวมทั้งความเห็นส่วนตนของประธานศาลโลก ที่ระบุว่าศาลโลกไม่สามารถมีอำนาจไปรุกล้ำอธิปไตยของ 2 ประเทศ และจำกัดเฉพาะเรื่องตัวปราสาทพระวิหาร รวมทั้งรองประธานศาลโลกชาวจีนก็เห็นสอดคล้องกับประธานศาลโลก
นายจตุรนต์กล่าวว่า มีคำถามข้องใจความยุติธรรมจากศาลโลกที่ไทยจะได้รับ หากมองในมุมของเราแต่ต้น ไทยเสียเปรียบอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของเจ้าอาณานิคมเป็นผู้กำหนด และแผนที่ทำขึ้นก็ไม่ตรงตามสนธิสัญญา และเป็นโทษต่อคนไทย อยู่ในสภาพเสียเปรียบ และคำพิพากษาออกมาเมื่อปี 2505 ไม่ได้เป็นคุณต่อเราอีก และสิ่งที่เป็นห่วงตามมา คือ การตีความของศาลโลกในปลายปี 2556 จะเพิ่มความเป็นคุณมากขึ้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่คนไทยเป็นห่วง
“เรามักจะพูดในเรื่องเจ๊งกับเจ๊า แต่มุมวิชาการเราไม่ต้องการให้คาดการณ์ทางลบเกินไป เพราะผมเชื่อว่าศาลโลกมีความกังวล เพราะหากตัดสินไม่ดีก็กระทบต่อศรัทธาต่อตัวเอง และเชื่อว่าศาลโลกคำนึงถึงสภาพการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะศักดิ์ศรีของประเทศ ที่กำลังจะเข้าร่วมมาเออีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) แต่หากศาลโลกกำลังทำให้แผลเป็นสมัยอาณานิคมติดหล่มอยู่ก็คงจะตระหนักในส่วนนี้ เพราะสิ่งสำคัญสุดคือเรื่องสันติภาพ” นายจตุรนต์ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลโลกไม่รับคำฟ้องของกัมพูชา พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรจะเป็นของใคร นายวีรชัยกล่าวว่า พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นของใหม่เกิดตอน พ.ศ. 2550 จนทำให้เกิดเป็นข้อพิพาท 6 ปีมานี้ ไม่ใช่ 50 ปี และหากศาลไม่รับปัญหานี้ก็ยังมีอยู่ สองประเทศจะต้องเจรจาตามกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่